×

จีนยกเครื่อง ครม. ครั้งใหญ่ รับมือความเสี่ยงทางการเงิน มุ่งพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีรับมือสหรัฐฯ

โดย THE STANDARD TEAM
10.03.2023
  • LOADING...

จีนประกาศยกเครื่องรัฐบาลครั้งใหญ่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการกำกับดูแลระบบการเงินของจีน และเป้าหมายในการส่งเสริมการพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยี ท่ามกลางสงครามเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น

 

การเปลี่ยนแปลงคณะมนตรีแห่งรัฐ (State Council) หรือคณะรัฐมนตรีของจีน ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี และเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่ สีจิ้นผิง ขึ้นครองอำนาจเมื่อปี 2013 โดยจะเปิดทางให้สีมีอำนาจควบคุมสถาบันของรัฐบาลได้มากขึ้น พร้อมทั้งสามารถแต่งตั้งคนที่ตนไว้วางใจให้เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในรัฐบาลได้มากขึ้น 

 

การควบคุมหน่วยงานหลักๆ ได้กระชับมากขึ้นนั้นจะเป็นประโยชน์ในการจัดการหน่วยงานเหล่านี้ให้สอดคล้องกับภารกิจที่สีให้ความสำคัญ ตั้งแต่การรักษาเสถียรภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ ไปจนถึงการจัดการความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นกับสหรัฐอเมริกา

 

“การเสนอเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันเหล่านี้สะท้อนสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายของจีนให้ความสำคัญในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า นั่นคือการปรับปรุงการกำกับดูแลทางการเงินให้สอดคล้อง เพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางการเงิน” นักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs กล่าว

 

คณะมนตรีแห่งรัฐ ซึ่งเป็นกลไกบริหารระดับสูงของรัฐบาล กำกับดูแล 26 กระทรวงและหน่วยงานบริหารระดับกระทรวงอีกหลายสิบแห่ง แม้ว่าการตัดสินใจสำคัญๆ จะทำโดยคณะกรรมการกรมการเมือง หรือ Politburo ของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่คณะมนตรีแห่งรัฐก็สามารถใช้อำนาจในระดับหนึ่งเพื่อดำเนินนโยบายเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ปักกิ่งยังวางแผนลดจำนวนตำแหน่งงานราชการ หรือที่เรียกกันว่า ‘Iron Rice Bowl’ ซึ่งเป็นคำเปรียบเปรยตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นอาชีพมั่นคง โดยจะลดจำนวนข้าราชการในรัฐบาลกลางลง 5% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า 

 

CNN ระบุว่า หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่ประกาศในที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 มีนาคม) คือการตั้งหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินที่ทรงอิทธิพลขึ้นมาใหม่ ได้แก่ National Financial Regulatory Administration (NFRA) ซึ่งจะเข้ามาแทน China Banking and Insurance Regulatory Commission (CBIRC) ที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกัน

 

โดย NFRA จะบริหารจัดการบริษัทโฮลดิ้งการเงินรายใหญ่ของประเทศโดยตรง เช่น Ant Group บริษัทฟินเทคยักษ์ใหญ่ ซึ่งงานนี้เคยเป็นความรับผิดชอบของธนาคารกลางจีนมาก่อน นอกจากนี้ NFRA ยังจะรับผิดชอบด้านการคุ้มครองผู้บริโภคทางการเงินและการคุ้มครองนักลงทุนด้วย

 

เคน เฉิง หัวหน้านักกลยุทธ์การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในเอเชียของ Mizuho Bank กล่าวว่า นักวิเคราะห์บางคนมองว่าความเคลื่อนไหวของปักกิ่ง ซึ่งตอกย้ำการควบคุมเศรษฐกิจของรัฐอย่างชัดเจนนั้น อาจทำให้นักลงทุนหวาดกลัว 

 

“ความเชื่อมั่นอาจแย่ลง เนื่องจากนักลงทุนระมัดระวังว่าจะมีการคุมเข้มกฎระเบียบเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในภาคเทคโนโลยี ตลาดที่อยู่อาศัย และธุรกิจกวดวิชาภาคเอกชนมาแล้ว” เขากล่าว “ดูเหมือนว่าการต่อสู้กับการคุมเข้มกฎระเบียบยังไม่จบ”

 

แต่เดิมระบบการเงินของจีนอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลร่วมกันโดยธนาคารกลางจีน, CBIRC และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของจีน (CSRC) อย่างไรก็ดี ต่อจากนี้หน่วยงานใหม่อย่าง NFRA จะกำกับดูแลภาคการเงินทั้งหมด ยกเว้นอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ ซึ่งจะยังคงอยู่ภายใต้ CSRC

 

การตั้งหน่วยงานกำกับดูแลใหม่นี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงในระบบการเงินได้ดีขึ้น และเสริมสร้างการกำกับดูแล “สถาบัน พฤติกรรม และการทำหน้าที่” ข้อเสนอของรัฐบาลระบุ 

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินของจีนกำลังเพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางภาวะตกต่ำของตลาดที่อยู่อาศัยและการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

 

ในการยกเครื่องครั้งนี้ CSRC จะได้รับการยกระดับจาก ‘สถาบันของรัฐ’ เป็น ‘สถาบันของรัฐบาล’ พร้อมได้รับมอบหมายความรับผิดชอบเพิ่มคือการตรวจสอบและอนุมัติการออกหุ้นกู้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC)  

 

ความเคลื่อนไหวนี้แสดงให้เห็นว่า ปักกิ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดตราสารทุนมากขึ้นและผลักดันการจัดหาเงินทุนโดยตรงมากขึ้น เพื่อจัดสรรเงินทุนได้ดีขึ้นและช่วยชะลอการสร้างหนี้” Goldman Sach วิเคราะห์

 

นอกจากการเปลี่ยนแปลงในภาคการเงินแล้ว การปรับ ครม. ครั้งนี้ยังครอบคลุมความพยายามในการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรมของจีน เพื่อตอบโต้ข้อจำกัดที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐอเมริกาในการขายเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับจีน

 

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะถูกปรับโครงสร้างและปรับปรุง โดยจะได้รับมอบหมายให้พัฒนาระบบนวัตกรรมระดับชาติทั้งหมด ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การวิจัยขั้นพื้นฐานและการใช้เทคโนโลยีกับอุตสาหกรรมที่มีอยู่ให้มากขึ้น

 

“ด้วยการเผชิญกับสถานการณ์การแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างประเทศที่ดุเดือด รวมทั้งการกีดกันและปราบปรามจากภายนอก เราจึงต้องประสานกำลังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ดีขึ้น เพื่อเอาชนะความยากลำบากในเทคโนโลยีหลักที่สำคัญ และบรรลุการพึ่งพาตนเองในเทคโนโลยีขั้นสูงได้อย่างรวดเร็ว” ข้อเสนอของรัฐบาลระบุ

 

นอกจากนี้จีนจะจัดตั้งหน่วยงานใหม่ เพื่อดูแลข้อมูลจำนวนมหาศาล สำนักงานข้อมูลแห่งชาติจะมีหน้าที่ในการร่างกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลและประสานงานด้านการแบ่งปันและการใช้ข้อมูล

 

นักวิเคราะห์ Citi กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวล่าสุดสะท้อนว่า การควบคุมกฎระเบียบกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ หรือ Big Tech ในช่วงก่อนหน้านี้อาจสิ้นสุดลงแล้ว แต่กฎระเบียบของอุตสาหกรรมจะถูกทำให้เป็นมาตรฐานมากขึ้น 

 

ทั้งนี้ จีนเริ่มการปราบปรามด้านกฎระเบียบต่ออุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตของประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020-2022 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้บริษัทเทคโนโลยีที่ทรงอิทธิพลเป็นไปในแนวทางเดียวกับยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ 

 

ภาพ: Kevin Frayer / Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising