×

จีนสร้างแม่เหล็กตัวต้านทาน แรงกว่าสนามแม่เหล็กโลกกว่า 800,000 เท่า

โดย Mr.Vop
27.09.2024
  • LOADING...
แม่เหล็กตัวต้านทาน

ทีมนักวิทยาศาสตร์จีนจากสถาบันวิทยาศาสตร์กายภาพเหอเฝย พัฒนา​แม่เหล็กตัวต้านทานจนมีสนามแม่เหล็กคงที่ที่ 42.02T (เทสลา)​ ทำลายสถิติ​โลกเดิมของห้องวิจัย National MagLab ในสหรัฐ​ฯ ที่ทำไว้ 41.4T ในปี 2017 ได้สำเร็จ​

 

และหากนำไปเทียบกับขนาดสนามแม่เหล็ก​โลกที่วัดค่าได้บริเวณ​กรุงลอนดอน​ซึ่งอยู่ที่ 50µT (ไมโครเทสลา) ถือว่าแม่เหล็กตัวต้านทานของจีนมีความเข้มสูงกว่า 800,000 เท่าเลยทีเดียว

 

ผลงานครั้งนี้เกิดจากความพยายามเกือบ 4 ปีของทีมงานวิจัยในสถาบัน ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลอานฮุยทางตะวันออกของจีน ซึ่งศาสตราจารย์กวงกวางลี่ ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการสนามแม่เหล็กสูง สถาบันวิทยาศาสตร์จีน (CHMFL) กล่าวถึงความสำเร็จครั้งนี้ว่า “ความก้าวหน้าของงานวิจัยนี้ ทำให้เราสามารถตอบสนองผู้ใช้งานสนามแม่เหล็กแรงสูงได้ทันต่อความต้องการ ผลงานนี้ผ่านการควบคุมประสิทธิภาพจนมีความเสถียรเพียงพอจะมอบสภาวะการทดลองที่ทรงพลังให้กับนักวิทยาศาสตร์ และถือเป็นการวางรากฐานด้านเทคโนโลยีที่สำคัญสำหรับการสร้างแม่เหล็กคงที่ชนิดความเข้มสูงของจีน” 

 

เราเอาสนามแม่เหล็กแรงสูงไปใช้ทำอะไร

 

ประโยชน์ของสนามแม่เหล็กคงที่ความเข้มสูงนั้นมีมากมายหลายด้าน ทั้งทางฟิสิกส์และเทคโนโลยี เช่น ใช้ในการพัฒนาวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ชนิดใหม่ๆ การประยุกต์ใช้ของการนำยิ่งยวดที่อุณหภูมิห้อง หรือผลิตวัสดุเซมิคอนดักเตอร์ประสิทธิภาพสูง หรือนำไปใช้ด้านการค้นคว้าทางชีววิทยา และด้านการแพทย์ เช่น ศึกษาพยาธิวิทยาของโรคสำคัญต่างๆ อย่างการพัฒนาตัวยาสำหรับการบำบัดมะเร็งแบบกำหนดเป้าหมาย โรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น แต่ถ้าจะยกตัวอย่างด้านการแพทย์ที่ค่อนข้างชัดเจนที่สุดก็คงหลีกเลี่ยงไม่พูดถึง MRI ไม่ได้

 

Magnetic Resonance Imaging หรือ MRI เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีประโยชน์อย่างมากในปัจจุบัน เป็นเหมือนตาวิเศษที่ทำให้แพทย์สามารถมองเห็นภาพของสมอง กล้ามเนื้อ เส้นเลือด เส้นประสาท เนื้อเยื่อ และอวัยวะภายในของผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องผ่าตัดเข้าไปดู ช่วยให้สามารถวินิจฉัยและวางแผนรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดความผิดพลาดลง

 

เพื่อให้เกิดภาพ สนามแม่เหล็กแรงสูงของเครื่อง MRI จะเข้าไปเปลี่ยนทิศการสปิน (Spin) ของอะตอมไฮโดรเจนในตัวผู้ป่วยให้เรียงตัวไปในทิศทางเดียวกัน จนเมื่อเราป้อนคลื่นวิทยุเข้าไป โปรตอนที่เรียงตัวกันแล้วก็จะเกิดเรโซแนนซ์กับความถี่ แล้วคายคลื่นวิทยุกลับออกมาให้อุปกรณ์รับคลื่นนำไปตีความเป็นภาพให้แพทย์ได้เห็น จากนั้นโปรตอนก็จะกลับสู่สภาพเดิมเมื่อผู้ป่วยออกจากเครื่อง MRI

 

ภาพของสมองที่ถูกสแกนด้วยแม่เหล็กขนาด 3T (ซ้าย) กับภาพของสมองที่ถูกสแกนด้วยแม่เหล็กขนาด 9.4T (ขวา)

(ภาพ: Rolf Pohmann/Max-Planck-Institute for Biological Cybernetics)

 

ความเข้มของสนามแม่เหล็กในเครื่อง MRI ที่แตกต่างกัน จะทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนแตกต่างกันไปด้วย ยกตัวอย่างภาพสมองในบทความนี้ แม่เหล็กความเข้ม 3T จะให้ภาพที่ระดับความละเอียด 1.5 มิลลิเมตร แต่หากเพิ่มความเข้มของสนามแม่เหล็กขึ้นเป็น 9.4T ภาพที่ได้ก็จะละเอียดขึ้นเป็น 0.5 มิลลิเมตร 

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากต้องระมัดระวัง​เรื่องผลข้างเคียงที่อาจจะ​เกิดกับผู้ป่วย​ ในปัจจุบันการใช้ MRI ที่มีสนามแม่เหล็กสูงกว่า 11.7T ยังไม่เกิดขึ้นจริงในโลกการแพทย์ แม้เคยมีการทดลองใช้ความเข้มระดับ 21.1T กับหนู และหนูนั้นปลอดภัยดีทุกประการก็ตาม 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X