×
SCB Omnibus Fund 2024

จีนสั่งล็อกดาวน์ ‘เจิ้งโจว’! หลังเกิดเหตุประท้วงรุนแรง ด้าน ‘ฟ็อกซ์คอนน์’ เสนอเงิน 10,000 หยวนให้พนักงานใหม่ลาออก

24.11.2022
  • LOADING...
ฟ็อกซ์คอนน์

จีนสั่งล็อกดาวน์ ‘เจิ้งโจว’ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิต iPhone แห่งใหญ่ที่สุดของ Apple แล้วถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด ด้านฟ็อกซ์คอนน์ได้เสนอเงิน 10,000 หยวน แก่พนักงานใหม่ เพื่อออกจากแคมปัสทันที หลังเกิดเหตุประท้วงรุนแรงจนทำให้โรงงานผลิต iPhone สั่นคลอน

 

ทางการจีนประกาศใช้ ‘มาตรการควบคุมการเคลื่อนที่’ ซึ่งบางฝ่ายมองว่า เป็นคำสละสลวยสำหรับมาตรการล็อกดาวน์ในเขตเมืองหลักของเจิ้งโจว ตั้งแต่วันศุกร์นี้ (25 พฤศจิกายน) จนถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


มาตรการจำกัดพื้นที่การเดินทางใหม่นี้ ประกาศหลังจากคนงานหลายร้อยคนในโรงงานของฟ็อกซ์คอนน์แห่ออกจากหอพักเมื่อช่วงเช้าวันพุธ และปะทะกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เนื่องจากโกรธแค้นที่ไม่ได้รับค่าจ้าง บวกกับความกังวลต่อการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด

 

ตามคำสั่งของรัฐบาลเจิ้งโจวในคืนวันพุธ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่กำหนดว่ามีความเสี่ยงสูงต้องอยู่แต่ในบ้าน ขณะที่คนอื่นๆ ได้รับคำแนะนำไม่ให้ออกจากที่อยู่อาศัยหรือบริเวณบ้าน เว้นแต่จะมีความจำเป็น และจะมีการทดสอบ PCR ทุกวัน

 

แม้เขตที่ตั้งโรงงานฟ็อกซ์คอนน์ไม่รวมอยู่ใน 8 เขตที่ต้องปิดตัวลง ตามคำแถลงของรัฐบาล แต่โรงงานแห่งนี้ก็อยู่ในพื้นที่ที่จัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว ซึ่งหมายความว่ายังคงมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวคล้ายการล็อกดาวน์ 

 

อย่างไรก็ตาม ฟ็อกซ์คอนน์ได้ใช้มาตรการวงจรปิด (Closed Loop) มาระยะหนึ่งแล้ว ภายใต้มาตรการนี้คนงานจะถูกจำกัดให้อยู่แต่ในหอพักและสายการผลิตอย่างเคร่งครัด โดยไม่มีการติดต่อกับภายนอก ระบบดังกล่าวช่วยให้โรงงานสามารถรักษาการผลิตได้ท่ามกลางการล็อกดาวน์ อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดดังกล่าวได้นำไปสู่ความไม่สงบทั้งในเจิ้งโจวและพื้นที่อื่นๆ

 

‘ฟ็อกซ์คอนน์’ เสนอเงิน 10,000 หยวนให้พนักงานใหม่ลาออก

ขณะที่โรงงานผลิต iPhone แห่งใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งดำเนินการโดยฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) ในเมืองเจิ้งโจว ก็สัญญาว่าจะจ่ายเงิน 10,000 หยวน (หรือราว 50,364 บาท) แก่พนักงานใหม่ เพื่อออกจากแคมปัสทันที หลังเกิดเหตุประท้วงรุนแรงจนทำให้โรงงานผลิต iPhone แห่งใหญ่ที่สุดในโลกสั่นคลอน

 

โดยฟ็อกซ์คอนน์ ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านการผลิตรายใหญ่ของ Apple กล่าวในประกาศออนไลน์ว่า พนักงานที่เพิ่งได้รับการว่าจ้างจะได้รับเงิน 8,000 หยวนทันทีหากลาออก และจะได้รับเงินอีก 2,000 หยวน เมื่อขึ้นรถบัสออกจากโรงงาน 

 

ตามประกาศ ฟ็อกซ์คอนน์ระบุว่า “บริษัทเข้าใจว่าพนักงานบางคนยังคงกังวลเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา และต้องการลาออกและกลับบ้าน โดยแพ็กเกจ 10,000 หยวนนี้ ได้ครอบคลุมเงินเดือน ค่าเผื่อการกักตัว และสิ่งของเบ็ดเตล็ดแล้ว”

 

ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งนับสูงกว่าค่าจ้างรายเดือนของพนักงานทั่วไป ถูกมองว่าจัดสรรเพื่อแก้ปัญหาสำหรับพนักงานที่เข้าร่วมการประท้วงรุนแรงตั้งแต่ช่วงดึกของคืนวันอังคาร (22 พฤศจิกายน)

 

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า เกิดเหตุคนงานหลายร้อยคนปะทะกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เนื่องจากความตึงเครียดที่ปะทุขึ้น ท่ามกลางการบังคับใช้ข้อจำกัดที่เข้มงวด ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด โดยการประท้วงครั้งนี้เริ่มขึ้นเนื่องจากคนงานหลายคนไม่ได้รับค่าจ้าง และกังวลเกี่ยวกับการระบาดของเชื้อโควิด

 

ก่อนหน้านี้ ฟ็อกซ์คอนน์เคยเปิดเผยว่า พนักงานใหม่บางคนที่เจิ้งโจวกำลังร้องเรียนเกี่ยวกับเบี้ยเลี้ยง นอกจากนี้ สื่อต่างประเทศยังรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวภายในว่า มีพนักงานบางคนไม่พอใจ หลังบริษัทขอให้พวกเขาแชร์หอพักกับเพื่อนร่วมงานที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด 

 

อย่างไรก็ตาม ฟ็อกซ์คอนน์ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ และกล่าวว่าหอพักทั้งหมดได้รับการฆ่าเชื้อก่อนที่พนักงานใหม่จะย้ายเข้ามา

 

การประท้วงครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่จีนต้องเผชิญระหว่างการรักษากลยุทธ์โควิดเป็นศูนย์ ขณะที่บริษัทยังคงต้องรักษาระดับการผลิตตามปกติ 

 

ฟ็อกซ์คอนน์ได้ใช้นโยบายการผลิตแบบวงปิด (Closed-Loop Production Mode) ตั้งแต่เดือนที่แล้ว หลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด โดยคนงานหลายหมื่นคนได้เร่งออกจากพื้นที่ เนื่องจากการปิดเมืองและความกลัวการติดเชื้อ ส่งผลให้บริษัทขาดแคลนพนักงาน ทำให้ Apple ออกคำเตือนเมื่อต้นเดือนนี้ เกี่ยวกับการจัดส่ง iPhone 14 Pro และ 14 Pro Max ที่คาดว่าจะล่าช้า

 

อย่างไรก็ตาม ฟ็อกซ์คอนน์ระบุในแถลงการณ์ว่า โรงงานได้กลับมาดำเนินการตามปกติแล้วในเย็นวันพุธ แต่การประท้วงยังเป็นการเน้นย้ำว่านโยบายของสีจิ้นผิง ซึ่งอาศัยการล็อกดาวน์อย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมการระบาด ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดก็ตาม กำลังถ่วงเศรษฐกิจมากขึ้นและทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกต้องระส่ำระสาย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising