จีนเตรียมสร้างประวัติศาสตร์ในวงการดาราศาสตร์ ด้วยการปล่อยยานอวกาศฉางเอ๋อ 4 ออกไปสำรวจด้านไกลของดวงจันทร์ หรือ Far side of the moon ในช่วงวันเสาร์ที่ 8 ธันวาคมที่จะถึงนี้ เพื่อให้นักบินส่งสัญญาณวิทยุกลับมายังโลกเป็นครั้งแรกจากบริเวณดังกล่าว และตรวจตราพื้นที่ในละแวกนั้นเพื่อดูว่าจะสามารถปลูกพืชพรรณในสภาพแวดล้อมที่มีแรงโน้มถ้วงต่ำบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้หรือไม่
สาเหตุที่การเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ของฉางเอ๋อ 4 เป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์สำคัญของวงการดาราศาสตร์ เนื่องจากเว็บไซต์ Scientific American ระบุว่า ยังไม่เคยมียานอวกาศลำใดย่างกรายไปในบริเวณดังกล่าวมาก่อน โดยฉางเอ๋อ 4 มีกำหนดการจะถูกปล่อยออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชาง ในเมืองซีชาง มณฑลเสฉวนในวันเสาร์นี้
ด้าน แคร์โรลิน ฟาน เดอร์ โบเกอร์ นักธรณีวิทยาที่ศึกษาพฤติกรรม วิวัฒนาการของโลกและดาวเคราะห์ ประจำมหาวิทยาลัย Westfälische Wilhelms ในมึนสเตอร์ ประเทศเยอรมนี เชื่อว่า ภารกิจในครั้งนี้จะเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการสำรวจดวงจันทร์ของมวลมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ของหน่วยงานอวกาศประเทศจีน (China National Space Administration) ที่ต้องการจะสร้างฐานการสำรวจของมนุษย์บนดวงจันทร์ในอนาคต
ทั้งนี้เชื่อกันว่า การปฏิบัติภารกิจของฉางเอ๋อในครั้งนี้ นักบินอวกาศจะนำมันฝรั่งและพืชอย่างอะราบิดอฟซิส (Arabidopsis) ที่นิยมใช้ในการศึกษาระดับพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล ไปใช้ในการทดลองปลูกบนพื้นผิวของดวงจันทร์ด้วย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: