วันนี้ (23 กรกฎาคม) จีนได้ปล่อยยานสำรวจดาวอังคารในภารกิจแรกของประเทศ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการโคจร ลงจอด และเคลื่อนที่สำรวจพื้นผิวในภารกิจเดียว และเก็บข้อมูลการสำรวจทางวิทยาศาสตร์จากดาวเคราะห์ในระบบสุริยะดวงนี้
จรวดลองมาร์ช-5 (Long March-5) ซึ่งเป็นยานพาหนะขนส่งขนาดใหญ่ที่สุดของจีน ได้บรรทุกยานอวกาศที่มีมวล 5 ตันทะยานสู่ท้องฟ้าจากฐานปล่อยยานอวกาศเหวินชาง ริมชายฝั่งของมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) มณฑลเกาะทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อเวลา 12.41 น. ตามเวลาปักกิ่ง
องค์การอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) รายงานว่าราว 36 นาทีต่อมา ยานอวกาศซึ่งประกอบด้วยยานโคจรและยานสำรวจถูกส่งเข้าวงโคจรขนย้าย (Transfer Orbit) ระหว่างโลก-ดาวอังคาร นับเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางยาวนาน 7 เดือนสู่ดาวอังคาร หรือเคราะห์สีแดงดวงนี้
ภารกิจสำรวจดาวอังคารภารกิจแรกของจีนนี้ใช้ชื่อว่า ‘เทียนเวิ่น-1’ (Tianwen-1) มีความหมายว่า ‘คำถามสู่สรวงสวรรค์’ ตั้งตามกวีนิพนธ์ซึ่งประพันธ์โดย ชวีหยวน (ราว 340-278 ปีก่อนคริสตกาล) หนึ่งในกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคจีนโบราณ โดยองค์การอวกาศแห่งชาติจีนระบุว่าชื่อนี้แสดงถึงความมุมานะของจีนในการแสวงหาความจริงและวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการสำรวจธรรมชาติและจักรวาล
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์