×

กูรูมอง ‘จีน’ หมากสำคัญในการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครน ชี้ ‘สีจิ้นผิง’ รอเวลาเหมาะสมเพื่อเดินกลยุทธ์รักษาดุลยภาพ

16.03.2022
  • LOADING...
China

นักวิชาการอิสระเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศมองว่า จีนเป็นประเทศที่เหมาะกับการเป็นตัวกลางจับคู่เจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครนมากที่สุด และเชื่อว่า ‘สีจิ้นผิง’ กำลังรอเวลาที่เหมาะสม เหตุจีนต้องการรักษาดุลยภาพที่เหมาะสม เพื่อสร้างมูลค่าด้านการค้าโลกให้เพิ่มมากขึ้นหลังจบสงคราม ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนประเมินว่า แรงกดดันต่อตลาดทุนยังอยู่ที่นโยบายการทางการเงินของ Fed พร้อมแนะกระจายลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย รับอานิสงส์เงินต่างชาติไหลเข้า 

 

รายการ WEALTH IN DEPTH หัวข้อเสวนา ‘คว่ำบาตรรัสเซีย ส่อลามจีน ถกกลศึก เกมการค้าโลก สะเทือนตลาดหุ้นอย่างไร?’ ซึ่งมี รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ และ ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน สายพัฒนาธุรกิจ บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) มาร่วมพูดคุยนั้น มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ประเทศจีนจะมีบทบาทสำคัญในฐานะตัวกลางจับคู่เจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่อาจต้องรอให้เกิดเงื่อนเวลาที่เหมาะสมกว่านี้ 

 

ประเมินรัสเซียอยากเจรจามากขึ้นหลังสงครามยืดเยื้อ 

รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันนั้น ทางยุโรปและ NATO ให้ความช่วยเหลือทางด้านอาวุธแก่ยูเครนเพื่อให้สามารถต่อสู้กับรัสเซียได้ โดยล่าสุดมีการอนุมัติเงินให้ 1 พันล้านดอลลาร์มาซื้ออาวุธ ขณะที่ทางสหรัฐฯ เองก็ให้เงินช่วยเหลือยูเครน 6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งความเคลื่อนไหวข้างต้นทำให้รัสเซียต้องการความช่วยเหลือและขอความช่วยเหลือจากจีน

 

อย่างไรก็ตาม จุดยืนของจีนจากนี้ไปค่อนข้างแคบ โดยก่อนหน้านี้จีนอ้างว่ามีจุดยืนเป็นกลาง แต่ NATO กลับปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าว และระบุว่าหากจีนให้ความช่วยเหลือรัสเซียก็จะถูกแซงก์ชันไปด้วย ขณะเดียวกันจีนก็ต้องพยายามรักษาสัมพันธ์กับรัสเซีย หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยประกาศให้ความร่วมมืออย่างไม่มีข้อจำกัด 

 

“จีนอยู่ในสถานะที่ลำบาก ด้านหนึ่งก็อยากให้รัสเซียชนะ เพื่อให้รู้สึกว่าภัยคุกคามจากสหรัฐฯ ถูกแทนที่ไปแล้ว แต่ก็ไม่อยากให้รัสเซียแพ้ เพราะตอนนี้จีนถูกต่างชาติทิ้งห่างพอควร ถ้าสถานการณ์นี้นำไปสู่การเจรจาจะเป็นประโยชน์กับจีน” รศ.ดร.สมชายกล่าว 

 

หากยกสมการวิน-วิน คือ รัสเซียต้องการชนะในสงครามครั้งนี้แบบที่ประชาชนรับได้ จีนก็เป็นประเทศเดียวที่จะช่วยลดภาระของรัสเซียได้ ในสมการนี้จีนจะต้องทำตามข้อตกลงที่ทำไว้กับรัสเซีย เท่ากับต้องให้ความช่วยเหลือระดับหนึ่งในด้านอาวุธ และช่วยเหลือทางด้านการค้า 

 

อย่างไรก็ตาม หากจีนดำเนินการตามสมการนี้ จีนจะโดนแซงก์ชันเพิ่มเติมจากยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งกรณีนี้สีจิ้นผิงก็ต้องชั่งน้ำหนักอย่างยากลำบาก เพราะสหรัฐฯ และยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญ และหากถูกแซงก์ชัน ภาคธุรกิจของจีนอาจได้รับผลกระทบไปด้วย รวมถึงมีผลกระทบต่อ GDP ที่วางป้าหมายไว้ที่ 5.5% ซึ่งต่ำสุดรอบหลายปี ขณะเดียวกันจีนยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศ เช่น ปัญหาของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ และหนี้สาธารณะที่สูงถึง 300% 

 

มองจีนเหมาะสมสุดฐานะตัวกลางเจรจา 

รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า ถ้าประเทศจีนเดินอยู่บนดุลยภาพของความพอดีได้ คือ ไม่ทำให้รัสเซียรู้สึกแปลกแยก และทำให้พันธมิตรชาติตะวันตกพอใจ ก็สามารถทำได้ระดับหนึ่ง แต่ด้วยเงื่อนเวลาในขณะนี้ประเมินว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะนัก เพราะตอนนี้รัสเซียยังรู้สึกว่ามีอำนาจเจรจาต่อรองอยู่ แต่ถ้าสถานการณ์ไปถึงจุดหนึ่งที่จีนสามารถกู้หน้าให้รัสเซียได้ จีนจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น 

 

ขณะเดียวกันจีนก็ได้ให้ความช่วยเหลือรัสเซียมาโดยตลอดในเรื่องการค้าด้วยสกุลเงินหยวน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับเงินหยวน แต่มีขอบเขตที่ค่อนข้างจำกัด โดยหากพิจารณาจากเงินสำรองของรัสเซียที่ระดับ 6.3 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งมีสัดส่วนเงินหยวนเพียง 10% เท่านั้น นอกจากนี้มูลค่าเงินหยวนบนเวที IMF ค่อนข้างต่ำ 

 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจีนจะพัฒนาศักยภาพของเงินหยวนได้ในอนาคตด้วยการเปิดประเทศเต็มที่มากกว่าปัจจุบัน เพื่อดึงให้เกิดการใช้จ่ายด้วยเงินหยวนในมูลค่าที่มากขึ้น แต่จีนอาจต้องเผชิญปัญหาในพัฒนาศักยภาพของเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากหนึ่งในคุณสมบัติของเงินตราที่เป็นที่นิยมคือ ต้องเป็นสกุลเงินของประเทศประชาธิปไตย 

 

มองภูมิทัศน์โลกหลังสงคราม แบ่งเป็น 3 ขั้ว  

รศ.ดร.สมชาย กล่าวเพิ่มว่า หลังผ่านสถานการณ์นี้ไปภูมิทัศน์โลกจะเปลี่ยนไป โดยโลกจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ขั้ว ประกอบด้วยสหรัฐฯ จีน และรัสเซีย โดยรัสเซียนั้นแม้เศรษฐกิจจะอ่อนแอลง แต่ยังครองความเป็นมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์อยู่เช่นเดิม และจะแยกตัวเป็นเอกเทศมากขึ้น รวมถึงออกห่างจากจีน 

 

และผลจากโลกมีขั้วอำนาจ 3 ขั้ว จะทำให้ NATO ต้องสร้างพลังที่แข็งแกร่ง พัฒนาอาวุธยุโธปกรณ์ ขณะที่ยุโรปจะเป็น Strategic Autonomy กับ NATO โดยยุโรปจะพัฒนากองกำลังอาวุธของตัวเองเพื่อสร้างอำนาจต่อรองต่อสหรัฐฯ มากขึ้น รวมถึงจะพัฒนาด้านการค้ากับจีนมากขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดจากโครงการก่อนหน้านี้ คือ การพัฒนา Global Gateway ที่เป็นการร่วมทุนกับประเทศต่างๆ เพื่อสร้างรถไฟ ท่าเรือ โลจิสติกส์ โดยรวมแล้วยุโปรกำลังจะเปลี่ยนแปลง คือ จะมีเอกลักษณ์ที่เป็นมหาอำนาจมากขึ้น

 

“โลกกำลังจะเปลี่ยนจากสงครามเย็นเป็น 2-3 ขั้ว ที่บางส่วนจะมี Decoupling” รศ.ดร.สมชายกล่าว 

 

ภูมิทัศน์ด้านพลังงานจะเปลี่ยนไป  

เขากล่าวว่า หลังผ่านสถานการณ์นี้ภูมิทัศน์พลังงานจะเปลี่ยนไป เนื่องจากเดิมนั้นยุโรปไม่เคยคิดว่ารัสเซียจะใช้เรื่องนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แต่ก็เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ดังนั้นแล้วหลังจากนี้จะเกิดการปรับโครงสร้าง (Restructure) แหล่งที่มาของการซื้อพลังงาน และจะเกิดการ Restructure แหล่งพลังงานด้วย อันนำมาสู่การใช้พลังงานทางเลือก (Alternative Energy) มากขึ้น ขนานไปกับนโยบายลดโลกร้อน ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล 

 

รศ.ดร.สมชาย ทิ้งท้ายว่า จากนี้ไปต้องติดตามข่าวสารให้เยอะมาก เนื่องจากในยุคปัจจุบันที่มีข้อมูลข่าวสารจำนวนมากนั้นก็มีข่าวสารผิดๆ มากเช่นกัน และในมิติของการตั้งรับปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็ควรตั้งสติและทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ก่อน โดยปัจจุบันแม้ว่าเศรฐกิจโลกกำลังเผชิญปัญหา แต่ก็ยังเติบโตอยู่ แต่การเติบโตจะไม่สูง เพราะมีเงินเฟ้อเป็นปัจจัยกดดัน

 

“ถ้าตั้งสติได้ก็รับมือได้ เพราะโลกยังไม่ได้เกิดหายนะ แต่ก็มีความไม่แน่นอนเต็มไปหมด จากนี้ไปภูมิรัฐศาสตร์จะมีการเปลี่ยนแปลงอีกมาก อีกทั้งยังมีเรื่องของโลกร้อนอีก เพราะฉะนั้นต้องบริหารภายใต้ความไม่แน่นอนซึ่งมีหลายมิติให้ดี” 

 

นโยบาย Fed ยังควบคุมตลาดการลงทุนทั่วโลก 

ดร.จิติพล กล่าวว่า การดำเนินนโยบายทางการเงินของ Fed ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางการลงทุนทั่วโลก ส่วนสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงบทบาทของจีน มีผลต่อการตัดสินในเชิงนโยบายน้อยมาก โดยคณะกรรมการ Fed พูดไปทางเดียวกันว่า สงครามไม่ใช่ปัญหาของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจสหรัฐฯ เว้นแต่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นสูง 

 

และอัตราการจ้างงานที่มีแนวโน้มที่จะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งจะมีผลต่อเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงประเมินว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแน่นอนในการประชุมรอบนี้

 

“ตอนนี้อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ อยู่ที่ 3.7-3.8% ของแรงงานสหรัฐฯ ถ้าอัตราว่างงานลดลงอีก 0.5% หรือมีการจ้างงานเพิ่ม 2 แสนคนต่อเดือนตั้งแต่ตอนนี้ถึงสิ้นปี จะทำให้สหรัฐฯ มีอัตราจ้างงานสูงสุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งจะทำให้ Fed กังวลกับเงินเฟ้อมากขึ้น”

 

ตลาดหุ้นจีนเสี่ยงรับแรงกดดันหลายด้าน 

ดร.จิติพล กล่าวว่า เมื่อ Fed เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และเริ่มถอนสภาพคล่องออกจากระบบ หุ้นเทคโนโลยีจะได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทั้งหุ้นเทคฯ จีนและสหรัฐฯ 

 

นอกจากนี้หุ้นจีนยังได้รับผลกระทบจากภัยสงครามเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศอาจมองจีนใกล้เคียงกับที่มองรัสเซีย และไม่กลับเข้าไปลงทุนอีก ทำให้เม็ดเงินต่างชาติไม่ไหลเข้าไป อีกทั้งเม็ดเงินลงทุนในประเทศก็เบาบาง เพราะจีนมีปัญหาเชิงกฎระเบียบภายในต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้ตลาดหุ้นจีนมีความไม่แน่นอนสูง นักลงทุนทั่วไปในประเทศจึงไม่กล้าลงทุน 

 

รวมถึงนโยบายควบคุมโควิด (Zero-COVID) ของจีนที่มีวงจรต่างจากประเทศอื่นทั่วโลก ทำให้จีนมีความยากลำบากในการฟื้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 

 

“แม้ Valuation ไม่แพง แต่แนวโน้มการเติบโตยังไม่ชัดเจน และยังมีความไม่แน่ชัดเกี่ยวกับผลกระทบจากรัสเซียและยูเครนด้วย ทำให้ตลาดหุ้นจีนยังไม่น่าสนใจในตอนนี้” ดร.จิติพลกล่าว 

 

ทั้งนี้ ชื่นชอบตลาดหุ้นในเอเชียมากกว่า เช่น ญี่ปุ่น และเอเชียเหนืออื่นๆ ขณะที่อาเซียนและลาตินอเมริกาก็มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะนักลงทุนพยายามเกลี่ยสัดส่วนลงทุนมาทางตลาดหุ้นแถบนี้แทนที่รัสเซีย และแม้การเติบโตระยะยาวจะไม่เท่ากับจีน แต่ระยะสั้นถือว่าน่าสนใจ และมีความเสี่ยงไม่สูงเท่าประเทศอื่นๆ 

 

สำหรับตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ประเมินว่าราคาน้ำมันจะไม่ปรับตัวสูงขึ้นกว่านี้ เนื่องจากน้ำมันเป็นสินค้าที่ถูกบริโภคประจำวัน การปรับขึ้นสูงมากทำให้ต้นทุนธุรกิจและต้นทุนใช้จ่ายประจำวันสูงขึ้น ส่วนทองคำนั้น หากเงินเฟ้อยังสูง ฐานราคาทองคำจะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นมาเอง สำหรับคนที่ไม่มีก็มีติดพอร์ตไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงหากสงครามลากยาว 

 

“แต่ต้องพึงระวังว่าสินทรัพย์โภคภัณฑ์มีวัฏจักรของมัน ตามกลยุทธ์แล้วควรซื้อตอนราคาลง ไม่ซื้อตอนขึ้น เพราะท้ายสุดแล้วราคาจะปรับลงตามวัฏจักร” ดร.จิติพลกล่าว 

 

หวั่น ‘หุ้นไทย’ ความเสี่ยงเพิ่มหากเดินเกมพลาด 

ดร.จิติพลกล่าวถึงผลกระทบจากภาวะสงครามต่อตลาดหุ้นไทยว่า ในยุคนี้สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือการเลือกข้าง และเราไม่สามารถไม่เลือกข้างได้ สำหรับประเทศไทย ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากนี้ไปคือความร่วมมือระหว่างประเทศและการค้าขายระหว่างประเทศจะยากขึ้น ทำให้มีแนวโน้มไม่สดใส เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างมาก 

 

“เมื่อไรที่คู่ค้าปรับโครงสร้างการบริโภคของประเทศ เช่น ผันงบไปสู่ด้านการทหารเพื่อป้องกันประเทศ สิ่งที่ถูกตัดอันดับแรกคือสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น การเดินทางท่องเที่ยว หากเกิดสถานการณ์นี้ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอลงได้ ทำให้ประเทศไทยต้องจับตาภาคการท่องเที่ยวในครึ่งหลังปีนี้หรือปีหน้าว่าจะฟื้นได้ตามที่หวังจริงหรือไม่” ดร.จิติพลกล่าว 

 

สำหรับผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยที่เห็นได้ชัด คือ เงินลงทุนต่างชาติที่เริ่มไหลออก โดยก่อนหน้านี้ตั้งแต่ต้นปีทิศทางเงินทุนต่างชาติเป็นการไหลเข้าโดยตลอด หุ้นที่รับอานิสงส์คือกลุ่มพลังงาน ธนาคาร และ Value Stock แต่เมื่อมีสงครามขึ้น ทิศทางเงินต่างชาติเปลี่ยนทันที จึงได้เห็น Defensive Stock เช่น หุ้นโรงพยาบาล ค้าปลีก และโทรคมนาคม ปรับขึ้นมาแทน แม้ความผันผวนไม่เยอะแต่ก็เป็นหลุมหลบภัยได้ แต่จุดอ่อนคือราคาไม่ได้ถูกแล้ว เพราะการเติบโตในประเทศไทยอาจจะไม่ได้ดีจริงๆ 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามผ่านมาระยะหนึ่งและตลาดหุ้นเริ่มสะท้อนความเสี่ยงเรื่องนี้ไปแล้ว เงินต่างชาติจะเริ่มไหลกลับเข้าสู่ประเทศที่น่าสนใจ จึงแนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่จะได้อานิสงส์จากเงินทุนต่างชาติไหลกลับ 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X