ดูแล้วปี 2023 บรรยากาศการลงทุนของตลาดหุ้นมีความสดใสมากขึ้น โดยเฉพาะฝั่งของตลาดเอเชียที่เคยมีหลายปัจจัยมาเป็นตัวกดดันตลาดนั้นเริ่มคลายตัว หนึ่งในนั้นคือการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด และมีการเปิดเมือง-เปิดประเทศที่เร็วกว่าคาดของประเทศจีน (China Reopening) ทำให้ตลาดหุ้นจีน…พี่ใหญ่อันดับหนึ่งของเอเชีย เริ่มกลับมาฟื้นตัวกลับมาค่อนข้างดีตั้งแต่ช่วงต้นปี แต่ในมุมลึกๆ ในใจแล้วนักลงทุนน่าจะมีคำถามว่า ตลาดหุ้นจีนที่ฟื้นตัวขึ้นมาเร็วและแรงจะมีโอกาสขึ้นไปต่อได้หรือไม่? สำหรับมุมมองของ SCBAM จากการพิจารณาด้วยปัจจัยพื้นฐานก็คงตอบได้ว่า ตลาดหุ้นจีนยังมีปัจจัยสนับสนุนอีกหลายประการที่จะช่วยขับเคลื่อนให้ตลาดปรับตัวขึ้นได้ต่อ โดยเฉพาะการที่รัฐบาลจีนออกใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากยกเลิกมาตรการ Zero-COVID
อีกทั้งเงินเฟ้อของจีนยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) มีขีดความสามารถในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน เช่น การปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR), ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) และการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าตลาดสินเชื่อ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคของทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ที่ยังคงทำได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ตามที่ทางการจีนตั้งเป้าหมายไว้
ด้านปัญหาที่เคยค้างคาอย่างปัญหาของภาคอสังหาริมทรัพย์เองก็มีการผ่อนคลายข้อจำกัดผ่าน 16 มาตรการ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการพัฒนาอสังหา และกระตุ้นอุปสงค์ของผู้ซื้อบ้านมากขึ้น
ด้านการคุมเข้มกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนตามนโยบายการเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) ก็มีสัญญาณที่ดีขึ้นด้วยการผ่อนคลายการออกใบอนุญาตเกมใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และล่าสุดทางการจีนกลับมาอนุญาตให้ Ant Group บริษัทในเครือ Alibaba สามารถระดมทุนเพิ่มได้อีกครั้ง นับเป็นสัญญาณบวกว่าทางการจีนเริ่มผ่อนปรนการจัดระเบียบลงบ้างแล้ว
หากจะคิดถึงการลงทุนในตลาดหุ้นจีนในช่วงนี้ ที่เมื่อพิจารณาระดับมูลค่าหรือ Valuation ของตลาดหุ้นจีนผ่าน P/E จะพบว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่แพงจนเกินไป รวมทั้งแนวโน้มประมาณการกำไรของนักวิเคราะห์ในตลาดเริ่มกลับมามีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้เรามองว่าตลาดหุ้นจีนยังสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ในระยะข้างหน้า
สำหรับญี่ปุ่น อีกหนึ่งตลาดหุ้นพี่ใหญ่ของเอเชีย ที่มองว่ากำลังจะพบกับความท้าทายจากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้เริ่มส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้น และเซอร์ไพรส์ตลาดด้วยการประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี กว้างขึ้นเป็น -0.5% ถึง +0.5% จากกรอบเดิม -0.25% ถึง +0.25% ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือยกเลิกการทำ Yield Curve Control แต่การขยายกรอบการเคลื่อนไหวของ Bond Yield ซึ่งมองว่าเปรียบเสมือนการส่งสัญญาณเตรียมดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว (Tightening) ของ BOJ
ในระยะถัดไป ตัวแปรสำคัญคือทิศทางเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นมาแตะที่ระดับ 4% สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ และทิศทางนโยบายการเงินจากการหมดวาระของผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นคนปัจจุบันคือ คุณคุโรดะ ที่ยังต้องรอติดตามในเดือนเมษายน 2023 ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีความผันผวนเพิ่มสูงขึ้น และมองว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเห็น BOJ ใช้นโยบายการเงินที่สวนทางเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งอาจทำให้เงินเยนของญี่ปุ่นมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตามส่วนต่างของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาที่แคบลง เป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนหุ้นที่มีรายได้จากต่างประเทศ หรือพึ่งพาการส่งออกอยู่ค่อนข้างมาก
ดังนั้น ภาพรวมการลงทุนในปี 2023 ของสองตลาดหุ้นพี่ใหญ่ฝั่งเอเชีย คือ จีน-ญี่ปุ่น น่าจะอยู่บนเส้นทางเดินที่สวนกัน จากการดำเนินนโยบายการเงินที่สลับขั้วกันก็ตาม แต่ด้วยปัจจัยพื้นฐานระยะยาวแล้ว ทั้งสองประเทศต่างยังมีความแข็งแกร่ง แต่หากมองถึงเรื่องของการลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว สำหรับปีนี้ทิศทางของตลาดหุ้นจีนน่าจะมีปัจจัยบวกสนับสนุนที่เด่นชัดกว่า…
หมายเหตุ: บทความนี้เป็นการให้ข้อมูลด้านมุมมองการลงทุนเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ต้องรีบซื้อตุน? เหตุยุค ‘เงินเยน’ อ่อนค่าอาจจบแล้ว! หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ แผ่วกว่าคาด ดึงดอลลาร์อ่อน
- ราคาห้องพักและโรงแรมใน ญี่ปุ่น พุ่งขึ้นแล้ว 10-20% จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและเงินเฟ้อ
- ญี่ปุ่นจ๋าพี่มาแล้ว! นี่คือ 5 เซอร์ไพรส์เล็กๆ จากญี่ปุ่นที่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง