หลังจากที่เกาหลีใต้เปิดบ้านเป็นเจ้าภาพประชุมสุดยอดผู้นำ 3 ฝ่าย ระหว่าง ‘จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้’ ในวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และสงครามการค้า (Trade War) ที่ร้อนแรง
หลายสื่อตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าทั้ง 3 ประเทศจะมีพื้นที่ใกล้เคียงกัน แต่การประชุมสุดยอดเช่นนี้ก็เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ทั้งที่ผู้นำควรจะจัดประชุมทุกปี แต่ต้องหยุดชะงักไปเกือบ 5 ปี ปัจจัยหลักๆ เนื่องจากโควิด-19 และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ บวกกับรอยร้าวอันละเอียดอ่อนในบางประเด็น
ทว่าหากพูดถึงเชิงการค้าการลงทุน ทั้ง 3 ประเทศถือเป็นคู่ค้าสำคัญ โดยเศรษฐกิจจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกันถึงประมาณ 25% ของ GDP โลก อีกทั้งความร่วมมือ ความเคลื่อนไหวของ 3 ประเทศนี้มีนัยและความสำคัญต่อสันติภาพและความมั่งคั่งของภูมิภาคเป็นอย่างมาก
สำหรับวาระที่หารือในการประชุมนั้นนอกจากจะแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตราการเกิดประชากรที่ลดลง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และมาตรการป้องกันโรค นานาชาติก็จับตาไปที่การค้า นั่นคือการฟื้นการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ของทั้ง 3 ประเทศ และห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สินค้าจีน (ราคาถูก) ทะลักสหรัฐฯ! ‘โจ ไบเดน’ จ่อขึ้นภาษีนำเข้า EV จีนถึง 4 เท่า เพิ่มเป็น 100%
- “ผมจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 60% หรือมากกว่านั้น” สงครามการค้าจ่อเดือด หาก ‘ทรัมป์’ กลับมา
- วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ในวันที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ คัมแบ็ก!
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า หลี่เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ขอให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทาน และขอให้ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น และประธานาธิบดียุนซอกยอลของเกาหลีใต้ช่วย ‘ลดอุณหภูมิทางการเมือง’
เนื่องจากการประชุมไตรภาคีครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่จีนกำลังตอบโต้การขึ้นภาษีนำเข้าชิปของสหรัฐอเมริกา ภายใต้ความกังวลด้านความมั่นคงของชาติ ซึ่งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต่างก็ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ จึงห่วงว่าจะมีประเด็นการกีดกันจีนไม่ให้เข้าถึงเครื่องมือและเทคโนโลยีการผลิตชิประดับไฮเอนด์
อย่างไรก็ตาม ยุนระบุว่า เกาหลีใต้จะร่วมสร้างบรรยากาศที่ดีทางการค้าและการลงทุนที่โปร่งใส รวมไปถึงสร้างห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมระหว่างกัน
นอกจากนี้ ยุนและคิชิดะระบุถึงภัยคุกคามด้านความปลอดภัยที่เกิดจากเกาหลีเหนือ จึงได้ขอความช่วยเหลือจากจีนในการใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจเพื่อควบคุมด้านปรมาณูของผู้นำ คิมจองอึน
เนื่องจากก่อนการประชุม เกาหลีเหนือได้ระบุให้ทราบว่ามีแผนจะเปิดตัวจรวดเพื่อส่งดาวเทียม จึงเป็นที่มาในการหารือเกี่ยวกับการแจ้งเตือนดังกล่าว โดยเรียกร้องให้เกาหลีเหนือระงับแผน เนื่องจากการยิงจรวดโดยใช้เทคโนโลยีขีปนาวุธ ถือเป็นการละเมิดมติของสหประชาชาติ (UN)
ด้าน ยอฮันกู อดีตรัฐมนตรีการค้าของเกาหลีใต้ หนึ่งในผู้จัดการประชุมไตรภาคีปี 2019 มองว่าช่องว่างระหว่างจีนและชาติพันธมิตรทั้งสองของสหรัฐฯ ในประเด็นการเจรจาการค้านั้น ‘ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเชื่อมกันได้’ ภายใต้ระบอบการควบคุมการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ของรัฐบาล โจ ไบเดน
อย่างน้อยก็อาจ Win-Win ทั้งสองฝ่าย ทั้งจากการบริหารความเสี่ยงและป้องกันสถานการณ์ที่เลวร้ายของแรงกดดันทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มระดับการตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ระหว่างจีนและสหรัฐฯ
จีนหวังเพื่อนบ้านเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเพิ่มการลงทุนในประเทศ
หลี่บอกกับยุนในการประชุมอีกว่า ทั้งสองฝ่ายควรหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนประเด็นเชิงเศรษฐกิจ การเมือง และจีนยังคงยินดีต้อนรับบริษัทเกาหลีใต้ นั่นคือ Samsung Electronics เพื่อขยายการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมามีการลงทุนในจีนถึง 24,000 ล้านดอลลาร์
หลี่ย้ำว่า บริษัทต่างชาติยังเป็น ‘กำลังสำคัญที่ขาดไม่ได้’ สำหรับการพัฒนาของจีน และจีนเปิดกว้างสำหรับบริษัทต่างชาติเสมอ
โดยในประเด็นนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากระยะหลัง ทั้ง Samsung และ Toyota ต่างหันไปเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่จีนเองก็มีความสัมพันธ์อ่อนแอลงกับเพื่อนบ้านหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การเจรจาของคิชิดะกับหลี่มีความชัดเจนมากขึ้นเล็กน้อยในขณะที่เขาเรียกร้องให้จีนปล่อยตัวชาวญี่ปุ่นที่ถูกควบคุมตัว กรณีทะเลจีนตะวันออกมีเรือแล่นเข้าใกล้พื้นที่เกาะที่มีข้อพิพาท
นอกจากนี้ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ยังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในช่องแคบไต้หวัน และคิชิดะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเจรจากับหลี่ เพราะความตึงเครียดในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้นในขณะที่จีนจัดการซ้อมรบใหญ่ในรอบหนึ่งปีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเพิ่มความกดดันให้กับประธานาธิบดีคนใหม่ ไล่ชิงเต๋อ เพียงไม่กี่วันหลังจากที่เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง
นักวิเคราะห์มอง อาจลดความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ชีลา สมิธ ผู้อาวุโสของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บอกกับ Bloomberg Television ว่าคาดว่าการเจรจาจะส่งผลต่อนโยบายอุตสาหกรรมที่เกิดจากแรงกดดันของจีนที่มีต่อไต้หวัน
นอกจากนี้ในกรอบการประชุมนอกรอบของคิชิดะและยุน หลี่ได้ขอให้ทั้งสองประเทศเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน
ด้าน อีดงกยู นักวิจัยจากสถาบันอาซาน กล่าวว่า การประชุมไตรภาคีครั้งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความแตกต่างทางความคิดเห็นระหว่างทั้งสามประเทศ
เพราะการบรรลุฉันทมติอย่างรวดเร็วเกี่ยวกับวิธีจัดการกับระบอบการปกครองของคิมจองอึนมักจะเป็นเรื่องยากเสมอ เนื่องจากตำแหน่งทางการทูตและความมั่นคงในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน
ขณะเดียวกันก็สังเกตเห็นถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือไตรภาคีและส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับอนาคตในประเด็นที่ยากขึ้น เช่น นิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
“หากทั้งสามประเทศทำได้ดี (ในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ) พวกเขาสามารถร่วมมือในประเด็นด้านความปลอดภัยได้”
อีวิเคราะห์อีกว่า ในแง่ความสัมพันธ์ทางการค้านั้น การจัดให้มีการอภิปรายเพื่อเร่งการเจรจาสำหรับเขตการค้าเสรี (FTA) ไตรภาคี และส่งเสริมความร่วมมือสามฝ่าย รวมถึงการจัดการประชุมสุดยอดเป็นประจำถือเป็นสัญญาณที่ดี
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-05-27/china-japan-and-south-korea-start-first-summit-talks-since-2019?srnd=homepage-asia&sref=CVqPBMVg
- https://www.aljazeera.com/economy/2024/5/27/china-urges-south-korea-to-uphold-free-trade-at-three-way-summit
- https://www.reuters.com/markets/asia/samsung-encouraged-invest-more-china-premier-li-qiang-says-2024-05-26/
- https://www.scmp.com/news/asia/east-asia/article/3263761/south-korea-japan-and-china-hold-first-trilateral-summit-2019?module=top_story&pgtype=homepage