×

จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ พาเอเชียก้าวเป็นผู้นำแก้ปัญหาโลกร้อน แซงหน้าชาติตะวันตก

08.12.2020
  • LOADING...
จีน-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ พาเอเชียก้าวเป็นผู้นำแก้ปัญหาโลกร้อน แซงหน้าชาติตะวันตก

HIGHLIGHTS

9 mins. read
  • จีนประกาศบรรลุเป้าหมายการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060 
  • หากจีนทำสำเร็จ อาจช่วยลดอุณหภูมิโลกได้ถึง 0.2-0.3 องศาเซลเซียส
  • ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ให้คำมั่น ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 
  • จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันคิดเป็น 1 ใน 3 ของโลก
  • นานาประเทศทยอยเข้าสู่ ‘เฟสสอง’ ของข้อตกลงปารีส ด้วยการประกาศแผนกลางศตวรรษที่ 21 
  • ไทยยังไม่ประกาศแผนลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ยังคงเป้าหมายเดิม ลดก๊าซเรือนกระจก 20-25%

 

ทั่วโลกกำลังจับตามหาอำนาจแห่งเอเชียตะวันออกที่ประกาศเป้าหมาย ‘ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์’ หรือ Zero Emission ซึ่งถือเป็นพัฒนาการครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การลงนามในความตกลงปารีสเมื่อปี 2016

 

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เกาหลีใต้ประกาศนโยบาย ‘ข้อตกลงสีเขียวใหม่’ หรือ Green New Deal เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ขณะที่ญี่ปุ่นให้คำมั่นจะบรรลุเป้าหมายในปี 2050 เช่นกัน 

 

เมื่อเดือนกันยายน ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน สร้างความประหลาดใจกลางที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยให้คำมั่นที่จะบรรลุการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน คือใช้การชดเชยคาร์บอนและสร้างพลังงานสะอาดทดแทน จนทำให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ก่อนปี 2060

 

เพียงแค่ 3 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2, 3 และ 11 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ก็ครอบคลุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ใน 3 ของโลกแล้ว และยิ่งสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้นำอเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ทำให้สำนักข่าวต่างชาติมองว่า เอเชียจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำการแก้ปัญหาโลกร้อนแทนชาติตะวันตก

 

THE STANDARD จะพาไปเจาะเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของ 3 มหาอำนาจแห่งเอเชีย กับ 1 ความทะเยอทะยาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ภายใน 3 ทศวรรษข้างหน้า

 

พญามังกรปลอดมลพิษ?

 

คำประกาศผ่านการปราศรัยผ่านวิดีโอของ สีจิ้นผิง ต่อที่ประชุม UN เมื่อวันที่ 22 กันยายน เรียกได้ว่าเป็นข่าวใหญ่ที่คุณอาจพลาดไปของปี 2020 ก็ว่าได้ เพราะถือเป็นครั้งแรกที่จีนเปิดเผยเป้าหมายระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และเข้าร่วมในสมาคมขจัดโลกร้อนกลางศตวรรษที่ประกอบด้วย ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และอีกหลายประเทศ เพื่อบรรลุ Zero Emission ภายในกลางศตวรรษที่ 21

 

ปัจจุบันจีนปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 28% ของทั้งโลก มากกว่าสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปรวมกัน เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ของจีนคือ การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 90% และชดเชยที่เหลืออีก 10% ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ซึมซับก๊าซคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ 

 

หากจีนประสบความสำเร็จ Climate Action Tracker คาดการณ์ว่าจะช่วยลดอุณหภูมิของโลกได้ 0.2-0.3 องศาเซลเซียส ถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

 

แต่เส้นทางอีก 4 ทศวรรษของจีนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะจีนยังเป็นประเทศที่พึ่งพาพลังงานจากถ่านหินมหาศาล เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหล็กและซีเมนต์ โดยจีนเผาผลาญถ่านหินกว่าครึ่งของปริมาณรวมกันทั้งโลก ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันตามเมืองใหญ่ของจีนดังที่เห็นทุกวันนี้ 

 

ปัญหาหมอกควันจีนจะหมดไปด้วยหรือไม่?

 

แต่พลิกเหรียญมาอีกด้าน จีนเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เป็นประเทศที่ลงทุน ผลิต และบริโภค พลังงานสะอาดมากที่สุดในโลก ซึ่งข้อเท็จจริงที่ทำให้แผนของ สีจิ้นผิง ดูไม่ใช่เรื่องเกินฝัน 

 

หนังสือพิมพ์ The Guardian สรุปศักยภาพด้านอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดของจีนได้น่าสนใจ ดังนี้

 

  • แผงพลังงานแสงอาทิตย์ 1 ใน 3 ผลิตจากจีน
  • กังหันลม 1 ใน 3 มาจากจีนเช่นกัน
  • จีนมีรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งโลก
  • 98% ของรถโดยสารประจำทางเป็นรถไฟฟ้า
  • 99% ของรถจักรยานยนต์หรือจักรยานสองล้อ ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า
  • จีนเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ เช่นเดียวกับแบตเตอรี่เก็บพลังงาน
  • ภายในปี 2025 โรงงานผลิตแบตเตอรี่ของจีนจะมีขนาด 2 เท่าของทั้งโลกรวมกัน

 

ด้วยอุปทานที่มากขนาดนี้ ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนในสหรัฐฯ ประเมินว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ราคารถยนต์และรถโดยสารประจำทางที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจะมีราคาถูกกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน 

 

จีนจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร?

ตามรายงานของคณะกรรมาธิการการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน หรือ ETC วิเคราะห์ว่า หากจีนต้องการทำตามเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน จะต้องเพิ่มการลงทุนรายปีในพลังงานแสงอาทิตย์เป็น 2 เท่า และ 3 เท่ากับพลังงานลม 

 

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลจีนจะต้องทุ่มงบประมาณมหาศาล พัฒนาเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ด้านพลังงานสะอาด อาทิ ไฮโดรเจนแบบรักสิ่งแวดล้อม คลังเก็บพลังงาน และกังหันลมนอกชายฝั่ง ซึ่งอันที่จริงจีนกำลังแข่งขันกับชาติ EU ในการผลิตนวัตกรรมเหล่านี้

 

จีนผลิตแผงโซลาร์เซลล์เป็นอันดับหนึ่งของโลก

 

บาร์บารา ฟินามอร์ ผู้อำนวยการอาวุโสสภาความมั่นคงด้านทรัพยากรธรรมชาติ และผู้เขียนหนังสือ Will China Save the Planet เชื่อว่า “จีนจะพูดจริงทำจริง” เพราะ สีจิ้นผิง จะไม่ประกาศเป้าหมายยิ่งใหญ่ขนาดนี้กลางที่ประชุมระดับโลก หากไม่ประเมินจากหลักฐานต่างๆ แล้วว่า “เป็นสิ่งที่ทำสำเร็จได้” แม้ว่านัยแอบแฝงคือการช่วงชิงบทบาทจากสหรัฐฯ ที่ก้าวลงจากการเป็นผู้นำแก้ปัญหาโลกร้อน รวมถึงเป็นการวางแต้มต่อเชิงอำนาจก่อนที่รัฐบาลอเมริกาชุดใหม่ (ภายใต้การนำของ โจ ไบเดน) จะขึ้นรับตำแหน่ง

 

รัฐบาลจีนยังได้เปรียบเชิงนโยบายเมื่อเทียบกับสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ เพราะด้วยโครงสร้างทางการเมือง ทำให้การดำเนินแผนเชิงอุตสาหกรรมระยะยาวทำได้อย่างไร้รอยต่อ อีกทั้งยังมีแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินลงทุนมหาศาล และนโยบายอื่นๆ ที่เกื้อกูลกันด้วย ทำให้การเปลี่ยนแปลงจะไม่ได้เกิดในระดับประเทศอย่างเดียว แต่ลงลึกไปถึงระดับมณฑล เมือง และท้องถิ่น

 

แดนอาทิตย์อุทัย…ไร้คาร์บอน

 

“รัฐบาลจะใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อสร้างสังคมสีเขียว ผ่านการสร้างวงจรแห่งศีลธรรมและจริยธรรมรักสิ่งแวดล้อมในภาคธุรกิจและสิ่งแวดล้อม”

 

ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี โยชิฮิเดะ ซูงะ ของญี่ปุ่น ประกาศจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ระหว่างการแถลงนโยบายครั้งแรกนับแต่ขึ้นรับตำแหน่ง 

 

ตามข้อมูลของกระทรวงสิ่งแวดล้อม ญี่ปุ่นปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 1.24 พันล้านลูกบาศก์ตันเมื่อปี 2018 ถือว่าลดลงจากปีก่อนหน้า 3.9% และ 12% จากช่วงพีกสุดในปี 2013 แต่กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงกรีนพีซชี้ว่า ญี่ปุ่นมีพัฒนาการที่ช้าเกินไป

 

ดังนั้นกรีนพีซจึงยินดีกับคำประกาศของซูงะ แต่เตือนว่า “คำมั่นสัญญาต้องพิสูจน์ด้วยการขับเคลื่อนทางนโยบาย”

 

นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นชี้ว่า แผงโซลาร์เซลล์และระบบรีไซเคิลคาร์บอนจะเป็นหัวใจสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ โดยญี่ปุ่นจะเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมดิจิทัล เพราะ “การแก้ปัญหาโลกร้อนไม่ได้เป็นข้อจำกัดต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจอีกต่อไปแล้ว”

 

ไม่นานหลังถ้อยแถลงของซูงะ รัฐบาลท้องถิ่น 175 เมืองทั่วประเทศ รวมถึงกรุงโตเกียว เกียวโต และโยโกฮาม่า ได้ประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ แสดงให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่รัฐบาลกลาง แต่รัฐบาลเมืองต่างๆ มุ่งมั่นจะขับเคลื่อนนโยบายสร้าง ‘สังคมสีเขียว’ อย่างจริงจัง

 

และ 175 เมืองที่ประกาศจุดยืนเดียวกับรัฐบาลนั้น เมื่อรวมประชากรแล้วจะมากถึง 82 ล้านคน หรือ 64.7% ของประชากรญี่ปุ่นเลยทีเดียว 

 

พื้นที่สีส้มคือจังหวัดที่ประกาศลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050

 

ทั้งนี้ เอริก ปีเดอร์สัน หัวหน้าแผนกการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบของบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ Nordea Asset Management ชี้ว่า “การที่ญี่ปุ่นเข้าร่วมกับสหภาพยุโรปเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 เป็นข่าวดี แต่เตือนว่าญี่ปุ่นจำเป็นต้องเริ่มลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน รวมถึงหยุดสร้างและสนับสนุนการสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินในต่างประเทศด้วย

 

เกาหลีใต้สีเขียวหรือสีเทา

การสร้างงานพร้อมกับแก้ปัญหาโลกร้อนคือหัวใจหลักของ ‘ข้อตกลงสีเขียวใหม่’ ของรัฐบาลเกาหลีใต้ เป็นการพลิกวิกฤตการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวจุดเครื่องยนต์เดินหน้าการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวแบบยั่งยืน 

 

ตัวเลขการจ้างงานเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาพบว่า ลดลงเกือบ 4 แสนตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก โรงแรม และอาหาร ส่งผลให้ประธานาธิบดี มุนแจอิน ประกาศนโยบาย ‘ข้อตกลงเกาหลีใหม่’ หรือ K-New Deal รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

Green New Deal เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายนี้ เพื่อสร้างงานเกือบ 3.2 แสนตำแหน่ง ผ่านการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ภายในปี 2022 และเกือบ 6.6 แสนตำแหน่งในปี 2025 โดย มุนแจอิน จะเป็นประธานการประชุมติดตามผลแบบรายเดือนด้วยตนเอง

 

Credit: Korean New Deal – คำบรรยาย หน้าปกเอกสารนโยบายของเกาหลีใต้

 

รายละเอียดของข้อตกลงสีเขียวใหม่ของเกาหลีใต้มีอะไรบ้าง เราสรุปมาโดยสังเขป ดังนี้

 

  • ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และกังหันลมเป็น 42.7 กิกะวัตต์ในปี 2025 (จาก 12.7 กิกะวัตต์เมื่อปีที่แล้ว)
  • รัฐบาลจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 2.5 แสนชิ้นตามอาคารสาธารณะ
  • สร้างวงจรอัจฉริยะ (Smart Grids) คือเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงการใช้บริการและบริหารสาธารณูปโภคด้านพลังงานได้
  • ติดตั้งมาตรวัดอัจฉริยะ 5 ล้านชิ้นตามอพาร์ตเมนต์ที่อยู่อาศัย เพื่อช่วยผู้บริโภคลดการใช้พลังงานไฟฟ้า
  • สร้างชุมชนไมโครกริด (Microgrids Communities) หรือชุมชนที่เชื่อมต่อกันด้วยพลังงานเพื่อการอยู่อาศัย ผ่านระบบการสร้างพลังงานทดแทนและสะสมพลังงานในชุมชน ช่วยให้ชุมชนต่างๆ รวมถึงตามเกาะต่างๆ มีระบบพลังงานคาร์บอนต่ำแบบเอกเทศ ไม่ต้องพึ่งพิงสาธารณูปโภคจากส่วนกลาง
  • ตั้งเป้าผลิตและใช้งานรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 1.35 ล้านคัน และรถยนต์พลังไฮโดรเจนอีก 2 แสนคันภายในปี 2025 โดยมีบริษัทยานยนต์สัญชาติเกาหลีใต้อย่าง Hyundai เป็นผู้ได้ผลประโยชน์จากนโยบายนี้
  • สร้างสถานีเติมไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 4.5 หมื่นแห่ง และสถานีเติมพลังงานไฮโดรเจน 450 แห่ง โดยมีบริษัท EM Korea ของเกาหลีใต้ที่ได้ประโยชน์
  • ริเริ่มแนวคิดสร้างเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ด้วยการลดและรีไซเคิลพลังงาน โดยใช้ประโยชน์จากแผงวงจรพลังงานที่ล้ำหน้าและควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อดักจับและสะสมก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการผลิตในโรงงาน แล้วนำกลับมาใช้ใหม่

 

อย่างไรก็ดี มีฝ่ายที่ออกมาวิจารณ์นโยบายสีเขียวของเกาหลีใต้เช่นกัน โดยมองว่าเป็น ‘สีเทามากกว่าสีเขียว’ ยกตัวอย่าง การทยอยยกเลิกการใช้ถ่านหิน ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สกปรกที่สุด แต่รัฐบาลเกาหลีใต้กลับแทนที่ด้วยการใช้ ‘เชื้อเพลิงฟอสซิลที่อ้างว่าสะอาดกว่า’ อย่างก๊าซธรรมชาติแบบเหลว หรือ LNG นอกจากนี้ พวกเขายังมองว่าการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานสำหรับยานยนต์ เป็นเรื่องที่เกินความเป็นจริง และประชาชนทั่วไปยังเข้าถึงยาก 

 

รัฐบาลเกาหลีใต้ชี้แจงว่า พลังงานทดแทน อาทิ LNG นั้นเป็นเพียงเชื้อเพลิงที่นำมาแทนที่ถ่านหินเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดจนถึงระดับที่ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิลเหล่านี้อีกเท่านั้น ขณะที่การใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงนั้น เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังวิจัยและพัฒนา รวมถึงในออสเตรเลียด้วย 

 

ข้อตกลงปารีสสู่ ‘เป้าหมายกลางศตวรรษ’

การประกาศบรรลุ ‘การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ และ ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ ภายในปี 2050-2060 หรือช่วงกลางศตวรรษที่ 21 ถือได้ว่าเป็นเฟส 2 ต่อจากความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ที่บรรลุเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ปี 2015 ระหว่างการประชุมว่าด้วยสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 21 หรือ COP 21 ที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส 

 

ข้อตกลงนี้มีจุดประสงค์เพื่อรับมือกับปัญหาโลกร้อนด้วยการสร้างอนาคตคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน ผ่านการออกนโยบายและเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ถือเป็นข้อตกลงฉบับแรกของโลกที่นำทุกประเทศมาร่วมกันแก้ปัญหาที่มีร่วมกัน ด้วยเป้าหมายขั้นต่ำคือ การคงระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงเกิน 2% ก่อนสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 พร้อมกับเดินหน้าพยายามควบคุมอุณหภูมิไม่ให้พุ่งสูงเกิน 1.5% (เทียบกับระดับอุณหภูมิก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม)

 

แม้จะเป็นข้อตกลงระดับโลก แต่ Paris Agreement ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ใช้หลักการที่เรียกว่าการมีส่วนร่วมในระดับประเทศอย่างมุ่งมั่น หรือ Nationally Determined Contributions โดยทุกประเทศที่ลงนามเป็นประเทศภาคีของข้อตกลงนี้จะต้องรายงานผลการดำเนินงานและตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อสหประชาชาติแบบรายปี และทุกๆ 5 ปี จะประเมินผลว่าเป็นไปตามเป้าประสงค์ของข้อตกลงหรือไม่ พร้อมประกาศมาตรการขั้นต่อไปของแต่ละประเทศภาคี 

 

สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงปารีสแล้ว

 

แม้นานาประเทศจะบรรลุข้อตกลงในปี 2015 แต่การเปิดให้ลงนามเป็นชาติภาคี เริ่มขึ้นในวันที่ 22 เมษายน ปี 2016 และเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ปี 2016 หลังมีประเทศลงนามและให้สัตยาบันเกินจำนวนขั้นต่ำ 55 ประเทศเป็นที่เรียบร้อย ในจำนวนนี้รวมถึงประเทศไทยที่ลงนามและแจ้งเจตจำนงต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปี 2015 

 

นับแต่นั้นก็ยังมีประเทศทยอยให้สัตยาบันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจนถึงปัจจุบันรวมแล้วมีประเทศที่ลงนามเป็นชาติภาคีข้อตกลงปารีสทั้งหมด 189 ประเทศ จากเดิม 190 ประเทศ ภายหลังสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลง และมีผลบังคับเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ปี 2020

 

แม้ชาติตะวันตกและชาติยุโรปหลายประเทศทยอยประกาศแผนกลางศตวรรษที่ 21 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์แล้ว ตามด้วยมหาอำนาจเอเชียอย่าง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ แต่ประเทศไทยยังคงเจตจำนงเดิมคือ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25% ภายในปี 2030

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X