ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีนในเดือนพฤศจิกายนติดลบหนักสุดในรอบ 3 ปี เช่นเดียวกับดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) บ่งชี้ถึงแรงกดดันด้านภาวะเงินฝืดที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ ส่งสัญญาณว่าการฟื้นตัวของจีนยังสะดุด
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดภาวะเงินเฟ้อสำคัญ ติดลบ 0.5% ทั้งจากปีก่อนหน้าและจากเดือนตุลาคม นับว่าหนักสุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2020 และติดลบหนักกว่าคาดการณ์เฉลี่ยของ Reuters Polls ที่ 0.1%
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) เมื่อเทียบ YoY ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและเชื้อเพลิง อยู่ที่ 0.6% เท่ากับเดือนตุลาคม
Xu Tianchen นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Economist Intelligence Unit (EIU) กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวจะสร้างความกังวลให้กับผู้กำหนดนโยบาย และมองว่ามีปัจจัยหลัก 3 ประการที่อยู่เบื้องหลังการติดลบ ได้แก่ ราคาพลังงานทั่วโลกที่ลดลง การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในฤดูหนาวที่ชะลอตัว และปัญหาอุปทานล้นเรื้อรัง
“แรงกดดันขาลงจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปในปีหน้า เนื่องจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์และรัฐบาลท้องถิ่นจะพยายามลดภาระหนี้ลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกคาดว่าจะชะลอตัว” Xu กล่าว
Bruce Pang หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Jones Lang LaSalle กล่าวว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานที่อ่อนแอเป็นคำเตือนเกี่ยวกับอุปสงค์ที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้กำหนดนโยบายจีนควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก หากต้องการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและสมดุลมากขึ้น
สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต ซึ่งเป็นตัวชี้วัดแรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งผู้ผลิตในเดือนตุลาคมของจีน ก็ติดลบ 3.0%YoY นับเป็นการลดลงเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน และเร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าเดือนพฤศจิกายนจะลดลงอีก 2.8%
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตจะเป็นตัวที่ออกมาก่อนดัชนีราคาผู้บริโภค ดังนั้นหากดัชนีราคาผู้ผลิตมีค่าลดลง มักจะทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าลดลงตามไปด้วย
อ้างอิง: