×

อัตราเงินเฟ้อจีนร่วงเร็วสุดในรอบ 15 ปี สัญญาณวิกฤตเศรษฐกิจจากภาวะเงินฝืด

09.02.2024
  • LOADING...
เงินเฟ้อจีน

สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกในปีนี้ยังไม่อาจเบาใจได้ เนื่องจากมีรายงานล่าสุดจากทาง Financial Times ซึ่งเปิดเผยในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนลดลงในอัตราที่เร็วที่สุดในรอบ 15 ปี มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า ตอกย้ำถึงความท้าทายสำหรับผู้กำหนดนโยบายที่พยายามฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนในจีน 

 

รายงานระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนร่วงลง 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนมกราคม ตามสถิติอย่างเป็นทางการที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (8 กุมภาพันธ์) นับเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันที่ดัชนีดังกล่าวปรับตัวลดลง อีกทั้งยังเป็นการปรับลดครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2009

 

นอกจากนี้ ตัวเลขดังกล่าวยังลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์จากการสำรวจของ Reuters คาดการณ์ไว้ที่ 0.5% และยังลดลงจากเดือนธันวาคมก่อนหน้าที่ 0.3%

 

ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเลขของดัชนีราคาผู้บริโภคจีน มาตรวัดเงินเฟ้อสำคัญ ที่ปรับตัวลดลง เกิดขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจของจีนต่อสู้กับภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำมากขึ้น การล่มสลายของตลาดหุ้น และรายได้จากการส่งออกที่อ่อนแอลง

 

Eswar Prasad ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล และอดีตหัวหน้าแผนกประเทศจีนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ตัวชี้วัดจำนวนมากในขณะนี้กะพริบเป็นสีแดง ส่งสัญญาณถึงช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยอันตรายสำหรับเศรษฐกิจและตลาดการเงินของจีน

 

ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.3% ต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น 0.4% จากการสำรวจของ Reuters แต่แข็งแกร่งกว่าเดือนธันวาคมที่เพิ่มขึ้น 0.1%

 

ด้านดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในเดือนมกราคม โดยลดลง 2.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี และดีขึ้นเล็กน้อยจากการลดลง 2.7% ในเดือนธันวาคม และดีขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 2.6%

 

รายงานระบุว่า เศรษฐกิจของจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดในเดือนกรกฎาคม และราคาก็ทรงตัวหรือลดลงในทุกเดือนนับตั้งแต่เดือนดังกล่าว ยกเว้นเดือนสิงหาคม ท่ามกลางคำเตือนจากนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำที่ระบุว่าภาวะเงินฝืดที่ยืดเยื้อเป็นเวลานานอาจส่งผลเสียต่อธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่าแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดกำลังส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัท รวมถึงฉุดให้ตลาดหุ้นตกต่ำ อีกทั้งเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (7 กุมภาพันธ์) จีนได้ไล่ประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อย่าง Yi Huiman ออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่นักวิเคราะห์กล่าวว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาความไม่พอใจของนักลงทุนต่อภาวะขาดทุนจากตลาดหุ้นจำนวนมาก

 

ด้าน Prasad ชี้ว่า ภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่องของจีนและการดิ้นรนของตลาดหุ้นบ่งชี้ว่าอุปสงค์ของครัวเรือนและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อภาวะเงินฝืดเริ่มฝังรากลึกในจีน จำเป็นต้องมีการยกนโยบายชุดใหญ่ขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอีกครั้ง รวมถึงช่วยดึงเศรษฐกิจออกจากหุบเหว

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่า ตัวเลขเงินเฟ้อผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากช่วงวันหยุดตรุษจีน ซึ่งมักเป็นช่วงที่มีผลต่อการกระตุ้นการใช้จ่ายในเดือนมกราคมปีที่แล้ว โดย Lynn Song หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ING ประจำประเทศจีน กล่าวว่า สิ่งนี้ทำให้ตัวเลข CPI ของเดือนที่แล้วลดลงเกินจริง โดยเสริมว่าผลกระทบของราคาเนื้อหมูซึ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินฝืด น่าจะลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีนี้น่าจะช่วยผลักดันการเติบโตของราคาให้อยู่ในแดนบวกในเดือนนี้ 

 

ด้าน Lynn Song หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ING ประจำประเทศจีนกล่าวว่า การใช้จ่ายที่กลับมาคึกคักเฉพาะช่วงเทศกาล ทำให้ตัวเลข CPI ของเดือนมกราคมลดลงเกินจริง และคาดว่าผลกระทบของราคาเนื้อหมูซึ่งกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินฝืด น่าจะลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้น่าจะช่วยผลักดันการเติบโตของราคาผู้บริโภคให้อยู่ในแดนบวกในเดือนกุมภาพันธ์ 

 

ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่า แม้ราคาอาหารลดลง 5.9% เมื่อเดือนที่แล้ว แต่ราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหารก็เพิ่มขึ้น 0.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนมกราคมลดลง เพราะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศ โดยดัชนี PPI ปรับตัวลดลงเป็นเวลา 16 เดือนติดต่อกัน

 

ขณะนี้บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างเริ่มจับตาดูการประชุมประจำปีอย่าง ‘Two Sessions’ ระหว่างสภาตรายางจีนกับคณะกรรมการที่ปรึกษาในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่รัฐบาลของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ สำหรับปีนี้

 

ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปีที่แล้วเกินเป้าหมายของรัฐบาลเล็กน้อยที่ 5.2% โดยส่วนหนึ่งของการขยายตัวยังเป็นผลจากการที่ผู้กำหนดนโยบายถูกบังคับออกมาตรการหลายอย่างเพื่อจัดการกับทรัพย์สิน ภาวะการชะลอตัวและการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งที่น้อยกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ โดยทางการจีนตั้งเป้าตัวเลขการเติบโตของ GDP ปี 2024 ไว้ที่ 5% ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าปี 2023 ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดในรอบทศวรรษ

 

ภาพ: Martin Puddy / Getty Images 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising