ท่ามกลางการต่อสู้กับโควิด-19 และความวุ่นวายในส่วนต่างๆ ของโลก จีนกำลังมุ่งหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และขยับสู่เป้าหมายทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน กับการก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลของโลก
บทวิเคราะห์จาก เจมส์ กริฟฟิธ ของสำนักข่าว CNN ชี้ว่า ความวุ่นวายระหว่างการถ่ายโอนอำนาจหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งโดยปกติมักสร้างความสับสนในเชิงนโยบายและความไม่เรียบร้อยต่างๆ อยู่แล้ว แต่ครั้งนี้ดูวุ่นวายมากขึ้น เนื่องจาก โดนัลด์ ทรัมป์ และสมาชิกพรรครีพับลิกันหลายคน ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายลง ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างคือ การบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาของกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์ ในระหว่างการอภิปรายเพื่อลงมติรับรองการนับคะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) เพื่อประกาศชัยชนะของ โจ ไบเดน
เมื่อตัดภาพกลับไปก่อนปีใหม่ รัฐบาลจีนได้เห็นชอบข้อตกลงด้านการลงทุนกับสหภาพยุโรปที่ใช้เวลาเจรจายาวนานกว่า 7 ปี ซึ่งจะทำให้บริษัทยุโรปเข้าถึงตลาดจีนได้มากขึ้น และช่วยแก้ไขในสิ่งที่ยุโรปมองว่าเป็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล CNN เคยวิเคราะห์ไว้ว่า ข้อตกลงนี้อาจบั่นทอนความสามารถของสหรัฐฯ ในการแข่งขันกับจีน นอกจากนี้จีนยังเริ่มปฏิบัติการปราบปรามครั้งใหญ่ในฮ่องกงด้วยการจับกุมตัวนักกิจกรรมทางการเมืองและสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติอีกอย่างน้อย 53 ราย จากข้อกล่าวหาละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ
ทีมงานของ โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดี ได้ออกมาวิจารณ์ทั้งสองกรณีดังกล่าว ส่วนฝั่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ยังโฟกัสกับการต่อสู้หลังพ่ายแพ้การเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ก็ออกมาขู่ว่า จะมีมาตรการคว่ำบาตรหลังการจับกุมนักกิจกรรมและสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติในครั้งนี้
กริฟฟิธระบุว่า เหตุการณ์ทั้งสองเป็นสัญลักษณ์จากทางการจีน ซึ่งมีความกล้ามากขึ้นจากความแข็งแกร่งของตนเมื่อเทียบกับส่วนอื่นๆ ของโลกในขณะนี้ และพวกเขาต้องการที่จะตักตวงความได้เปรียบระหว่างที่สหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงโกลาหล ข้อสังเกตก็คือการบรรลุข้อตกลงทางการลงทุนระหว่างจีนกับสหภาพยุโรปดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งๆ ที่มีที่ปรึกษาคนหนึ่งของ โจ ไบเดน ออกมาทวีตข้อความว่า ต้องการให้สหภาพยุโรปพูดคุยกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับความกังวลด้านแนวปฏิบัติทางเศรษฐกิจของจีนเสียก่อน ซึ่งการที่สหรัฐฯ ไม่สามารถหยุดพัฒนาการเหล่านี้ได้ ก็จะสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ที่วิจารณ์สหรัฐฯ ทั้งในจีนและส่วนอื่นๆ ของโลก ที่มักรู้สึกว่าสหรัฐฯ ใช้อิทธิพลของตนอย่างไม่เป็นธรรมมากเกินไปในระดับนานาชาติ
ส่วน โดนัลด์ ทรัมป์ หลังจากมีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างการวิจารณ์และการโอบรับต่อทางการจีนตลอดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาก็หันมาแน่วแน่ต่อท่าทีที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลปักกิ่งในช่วงปีสุดท้ายก่อนสิ้นวาระ โดยปอมเปโอ ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ผลักดันมาตรการคว่ำบาตรและปฏิกิริยาต่อต้านรัฐบาลจีน รวมถึงยังพยายามรวบรวมพันธมิตรต่อต้านจีนจากทั่วโลก ความพยายามเหล่านี้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก มีเพียงบางประเทศที่ร่วมวงไพบูลย์ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งตัวอย่างของประเทศในกลุ่มนี้ก็คือออสเตรเลีย ทว่า ตอนนี้ออสเตรเลียอาจต้องเสียใจกับการตัดสินใจดังกล่าว ที่ตามมาด้วยการตอบโต้ครั้งใหญ่จากฝั่งจีนเช่นกัน
เขายังชี้ว่า การที่ผู้นำจีนหลายคนมักอ้างว่าจีนไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของรัฐอื่นๆ และมักหาความร่วมมือแบบ ‘วิน-วิน’ ซึ่งต่างจากรัฐบาลสหรัฐฯ นั้นเป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่ถูกต้อง และบอกว่าจีนได้แผ่อิทธิพลเช่นเดียวประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ตั้งแต่โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative ซึ่งมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ไปจนถึงมีอิทธิพลต่อการเมืองในไต้หวันและอีกหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงออสเตรเลีย โดยเขาอ้างถึงกรณี ส.ส. หญิงของออสเตรเลียคนหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยงกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน อิทธิพลนี้เติบโตขึ้นเมื่อจีนกลายเป็นมหาอำนาจอันดับ 2 ของโลก และมีตัวเร่งเป็นความวุ่นวายทางการเมืองและความแตกแยกในรัฐบาลสหรัฐฯ รวมถึงความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในการรับมือกับโควิด-19 ซึ่งการแจกจ่ายวัคซีนที่พัฒนาโดยจีนไปยังทั่วโลกนับร้อยล้านโดส ก็เป็นไปเพื่อเน้นย้ำถึงความเปลี่ยนแปลงนี้
นักวิเคราะห์จาก CNN ยังระบุว่า ทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ และจีน ต่างก็ถือเอาระบบของสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่ระบบของสหรัฐฯ นั้นมีข้อบกพร่องมากมาย และประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ในโลกก็ไม่ได้ใช้ระบบการบริหารประเทศที่คล้ายคลึงกับสหรัฐฯ และเมื่อประชาธิปไตยแบบ ‘โมเดลสหรัฐฯ’ ได้เผยข้อบกพร่องออกมาผ่านรัฐบาลของทรัมป์ ก็กลายเป็นผลดีต่อนักโฆษณาชวนเชื่อในจีนที่สามารถใช้ประเด็นนี้เพื่อโต้แย้งความถูกต้องของระบบการปกครองแบบอำนาจนิยมของตนเอง
และความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการบุกเข้าไปในสภาสหรัฐฯ ก็น่าจะถูกหยิบยกมากล่าวถึงด้วยวาระแอบแฝงทางการเมือง โดย The Global Times หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของรัฐบาลจีนขึ้นพาดหัวว่า ‘ชาวเน็ตจีนเยาะเย้ยการจลาจลในหน่วยงานของสหรัฐฯ ว่าเป็น ‘กรรม’ และระบุว่าฟองสบู่ของ ‘ประชาธิปไตยและเสรีภาพ’ ได้ระเบิดแล้ว’
โดยรายงานของ The Global Times ซึ่งเลือกเฟ้นปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ที่รัฐสภาสหรัฐฯ บนโซเชียลมีเดียของจีนมาสรุป ดูเหมือนจะเพลิดเพลินกับสิ่งที่เรียกว่า ‘สองมาตรฐาน’ ของสหรัฐฯ นอกจากนี้รายงานอื่นๆ จากสื่อของรัฐบาลจีนยังเปรียบเทียบการบุกรัฐสภาสหรัฐฯ ในครั้งนี้กับการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงเมื่อปี 2019 โดยเหน็บแนมผู้นำจากฝั่งพรรคเดโมแครต อาทิ แนนซี เปโลซี ที่เคยชื่นชมภาพการประท้วงในฮ่องกง ว่าพวกเขาจะทำแบบเดียวกันกับผู้ก่อการจลาจลที่สนับสนุนทรัมป์หรือไม่
การเปรียบเทียบดังกล่าวยังเกิดขึ้นในการแถลงข่าวตามปกติของกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อวันพฤหัสบดี โดย หัวชุนอิ๋ง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า หลายคนกำลังคิดถึงข้อเท็จจริงว่านี่เป็นสถานการณ์ ‘เดจาวู’ และบางคนจากฝั่งสหรัฐฯ ก็มีปฏิกิริยาและใช้ถ้อยคำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ วันนั้นแตกต่างไปจากเหตุการณ์ในฮ่องกงเมื่อปี 2019 แต่เธอเน้นย้ำถึงความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง รวมถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังความแตกต่างทางความคิดนี้กระตุ้นให้เกิดความคิดใหม่ๆ และสมควรได้รับการสะท้อนอย่างจริงจังและลึกซึ้งโดยพวกเราทั้งหมด
“เราเชื่อว่าคนอเมริกันต้องการความปลอดภัยและสันติภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์วิกฤตปัจจุบันของการระบาดของโรค และพวกเราหวังว่าชาวอเมริกันจะมีความสงบสุข เสถียรภาพ และความปลอดภัยโดยเร็วที่สุด” คืออีกหนึ่งประโยคจากโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน
ทว่า กริฟฟิธมองว่า การเปรียบเทียบเช่นนั้นง่ายไป เขาระบุว่า ผู้ประท้วงในฮ่องกงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ดีกว่า ขณะที่เปโลซีเองก็ยกย่องการประท้วงโดยสันติ ซึ่งไม่ใช่กรณีการบุกเข้าไปในรัฐสภาสหรัฐฯ ที่เขาบอกว่า ‘รุนแรงกว่า’ เขายังชี้ว่า การประท้วงในฮ่องกงเป็นข้ออ้างที่นำมาซึ่งการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง แต่กับในสหรัฐฯ แล้ว ท่าทีของรัฐบาลได้พิสูจน์ว่าไม่มีกำลังที่จะหยุดผู้ประท้วงได้ กริฟฟิธยังระบุว่า การนำดินแดนที่ ‘เสียงดังและยากต่อการควบคุม’ ที่สุดในจีนอย่างฮ่องกง มาอยู่ในการควบคุมนั้นถือเป็นเป้าหมายที่มียาวนานของรัฐบาลจีน แต่สิ่งนี้ถูกทำให้ง่ายขึ้นด้วยความอ่อนแอของสหรัฐฯ ที่มีกำลังและอิทธิพลลดลงในเวทีโลก ตลอดจนมีความสามารถด้อยลงที่จะระดมพันธมิตร เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ และ ไมค์ เพนซ์ ลงมือพูดคุยเพื่อสร้างแนวร่วมต่อต้านจีน
ปีนี้ถือเป็นปีครบรอบ 1 ศตวรรษของการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นการครบรอบที่รัฐบาลจีนสัญญาว่าจะเฉลิมฉลองด้วยการบรรลุเป้าหมายของการเป็นสังคมที่เจริญรุ่งเรืองพอสมควร ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นหลังจากจีนได้ขจัดความยากจนแบบสมบูรณ์ หรือความยากจนด้านความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งขณะนี้ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ของจีน อาจรู้สึกว่าเขาอยู่ในฐานะที่จะบรรลุเป้าหมายในระดับสากลได้เช่นกัน เช่น การเพิ่มการควบคุมของจีนในทะเลจีนใต้เป็น 2 เท่า หรือบังคับให้มีการแสดงพลังเหนือเกาะไต้หวัน เป็นต้น
บทวิเคราะห์ดังกล่าวลงท้ายว่า แม้ว่าในการหาเสียงเลือกตั้ง ไบเดนอาจมีลักษณะเช่นเดียวกับทรัมป์คือใช้วาทศิลป์ในเชิงแข็งกร้าวต่อจีน แต่ก็มีแนวโน้มที่หวังได้ว่าจะมีการ ‘รีเซ็ต’ ความสัมพันธ์กับจีน เมื่อไบเดนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งจะทำให้สหรัฐอเมริกาแข่งขันกับจีนจากจุดแข็งของตน แต่ยังเหลืออีก 2 สัปดาห์ กว่าไบเดนจะเข้ารับตำแหน่ง คงต้องจับตาดูว่าความวุ่นวายในสหรัฐฯ จะเป็นตัวเร่งให้จีนบรรลุเป้าหมายอื่นๆ ที่มองหามานานได้หรือไม่
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- https://edition.cnn.com/2021/01/07/china/china-us-hong-kong-transition-biden-trump-intl-hnk/index.html
- https://edition.cnn.com/2021/01/05/asia/hong-kong-national-security-law-intl-hnk/index.html
- https://edition.cnn.com/2020/12/30/business/eu-china-investment/index.html
- https://www.voanews.com/east-asia-pacific/voa-news-china/eu-china-investment-talks-near-completion-raising-concerns