×

เศรษฐกิจจีนฟื้นช้ากว่าคาด เขย่าตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ แต่กลุ่มโลหะเพื่อ Energy Transition กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นในระยะยาว

28.05.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจจีน

หลังจากที่จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบเมื่อปลายปีก่อนหลังเผชิญกับโควิด นักลงทุนต่างคาดหวังว่าเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่น แต่ดูเหมือนว่าการฟื้นตัวของจีนอาจไม่ได้เร็วอย่างที่ตลาดคาดหวัง

 

ความกังวลที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านดัชนีหุ้น CSI 300 ของจีน ซึ่งย่อตัวลงมาราวครึ่งหนึ่งของการฟื้นตัวนับแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 ขณะที่ค่าเงินหยวนก็อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 5 เดือน สู่ระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ 

 

แรงกดดันต่อเศรษฐกิจจีนมาจากทั้งวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ทำให้ยอดขายชะลอลง และปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นกับผู้พัฒนาอสังหาหลายราย โดยภาคอสังหาคิดเป็นสัดส่วนราว 20% ของ GDP จีน ขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็ลดลงหลังจากที่รัฐบาลท้องถิ่นมีหนี้สูงขึ้นมาก

 

กิจกรรมการก่อสร้างที่ลดลงส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ ‘ทองแดง’ ถือเป็นหนึ่งในมาตรวัดสุขภาพเศรษฐกิจที่สำคัญ เพราะถูกนำไปใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม มีราคาลดลงต่ำกว่า 8,000 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่แร่เหล็กร่วงลงมาสู่ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อตัน

 

จีนถือเป็นประเทศผู้ซื้อสินค้าอย่างน้ำมันดิบและทองแดงรายใหญ่ที่สุดของโลก ขณะที่อุตสาหกรรมเหล็กของจีนคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้แร่เหล็กทั้งโลก 

 

นีล เบเวอริจ นักกลยุทธ์อาวุโสของ Sanford C.Bernstein กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้มีความคาดหวังมากมายว่าจะเห็นการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของจีนในปีนี้ แต่สิ่งที่เราเห็นอยู่ตอนนี้คือ การฟื้นตัวที่ค่อนข้างอ่อนแอในแง่ของการผลิตภาคอุตสาหกรรม เราไม่เห็นการบริโภคฟื้นตัวได้มากอย่างที่คาด และการส่งออกก็มีปัญหา” 

 

ในช่วง 2-3 เดือนต่อจากนี้อาจเป็นช่วงที่ความต้องการใช้วัตถุดิบต่างๆ ที่อิงกับธุรกิจดั้งเดิมจะชะลอลง ความคึกคักของโครงการลงทุนของจีนที่มักจะเกิดขึ้นในไตรมาส 2 ชะลอตัวลง ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงซบเซาในฤดูร้อนตามปกติ 

 

ขณะที่ภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอย อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น และเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า กลายเป็นปัจจัยกดดันต่อสินค้าโภคภัณฑ์ที่ซื้อขายด้วยเงินดอลลาร์

 

แม้ว่า Goldman Sachs Group ยังคาดว่าจะเห็นราคาทองแดงฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับ 10,000 ดอลลาร์ต่อตันได้ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของปีนี้ แต่การฟื้นตัวของความต้องการใช้เหล็กของจีนอาจใช้เวลาถึง 5 ปีกว่าจะกลับไปสู่ระดับเดิม

 

อย่างไรก็ตาม ชางยองจิน กรรมการผู้จัดการ Global Head of Metals ของ CME Group ศูนย์ซื้อขายแลกอนุพันธ์ที่อิงกับสินค้าโภคภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ กล่าวว่า ช่วงปี 2016-2020 ปริมาณการซื้อขายผ่าน CME Group เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11% ต่อปี ก่อนจะชะลอลงในช่วงหลังออกจากโควิดปี 2021-2022 และเริ่มฟื้นตัวอีกครั้งในปีนี้ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะต่างๆ 

 

“ขณะนี้ตลาดของโลหะที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ กำลังใหญ่ขึ้น หนึ่งในกลุ่มที่น่าสนใจตอนนี้คือโลหะสำหรับผลิตแบตเตอรี่ เช่น โคบอลต์ หรือลิเธียม แต่หนึ่งในสิ่งที่หลายคนกังวลคือ ราคาโลหะเหล่านี้กำลังพุ่งขึ้นอย่างมากในทางเดียว พร้อมความผันผวนที่มากขึ้น”

 

โคบอลต์ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้สถานะคงค้าง (Open Interest) ของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของโคบอลต์ได้พุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์จำนวนกว่า 20,000 สัญญา ในขณะที่สถานะคงค้างของลิเธียมเพิ่มขึ้นแตะ 1,500 สัญญา พร้อมปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยรายวันที่เพิ่มขึ้นกว่า 3.5 เท่าจากปี 2022 

 

ด้วยความต้องการที่มากขึ้น ทำให้ CME เข้ามามีบทบาทในแง่ของการบริหารความเสี่ยงท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของพลังงานโลก ซึ่งต้องอาศัยโลหะเหล่านี้มากขึ้น ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนช่วยให้ทุกคนสามารถล็อกราคาวัตถุดิบและคาดเดาอัตรากำไรของธุรกิจได้ 

 

“อย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น Tesla บริษัทไม่สามารถเปลี่ยนแปลงราคาขายสินค้าในแต่ละวันไปตามต้นทุนวัตถุดิบได้ หรืออย่างการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่อาจใช้เวลา 2-3 ปี อาจเป็นเรื่องยากที่จะประเมินต้นทุนหากไม่ล็อกต้นทุนวัตถุดิบไว้ก่อน” 

 

ชางยองจินกล่าวต่อว่า บทบาทสำคัญของ CME คือการเป็นเครื่องในการบริหารความเสี่ยงและสะท้อนราคาสินค้าต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการให้บริการใหม่ๆ เช่น คาร์บอนเครดิต ที่จะกลายเป็นส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานหลังจากนี้ 

 

ขณะเดียวกัน CME ยังได้ขยายเครือข่ายเพื่อให้การส่งมอบสินค้าจริงทำได้สะดวกมากขึ้น โดยปัจจุบันมีศูนย์โลจิสติกส์กระจายอยู่ทั้งในอเมริกา เอเชีย และยุโรป อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอาจไม่เร็วอย่างที่ประเมินกันไว้ เพราะยังจำเป็นจะต้องขยายโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising