จับตาจีนเร่งส่งออกสินค้าราคาถูกมากขึ้น! หวังดัน GDP ให้ถึงเป้า 5% ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกรีบตั้งการ์ด เตรียมมาตรการตอบโต้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจในประเทศตัวเอง
ท่ามกลางเศรษฐกิจภายในประเทศจีนที่ซบเซา ทำให้บริษัทต่างๆ ในจีนหันไปส่งออกสินค้า ‘ส่วนเกิน’ ไปยังต่างประเทศแทน ทำให้ราคาส่งออก (Export Prices) ของสินค้าหลักๆ 60% ‘ลดลง’ โดยราคาสินค้าที่ลดลง รวมไปถึงสินค้าประเภทวัสดุอุตสาหกรรม ไปจนถึงแผงวงจรรวมและอาหาร
แม้เศรษฐกิจจีนดูซบเซา แต่การส่งออกยังแกร่ง!
สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยเมื่อวันเสาร์ (30 สิงหาคม) ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของจีนประจำเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 49.1 ลดลง 0.3 จุดจากเดือนก่อนหน้า และต่ำกว่า 50 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันแล้ว
ทั้งนี้ ดัชนีที่มีค่าน้อยกว่า 50 หมายถึงการหดตัวในภาคอุตสาหกรรมการผลิต แต่หากมากกว่า 50 จะหมายถึงการขยายตัว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจจีนดูเหมือนจะซบเซาลง แต่การส่งออกยังคงแข็งแกร่ง ตามข้อมูลสถิติการค้าเบื้องต้นในเดือนกรกฎาคมพบว่า มูลค่าการส่งออกของจีนในรูปเงินดอลลาร์อยู่ที่ 300,500 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน
เนื่องจากจีนตั้งเป้าดัน GDP ให้ขยายตัว 5% ทั้งปีนี้ ขณะที่รัฐบาลจีนยังไม่ได้นำมาตรการใหญ่ใดๆ มาใช้เพื่อสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้นการพึ่งพา ‘การส่งออกสินค้าราคาถูก’ ก็อาจเร่งตัวขึ้นอีกในช่วงครึ่งปีหลังได้
ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 4.7% จากปีก่อน ชะลอตัวลงเล็กน้อยจาก 5.3% ในไตรมาสแรกของปีนี้
การส่งออกเงินฝืดกำลังสร้างความขัดแย้งกับประเทศอื่นๆ
จากสินค้าทั้งหมด 17 รายการในสถิติการค้าเบื้องต้นพบว่า 60% มีราคาต่อหน่วยลดลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องใช้ในบ้าน และวงจรรวม
เมื่อจำแนกตามหมวดหมู่พบว่า ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กลดลง 9% ท่ามกลางภาวะถดถอยในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ทำให้ความต้องการในการก่อสร้างลดลง และภาวะการผลิตเหล็กดิบที่สูงกว่าการบริโภค ส่งผลให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ภาวะเหล็กส่วนเกินอย่างรุนแรง (Serious Iron Surplus)
การส่งออกเหล็กของจีนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 22% ในปีนี้ อยู่ที่ 61.23 ล้านตัน (ในช่วงเดือนมกราคม-กรกฎาคม) ซึ่งเท่ากับปี 2558 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยราคาเหล็กที่ลดลงในประเทศส่งผลกระทบต่อราคาส่งออกเหล็กด้วย
การส่งออกสินค้าราคาถูกเกิดขึ้นหลังจากอุปสงค์ (Demand) ภายในประเทศยังอ่อนแอ โดยราคาสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในจีนยังลดลงจากยอดขายคอนโดที่ซบเซา
ทำให้สินค้าที่ไม่สามารถขายในประเทศได้จะถูกผลักออกสู่ต่างประเทศ โดยต้นทุนต่อหน่วยของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านไปต่างประเทศ พบว่าลดลง 5% ราคาต่อหน่วยส่งออกของวงจรรวม เช่น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ลดลง 10% ราคาธัญพืชลดลงต่อเนื่องเป็นเวลา 4 เดือนจนถึงเดือนกรกฎาคม ราคาอาหารทะเลยังคงลดลง 10-20% และราคารองเท้าลดลง 11%
จีนส่งออกสินค้าราคาถูกกระทบประเทศต่างๆ อย่างไร
การหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องของสินค้าและวัสดุราคาถูกที่ผลิตในจีน อาจส่งผลให้รายได้และการจ้างงานของบริษัทในประเทศอื่นๆ ลดลง
โดยล่าสุด สหภาพยุโรปขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีนในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังวางแผนที่จะขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าและเหล็กกล้าของจีนอีกด้วย
ในเดือนกรกฎาคม สหรัฐฯ กล่าวว่านำมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อป้องกันการนำเข้าเหล็กของจีนผ่านเม็กซิโก บราซิล และประเทศลาตินอเมริกาอื่นๆ ก็เพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กเช่นกัน โดยเชื่อว่าเหล็กจากจีนจะแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากผู้ผลิต
อ้างอิง: