การแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เข้มข้นขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการก้าวเข้ามาของบริษัท EV สัญชาติจีน เพื่อบุกตลาดทั่วโลก อย่างในยุโรปเราก็ได้เห็นแบรนด์ EV จีนพยายามเข้าไปตีตลาดและท้าชนกับแบรนด์รถยนต์อื่นๆ ที่ครองตลาดมานาน เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ก่อนหน้านี้เจ้าตลาดคือแบรนด์รถยนต์ของญี่ปุ่น แต่เมื่อเปลี่ยนเข้าสู่ยุคของ EV ดูเหมือนว่าความเป็นเจ้าตลาดของญี่ปุ่นกำลังถูกสั่นคลอน
เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา BYD ค่ายรถยนต์ EV ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ประกาศแผนในการสร้างโรงงานผลิตนอกประเทศเป็นครั้งแรกที่จังหวัดระยอง หลังจากนั้น Great Wall Motor ก็เข้ามาตั้งฐานการผลิตในจังหวัดเดียวกัน ขณะที่ Hozon New Energy Automobile ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ EV จีนที่เข้ามาเปิดโชว์รูมในไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนกำลังเฟื่องฟู แต่ความหวือหวานี้จะอยู่ได้นานอีกเท่าไร?
- รู้จัก BYD แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าชื่อนี้ ที่ Tesla อยากได้ และกำลังจะเข้ามาทำตลาดในไทยเป็นครั้งที่ 3
- เปิดตัว ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ THE NEW BMW i7 ราคาเริ่มต้น 7.59 ล้านบาท วิ่งไกลสุด 625 กม./ชาร์จ
ค่ายรถยนต์ของจีนไม่ได้เข้ามาตั้งแค่โชว์รูมและขยายห่วงโซ่อุปทาน แต่ยังได้ส่งออกรถ EV มาที่ประเทศอีกด้วย โดย 9 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขการส่งออกรถ EV มายังไทยเพิ่มขึ้นถึง 176% เป็น 59,375 คัน และทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ที่นำเข้ารถ EV จากจีน ขณะที่อันดับ 1 และอันดับ 2 คือ เบลเยียม และสหราชอาณาจักร
เมื่อปี 2021 จีนส่งออกรถ EV มาไทย 40,660 คัน เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจากเมื่อปี 2019-2020 ซึ่งอยู่ที่เพียงประมาณปีละ 3-4 พันคัน ก่อนหน้านี้ ไทยถือเป็นฮับการผลิตรถยนต์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 10 ของโลก จนได้ฉายาว่า ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่มีนโยบายให้เงินสนับสนุนจำนวน 150,000 บาท กับผู้ที่จะซื้อรถ EV ส่วนบุคคล นอกจากนี้ยังมีนโยบายสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่เพื่อช่วยลดต้นทุน และก่อนหน้านั้นก็มีนโยบายลดภาษีให้กับผู้ผลิต EV คิดเป็นมูลค่าราว 4.3 หมื่นล้านบาท
รถ EV จากจีนเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจนถึงสิ้นปี 2023 แลกกับการที่บริษัทผู้ผลิตต้องเข้ามาตั้งฐานการผลิตในต้นปี 2024 ทั้งนี้ ไทยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรถ EV เป็น 30% ภายในปี 2030
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า นโยบายของเราสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการที่จะก้าวไปเป็นฮับการผลิต EV ของโลก นโยบายเหล่านี้ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงผู้ผลิตรายใหม่เข้ามา แน่นอนว่าส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแบรนด์จีน ก่อนที่จะมีผู้ผลิตรายอื่นๆ ตามมา
แน่นอนว่ามูลค่าการลงทุนทางตรง (FDI) จากจีนตลอด 9 เดือนของปีนี้ เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรม EV
อัลเลน ทอม อับราฮัม นักวิเคราะห์ของ BloombergNEF ด้านยานยนต์ กล่าวว่า ด้วยนโยบายสนับสนุนที่เพิ่มขึ้น ทำให้จากนี้ไปจนถึงปี 2024 หรือ 2025 ผู้ผลิต EV จีนมีโอกาสที่จะส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศไทยและสามารถทดสอบตลาดได้
อย่างไรก็ตาม ตลาด EV ของไทยยังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ความต้องการใช้ในภูมิภาคมีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้นมาก โดย BNEF คาดการณ์ว่ายอดขายรถ EV ส่วนบุคคลในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นจาก 31,000 คันในปีนี้ เป็น 2.7 ล้านรายในปี 2040
ในมุมของ Toyota Motor ซึ่งเป็นเจ้าตลาดในไทย ก็กำลังพยายามที่จะเร่งขยายธุรกิจ EV ขึ้นมาให้ทัน โดยมีแผนจะเปิดตัวรถ EV ในปลายปีนี้
“ไทยเป็นฮับที่สำคัญสำหรับการพัฒนา การผลิต และการส่งออกในเอเชีย เราอยู่ในไทยมา 60 ปี Toyota อยากที่จะนำเสนอทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรามั่นใจว่าจะยังรักษาส่วนแบ่งการตลาดของเรา และสามารถขยายตลาดได้ต่อเนื่อง” Toyota ระบุ
เชื่อว่าการแข่งขันของอุตสาหกรรม EV จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และปัจจุบันอาจจะยังเร็วเกินไปที่จะกล่าวว่าแบรนด์ EV ของจีนจะเป็นเจ้าตลาดในไทย โดยอับราฮัมของ BNEF กล่าวว่า “ค่ายรถยนต์ของญี่ปุ่นกำลังรอให้เกิด Economy of Scale ก่อนที่จะโดดเข้ามาในอุตสาหกรรม EV เต็มตัว”
อ้างอิง: