จีนกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตด้านพลังงาน ไฟฟ้า ครั้งใหญ่ในปีนี้ แม้จะมีความกังวลว่าอาจจะเลวร้ายเหมือนปีที่แล้ว แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าวิกฤตรอบนี้จะไม่รุนแรงเท่า เพราะสาเหตุที่เกิดวิกฤตมาจากสภาวะอากาศแปรปรวน ซึ่งเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วก็จะกลับสู่ภาวะปกติ
แลร์รี ฮู (Larry Hu) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของ Macquarie วิเคราะห์ว่า การตัดกระแสไฟของจีนในปีนี้ไม่น่าจะยืดเยื้อเกินช่วงฤดูร้อน เนื่องจากภาวะวิกฤตไฟฟ้าในปีนี้แตกต่างจากปีที่แล้ว
การจัดสรรพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ต่างๆ ของจีน รวมถึงบางส่วนของภูมิภาคแยงซี ได้สร้างความกังวลว่าจะเกิดวิกฤตขาดแคลนไฟฟ้าซ้ำรอยปีที่แล้ว ซึ่งได้สร้างความเสียหายแก่หลายพื้นที่ภาคการผลิตหลักของจีน
โดยในปีนี้เหตุการณ์ล่าสุดคือการสั่งปิดไฟส่องสว่างยามค่ำคืนในย่าน The Bund ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของนครเซี่ยงไฮ้ ในวันที่ 22-23 สิงหาคม โดยทางการจีนอ้างว่าเพื่อประหยัดพลังงาน
ฮูกล่าวว่า วิกฤตขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าของจีนในปีนี้แตกต่างไปจากวิกฤตเมื่อปีที่แล้ว โดยวิกฤตปีนี้เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวนเป็นหลัก ซึ่งน่าจะทุเลาลงเมื่อคลื่นความร้อนเริ่มสงบ เทียบกับวิกฤตปีที่แล้วที่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวในด้านการจัดหาไฟฟ้า
เขากล่าวว่า นับตั้งแต่จีนประสบปัญหาวิกฤตพลังงานทั่วประเทศเมื่อ 1 ปีที่แล้ว ความกังวลก็เพิ่มขึ้นว่าอาจเกิดขึ้นอีกครั้งในปีนี้ แต่ในมุมมองของเรา โอกาสที่จะเป็นเช่นนั้นมีน้อย เพราะสาเหตุและขนาดของการจัดสรรพลังงานของทั้งสองเหตุการณ์นั้นแตกต่างกันมาก
ปัจจุบันพื้นที่ของแม่น้ำแยงซีและจังหวัดเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนกำลังต่อสู้กับคลื่นความร้อนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์และภัยแล้งที่รุนแรง โดยอุณหภูมิได้แผดเผาและขวางการเติบโตของพืชผล และคุกคามการทำปศุสัตว์
ด้วยปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงสู่แม่น้ำแยงซีที่ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขื่อน Three Gorges ส่งผลให้ระดับน้ำในแหล่งกักเก็บไฟฟ้าพลังน้ำลดลง และทำให้การผลิตพลังงานลดลงไปด้วย
ในมณฑลเสฉวน การจ่ายไฟฟ้าให้กับโรงงานต่างๆ ถูกลดสัดส่วนลง เพื่อจ่ายไฟฟ้าไปสู่ภาคครัวเรือนแทน ซึ่งต่างจากวิกฤตพลังงานในเดือนกันยายนและตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งในเวลานั้นทั้งครัวเรือนและภาคธุรกิจถูกบังคับให้ลดการใช้ไฟฟ้าและลดการสำรองไฟฟ้าลง ในขณะที่สิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะ เช่น สัญญาณไฟจราจร ถูกปิดเพื่อประหยัดพลังงาน
สาเหตุของวิกฤตในปีที่แล้วส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงงานผลิตไฟฟ้าได้ลดการผลิตลง เนื่องจากต้นทุนถ่านหินที่สูง ซึ่งไม่สามารถชดเชยกับการขายไฟฟ้าแบบคงที่ได้ แต่ผู้ผลิตไฟฟ้าก็ไม่สามารถปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าได้ เนื่องจากทางการจีนกำหนดอัตราคงที่ไว้ อีกทั้งรัฐบาลท้องถิ่นได้ขับเคลื่อนโครงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างแข็งขัน รวมถึงลดอัตราการใช้ไฟฟ้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายประจำปี
ส่วนวิกฤตปีนี้นั้นสาเหตุหลักมาจาก 2 ปัจจัย คือ อากาศที่ร้อนผิดปกติ และภัยแล้ง โดยข้อมูลจากสำนักอุตุนิยมวิทยาจีนระบุว่า คลื่นความร้อนในปีนี้ยังคงยาวนานกว่า 64 วัน และยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 1961
ไดอานา เซีย (Diana Xia) รองผู้อำนวยการของ Fitch Ratings กล่าวว่า การใช้พลังงานของภาคครัวเรือนของจีนในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้น 26.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม Fitch เชื่อว่าการจัดสรรพลังงานไฟฟ้าอย่างจำกัดจะไม่ลากยาวไปเกินกว่าช่วงฤดูร้อน เพราะท้ายที่สุดแล้วอุณหภูมิก็จะปรับลดลง
“ในระดับประเทศ เรายังคงสมมติฐานเดิมสำหรับการใช้ไฟฟ้าของงจีนในปีนี้ คือคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไม่มาก และอยู่ในกรอบตัวเลขหลักเดียว ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ GDP จีนล่าสุด ที่ 3.7%” เซียกล่าว
ฮูกล่าวเพิ่มว่า ในด้านของผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในปีนี้ก็ต่างจากปีที่แล้วเช่นกัน โดยอ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนที่ระบุว่า การตัดหรืองดจ่ายไฟฟ้าในปีที่แล้วกดดันการเติบโตของ GDP จีนในไตรมาส 3 และกระทบต่อกำลังการผลิตและผลผลิตตามปกติ ทั้งนี้ จีนมีพื้นที่ภาคการผลิตหลักหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือกวางตุ้งซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเมื่อปีที่แล้วเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการตัดไฟ
ส่วนปีนี้มณฑลเสฉวนที่ได้รับผลกระทบจากการตัดไฟฟ้านั้นมีสัดส่วนด้านภาคการผลิตเพียง 4% ของการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน
นอกจากนี้อาจเกิดการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานของวัตถุดิบ เช่น ลิเธียม เนื่องจากมณฑลเสฉวนผลิตลิเธียมประมาณ 20% อะลูมิเนียม 5% และโพลีซิลิคอน 13% ในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะเป็นผลกระทบชั่วคราว
“แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะกลายเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นของผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็เป็นผลกระทบชั่วคราวเท่านั้น” ฮูกล่าว
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP