จีนเปิดเผยตัวเลขการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โต 6.1% ในปี 2019 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 1990 ท่ามกลางแรงกดดันจากปัญหาหนี้สาธารณะและภาวะชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่อัตราการเกิดของจีนลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเพิ่มความท้าทายให้กับรัฐบาลจีนมากขึ้นไปอีก
การเติบโตของเศรษฐกิจจีนตลอดทั้งปีที่ผ่านมาสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ส่วน GDP เฉพาะไตรมาสที่ 4 โต 6% ขณะที่รัฐบาลจีนกำหนดเป้า GDP ในปี 2019 ไว้ที่ 6-6.5%
การประกาศตัวเลข GDP ของทางการจีนมีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลได้ลงนามข้อตกลงการค้าเฟส 1 ฉบับประวัติศาสตร์กับสหรัฐฯ ส่งผลให้ความตึงเครียดทางการค้าคลี่คลายลงในระยะสั้น ท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอจนส่งผลให้การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอ่อนแอ ประกอบกับผลกระทบของสงครามการค้าที่มีต่อภาคการส่งออกของประเทศ
นอกจากนี้จีนยังเผชิญแรงกดดันจากอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาหมักหมมในระบบธนาคารจีน
ขณะที่อัตราการเกิดลดลงแตะระดับ 1.05% (10.50 ต่อ 1,000 คน) ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1949 หรือปีที่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเด็กเกิดใหม่ในปี 2019 ลดลง 5.8 แสนคนจากปีก่อนหน้า เหลือ 14.65 ล้านคน ซึ่งเป็นสัญญาณไม่สู้ดีว่าจีนอาจขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาวที่จะช่วยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 2 ทศวรรษข้างหน้า
นอกจาก GDP แล้ว จีนยังเผยข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญอย่างยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขกำลังการผลิต และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้วย
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จีนยังมองในแง่บวก โดย หลิวเฮ่อ รองนายกรัฐมนตรีจีน กล่าวต่อผู้สื่อข่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (15 มกราคม) ว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นในปี 2020 โดยที่จีนจะพึ่งพาการก่อหนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยลง แต่จะอาศัยการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมแทน
ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่าเศรษฐกิจจีนยังคงรักษาโมเมนตัมการเติบโตในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ได้ แต่เตือนว่ายังมีความเสี่ยงเชิงโครงสร้างและระบบ รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับวงจรทางเศรษฐกิจภายในประเทศ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: