×

เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณเข้าสู่ ‘ภาวะเงินฝืด’ จับตารัฐบาลงัดนโยบายการคลังและกระตุ้นการใช้จ่าย

10.08.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจจีน

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า จีนซึ่งเป็นมหาอำนาจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ได้เดินหน้าเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation) หลังระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไป ทั้งในส่วนของผู้บริโภคและฝั่งการผลิตของภาคธุรกิจปรับตัวลดลงเรื่อยๆ กลายเป็นแรงกดดันให้ภาครัฐ ในฐานะผู้กำหนดนโยบายเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินและการคลัง แม้ว่าจะมีสัญญาณว่าการลดลงของราคาเป็นเพียงชั่วคราว ซึ่งอาจทำให้จีนใช้มาตรการกระตุ้นอย่างเต็มที่ 

 

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคลดลง 0.3% ในเดือนกรกฎาคม ถือเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022 ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 โดยหดตัว 4.4% ต่างจากการสำรวจของ Bloomberg ที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดว่าราคาจะลดลง 0.4%

 

รายงานระบุว่า อุปสงค์ของผู้บริโภคที่ชะลอตัวในจีนประกอบกับอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำ รวมถึงการส่งออกที่ลดลงอย่างรวดเร็ว กำลังผลักดันให้บรรดาผู้ผลิตจีนต้องปรับลดราคาสินค้าเพื่อกำจัดสต๊อกส่วนเกิน ซึ่งแนวทางดังกล่าวอาจสร้างแรงกระเพื่อมไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะประเทศที่ธนาคารกลาง เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

 

ด้าน Shuang Ding หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Greater China และ North Asia ที่ Standard Chartered มองว่า ภาวะเงินฝืดในจีน “น่าจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และยุโรปอยู่ในระดับปานกลาง”

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความตึงเครียดในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้การเมืองในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศต้องออกมาตรการหรือนโยบายที่กลายเป็นลัทธิกีดกันทางการค้ามากขึ้น

 

Paul Cavey ที่ปรึกษา East Asia Econ ระบุว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้ว สินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกจากจีนไม่ได้ถูกมองว่าดีเหมือนเมื่อก่อน ในขณะที่ตลาดเกิดใหม่อาจยินดีต้อนรับราคาเครื่องจักรที่ลดลง

 

ขณะเดียวกัน แม้ว่าภาวะเงินฝืดจะช่วยลดราคาในตลาดโลกบางส่วน ผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศที่พัฒนาแล้วอาจมีจำกัด เนื่องจากการนำเข้าจากจีนมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยในการใช้จ่ายของผู้บริโภค เมื่อเทียบกับบริการที่ผลิตในท้องถิ่นของประเทศเหล่านั้น

 

นอกจากนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์มองว่าภาวะเงินฝืดในจีนเป็นสัญญาณเตือนเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากอุปทานของสินค้ายังคงมีมากกว่าอุปสงค์ และในขณะที่ผู้กำหนดนโยบายให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนการฟื้นตัว พวกเขาได้ส่งสัญญาณว่าจะไม่กระตุ้นเศรษฐกิจมากเท่ากับในช่วงขาลงครั้งก่อน

 

Robin Xing หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของ Morgan Stanley กล่าวว่า จีนกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืดอย่างไม่ต้องสงสัย และผู้กำหนดนโยบายจีน “จำเป็นต้องเร่งการใช้จ่ายของรัฐบาลทั้งหมด เพิ่มหนี้ภาครัฐ และดำเนินการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังร่วมกัน เพื่อทำลายกับดักภาวะเงินฝืดนี้”

 

ขณะเดียวกัน ภาวะเงินฝืดอาจทำให้เศรษฐกิจของจีนชะลอตัวเนื่องจากราคาที่ลดลงทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อสินค้าคงทน ขณะที่สำหรับบริษัทต่างๆ ราคาที่ลดลงสามารถลดการลงทุนได้โดยการเพิ่มต้นทุนหนี้เมื่อเทียบกับรายได้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า ‘หนี้ฝืด’ หรือ ‘Debt Deflation’

 

Bruce Pang หัวหน้าฝ่ายวิจัยจีนจาก Jones Lang LaSalle กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ หมายความว่ามีขอบเขตที่ธนาคารกลางของจีนจะผ่อนปรนนโยบายการเงิน ซึ่งรวมถึงการลดจำนวนธนาคารที่ต้องสำรองเงินสดไว้ และเพิ่มการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารนโยบายของรัฐ กระนั้นปัจจัยหลายอย่างจะจำกัดขอบเขตของการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน 

 

โดยในขณะที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งให้คำมั่นว่าจะเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มการสนับสนุนสำหรับตลาดที่อยู่อาศัยที่ซบเซา เหล่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ได้คาดหวังถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากปักกิ่งมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไปสู่ตัวขับเคลื่อนการเติบโตใหม่ ดังนั้นการตอบสนองของรัฐบาลจีนจะมีความคล้ายคลึงกับการตอบสนองต่อช่วงเงินฝืดในปี 1998 ซึ่งเป็นการกระตุ้นในเชิงโครงสร้างที่รัฐบาลจีนเพิ่มทุนให้กับธนาคารที่มีผลประกอบการต่ำกว่าทุน และลดขนาดภาคส่วนของรัฐก่อนที่จะเข้าร่วมองค์การการค้าโลก

 

ทั้งนี้ การขาดมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่คือเหตุผลที่นักเศรษฐศาสตร์ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของ GDP จีนในปีนี้ให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายอย่างเป็นทางการของจีนที่ประมาณ 5% โดยบางคนเห็นว่าเป้าหมายดังกล่าวมีความเสี่ยง เนื่องจากการส่งออกลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้และตลาดที่อยู่อาศัยที่อ่อนแอลง ซึ่งราคาบ้านในจีนลดลงตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 2015

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising