สถานีโทรทัศน์ Channel News Asia ของสิงคโปร์รายงานว่า จีนจะใช้การปรับลดอัตราส่วนเงินสำรองของธนาคาร (RRR) อย่างทันท่วงที ควบคู่ไปกับเครื่องมือนโยบายการเงินอื่นๆ เพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบให้เพียงพอ
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางความพยายามของรัฐบาลจีนในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศซึ่งได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดของโควิด และการชะลอตัวของอสังหาริมทรัพย์อย่างรุนแรง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สรุป 5 ประเด็นเศรษฐกิจสำคัญ จากสุนทรพจน์ ‘สีจิ้นผิง’ เปิดประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน
- ส่องรายชื่อ ‘5 แคนดิเดต’ ที่จะก้าวขึ้นมากุมบังเหียนเศรษฐกิจของพญามังกรในยุค ‘สี 3.0’
- จีนยกแผน GDI ของ ‘สีจิ้นผิง’ ขึ้นหิ้งตัวอย่างการมีส่วนร่วมรับมือความท้าทายระดับโลก
นายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง ซึ่งรับหน้าที่เป็นประธานการประชุมในครั้งนี้ กล่าวว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 “มีความสำคัญต่อการเติบโตทั้งปี” ดังนั้นขณะนี้จึงเป็น “ช่วงเวลาสำคัญ” ในการรวมรากฐานที่มั่นคงของเศรษฐกิจ
“เราจะใช้เครื่องมือนโยบายการเงิน เช่น การปรับลดอัตราส่วนเงินสำรองในเวลาที่เหมาะสมและทันท่วงที เพื่อรักษาสภาพคล่องที่เหมาะสมและเพียงพอ” หลี่เค่อเฉียงกล่าว
ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วทางธนาคารกลางจีน (PBOC) ซึ่งกำกับดูแลเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก จะปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี และจัดทำแผนภูมิแนวทางพื้นฐานของนโยบายของจีน
ล่าสุด PBOC ปรับลด RRR ซึ่งเป็นจำนวนเงินสดที่ธนาคารต้องถือเป็นทุนสำรองลง 0.25%ในเดือนเมษายน เมื่อศูนย์กลางการค้าของประเทศอย่างเซี่ยงไฮ้ประกาศล็อกดาวน์ทั้งเมือง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทุกอย่างหยุดชะงัก
Wen Bin หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ China Minsheng Bank กล่าวว่า ธนาคารกลางคาดว่าจะประกาศลด RRR อีก 0.25% เช่นเดียวกับในเดือนเมษายนในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
Yi Gang ประธานธนาคารกลางจีนกล่าวว่า PBOC ได้ใช้อัตราส่วนเงินสำรองของธนาคาร หรือ RRR มาแล้ว 13 ครั้งตั้งแต่ปี 2018 โดยลดอัตราส่วนเงินสำรองเฉลี่ยเหลือประมาณ 8% จาก 15% เพื่อช่วยสูบฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 10.8 ล้านล้านหยวน
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นเพียงไม่นาน หลังจากที่ธนาคารกลางจีนประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานไว้ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เนื่องจากเงินหยวนที่อ่อนค่าลงและเงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่องจำกัดความสามารถของปักกิ่งในการผ่อนปรนเงื่อนไขการเงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ
อ้างอิง: