“โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจเป็นเทรนด์แห่งกาลเวลาที่หวนกลับคืนไม่ได้”
นี่คือคำกล่าวของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ซึ่งถอดความมาจากสุนทรพจน์ตอนหนึ่งบนเวทีประชุม ‘ป๋ออ้าว’ (Boao Forum) ในมณฑลไห่หนาน ความสำคัญของถ้อยแถลงนี้คือการตอกย้ำแผนยุทธศาสตร์ของจีนว่าจะเดินหน้าส่งเสริมการบูรณาการของประชาคมการค้าทั่วโลก โดยไม่ฝืนเทรนด์การค้าในยุคดิจิทัลอันเชี่ยวกราก แม้ว่าจะเกิดบรรยากาศอันคุกรุ่นของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนขึ้นก็ตาม
การกล่าวสุนทรพจน์ครั้งสำคัญของสีจิ้นผิงมีขึ้นในช่วงเวลาที่นักลงทุนทั่วโลกกำลังประหวั่นพรั่นพรึงถึงการขยายตัวของลัทธิปกป้องการค้า (Protectionism) ที่มีชนวนมาจากนโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะที่ผู้นำจีนใช้เวทีนี้นำเสนอตัวเองในฐานะหุ้นส่วนระดับโลกที่ยึดมั่นในกฎกติกาการค้าระหว่างประเทศ
บนเกาะรีสอร์ตทางตอนใต้ของจีน สีจิ้นผิงประกาศเจตนารมณ์อันแน่วแน่ว่าจีนจะเปิดประตูต้อนรับบริษัทและนักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาดำเนินงานหรือลงทุนในจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งสวนกระแสนโยบายปกป้องการค้าของทรัมป์ที่มาพร้อมมาตรการจำกัดการลงทุนและกำแพงภาษี
สีจิ้นผิง ซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งประธานาธิบดีจีนเป็นสมัยที่ 2 มาหมาดๆ ได้ใช้เวทีประชุมนี้ กางพิมพ์เขียวนโยบายเศรษฐกิจจีนให้โลกได้รับรู้ โดยเน้นย้ำยุทธศาสตร์การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมอภิมหาโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ ‘One Belt One Road’ ในดำริของสีจิ้นผิง
3 กลยุทธ์สำคัญที่เขาพูดถึงในที่ประชุมคือ เร่งกรุยทางให้บริษัทประกันภัยจากต่างประเทศเข้าถึงตลาดจีนได้มากขึ้น รวมถึงขยายขอบเขตการดำเนินงานให้กับสถาบันการเงินต่างชาติ และลดกำแพงภาษีรถยนต์นำเข้า ตลอดจนผ่อนปรนข้อจำกัดการเป็นเจ้าของกิจการในอุตสาหกรรมยานยนต์สำหรับบริษัทจากต่างประเทศ
อย่างที่ทราบกันว่าจีนมีกลไกควบคุมภาคการเงินที่เข้มงวดกวดขัน เพื่อป้องกันความผันผวนและความเสี่ยงเชิงระบบต่างๆ แต่การส่งสัญญาณผ่อนคลายกฎเหล็กต่างๆ จะสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่เอื้อต่อการลงทุนยิ่งขึ้น
ที่ผ่านมาข้อจำกัดด้านการเป็นเจ้าของกิจการในบริษัทยวดยานของจีนได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่บีบให้ผู้ผลิตแบรนด์รถยนต์ชั้นนำของโลกต้องจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทท้องถิ่นจีน นอกจากนี้ความร่วมมือยังต้องแลกมาด้วยเงื่อนไขการแบ่งปันองค์ความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทจีนบางส่วนด้วย
อุปสรรคดังกล่าวทำให้ อีลอน มัสก์ ซีอีโอชื่อดังของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ Tesla ต้องร้องขอให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ เพราะบริษัทของเขาประสบปัญหาในการผลิตรถยนต์ในจีน
แต่สาสน์จากผู้นำจีนอาจคลายความกังวลให้กับนักธุรกิจทั่วโลกได้ ด้วยนโยบายสนับสนุนการลงทุนอย่างเสรีในอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมถึงเดินหน้าลดอากรนำเข้าสำหรับรถยนต์จากต่างประเทศตั้งแต่ปีนี้ นอกจากนี้สีจิ้นผิงยังรับปากจะแก้ปัญหาเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องสำคัญที่สหรัฐฯ หยิบยกมาเป็นเงื่อนไขทางการค้า
เปิดศักราชใหม่สู่เศรษฐกิจที่เปิดกว้าง
ประมุขแดนมังกรให้คำมั่นว่า ประตูสู่เศรษฐกิจจีนที่แง้มไว้จะค่อยๆ เปิดกว้างมากขึ้น และประตูบานนี้จะไม่มีวันปิดใส่นักลงทุนและบริษัทภายนอกอย่างแน่นอน
สีจิ้นผิงยังใช้เวทีนี้กล่าวต่อผู้นำภาคธุรกิจและการเมืองว่า จีนไม่ได้พยายามเพิ่มยอดเกินดุลการค้ากับต่างประเทศ แต่ในทางกลับกันจีนคาดหวังที่จะนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้คู่ค้าได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากจีนเช่นกัน
“ในโลกที่ต่างก็แสวงหาสันติภาพและการพัฒนา ความคิดที่จะก่อสงครามเย็นและทฤษฎีผู้ชนะกินรวบทั้งกระดานเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้ว” สีกล่าว
“ผู้ที่พยายามสวนกระแสการพัฒนาของโลก ท้ายที่สุดจะไปไม่ถึงไหน”
ความจำเป็นในการส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจที่เปิดกว้างของจีน
ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ทัศนะกับสำนักข่าว THE STANDARD ว่า ปัจจุบันถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพราะความชอบธรรมหนึ่งเดียวของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเวลานี้คือการที่พวกเขาสามารถบริหารเศรษฐกิจให้เติบโตในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนได้ นอกจากนี้รัฐบาลยังทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจีนในช่วงหลังมีการขยายตัวช้าลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อนที่เคยเติบโตในอัตราเลข 2 หลัก
ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่าผู้นำจีนพยายามผูกโยงเศรษฐกิจเข้ากับโครงการเส้นทางสายไหมในมิติต่างๆ เนื่องจากประเทศที่ตั้งอยู่ตามรายทางของโครงการ One Belt One Road จะเป็นช่องทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญของจีน อีกทั้งเพิ่มโอกาสในการขยับขยายระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างมั่นคง โดยโครงการดังกล่าวถือเป็นเดิมพันครั้งใหญ่เพื่อสร้างความชอบธรรมในอำนาจให้กับคณะผู้นำจีนต่อไป
ท่ามกลางภูมิทัศน์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกมองเป็นผู้นำที่พยายามฝืนกระแสโลกาภิวัตน์ ขณะที่สีจิ้นผิงพยายามก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดระเบียบโลกแทนที่สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม หนทางสู่การเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกของจีนยังคงทอดตัวอีกยาวไกล และยังไม่มีเครื่องการันตีว่าโครงการเส้นทางสายไหมจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขณะที่จีนกำลังถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ยังไม่นับรวมปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมต่างๆ นานาที่อาจเป็นชนวนให้เกิดความไม่สงบขึ้นได้ทุกเมื่อ ดังนั้นการมุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับรัฐบาลจีนภายใต้บริบทในปัจจุบัน
อ้างอิง: