×

นโยบายลดความเหลื่อมล้ำแดนมังกร บีบเศรษฐีชาวจีนตั้ง Family Office ในสิงคโปร์

30.03.2022
  • LOADING...
นโยบายลดความเหลื่อมล้ำแดนมังกร บีบเศรษฐีชาวจีนตั้ง Family Office ในสิงคโปร์

เศรษฐีจีนลุยตั้ง Family Office ในสิงคโปร์ต่อเนื่อง หวังหาที่หลบความเสี่ยงหลังกรณีจีนเร่งดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความมั่งคั่งให้ชนชั้นกลาง ขณะที่บริษัทผู้บริหาร Family Office คาดปีนี้กระแสแรงต่อเนื่อง 

 

นับตั้งแต่การประท้วงในฮ่องกงปี 2019 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจฮ่องกง เศรษฐีจีนจึงมองหาประเทศอื่นๆ เพื่อเป็นที่เก็บและสะสมความมั่งคั่ง โดยสิงคโปร์ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นตัวเลือกที่ดึงดูดที่สุด เพราะมีชุมชนที่พูดภาษาจีนกลางขนาดใหญ่ และไม่มีภาษีความมั่งคั่งไม่เหมือนหลายๆ ประเทศ

 

นอกจากนั้น การยกระดับกฎเกณฑ์ทางธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจการศึกษา และออกนโยบายส่งเสริมความร่ำรวยอย่างทั่วถึง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ก็เป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันให้เศรษฐีชาวจีนเข้าไปตั้ง Family Office ในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเช่นกัน 

 

โดย Family Office หรือสำนักงานธุรกิจครอบครัว (FO) คือหน่วยงานที่บริหารจัดการและดูแลกิจการ การบริหารความมั่งคั่งหรือสินทรัพย์ของเจ้าของธุรกิจครอบครัว สมาชิกในครอบครัวของธุรกิจครอบครัว

 

สำนักข่าว CNBC จัดทำสัมภาษณ์พิเศษ กรณีศึกษาเศรษฐีจีนนิยมเข้าไปตั้ง Family Office ในประเทศสิงคโปร์ และได้ข้อค้นพบดังนี้ 

 

1. เศรษฐีจีนไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัยหากจะเก็บเงินไว้ในประเทศจีน 

 

Jenga ซึ่งเป็นบริษัทบัญชีและบริการองค์กรที่ก่อตั้งมากว่า 5 ปี ระบุว่า แม้เศรษฐีจีนจะเชื่อว่ามีโอกาสมากมายที่จะเพิ่มความมั่งคั่งในประเทศจีน แต่พวกเขาไม่แน่ใจในเรื่องความปลอดภัย หากว่าจะเก็บเงินไว้ที่นั่น

 

โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีการสืบค้นเกี่ยวกับการตั้ง Family Office ในสิงคโปร์ เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยผู้ต้องการคำตอบส่วนมากคือชาวจีน

 

ไอริส ซู ผู้ก่อตั้ง บริษัท Jenga ให้ข้อมูลว่า ลูกค้าของเธอประมาณ 50 คน ได้เปิด Family Office ในสิงคโปร์ โดยแต่ละแห่งมีทรัพย์สินอย่างน้อย 10 ล้านดอลลาร์

 

ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนได้สร้างเศรษฐีพันล้านหลายร้อยคนในเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ และมีหลายคนติดอันดับมหาเศรษฐีที่จัดอันดับโดยนิตยสารชื่อดังอย่าง Forbes โดยล่าสุด มีจำนวนมหาเศรษฐีทั้งหมดในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 626 ราย เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา ที่มีมหาเศรษฐี 724 รายเท่านั้น

 

2. กังวลนโยบาย ‘กระจายความร่ำรวย’ 

 

ไรอัน ลิน ผู้อำนวยการของ Bayfront Law ในสิงคโปร์ กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 2019 ที่เริ่มมีเหตุจลาจลในฮ่องกง กระแสการตั้ง Family Office เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในกลุ่มเศรษฐีชาวจีน และความต้องการถูกกระตุ้นอีกครั้งเมื่อปี 2021 ที่จีนมีปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์การทำธุรกิจ เช่น ธุรกิจการศึกษา อสังหาริมทรัพย์ และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อตอบสนองนโยบายลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน กระจายความร่ำรวยเพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชนชั้นกลางในจีน 

 

ไรอันกล่าวว่า ลูกค้าของ Bayfront Law ไม่ได้มีแค่เศรษฐีจีนเท่านั้น เศรษฐีชาวอินเดีย อินโดนีเซีย และยุโรปก็เพิ่มเช่นกัน 

 

ทั้งนี้ ประเทศจีนมีการควบคุมเงินทุนอย่างเข้มงวด โดยกำหนดวงเงินอย่างเป็นทางการที่ 50,000 ดอลลาร์ต่อปีสำหรับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในต่างประเทศ ซึ่งจะจำกัดความสามารถของมหาเศรษฐีในการเคลื่อนย้ายเงินออกนอกประเทศ

 

แต่แม้จะมีการควบคุมเงินทุน แต่เศรษฐีชาวจีนจำนวนมากยังคงมาเปิด Family Office ด้วยเงินทุนตามที่กำหนด เนื่องจากธุรกิจที่สร้างรายได้ส่วนใหญ่อยู่นอกแผ่นดินใหญ่

 

3. Family Office เป็นหนึ่งในวิธีการย้ายถิ่นฐาน

 

การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านการเดินทางระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยเร่งให้เศรษฐีชาวจีนสนใจการมาตั้ง Family Office ในสิงคโปร์มากขึ้น หนึ่งในความสนใจคือ สิงคโปร์เปิดทางให้กับนักลงทุนรายใหญ่ที่มีเงินลงทุนอย่างน้อย 2.5 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 1.8 ล้านดอลลาร์) สามารถสมัครเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรได้

 

ขณะที่ทางฝั่งจีนนั้น นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดเป็นต้นมา รัฐบาลจีนสามารถระงับการออกหนังสือเดินทางและการบริการต่ออายุของประชาชนได้ โดยอ้างเหตุผลในเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาด 

 

ธุรกิจบริหาร Family Office เฟื่องฟู 

สำนักข่าว CNBC ระบุว่า มหาเศรษฐีหลายคนจากทั่วโลกใช้ Family Office เพื่อบริหารความมั่งคั่ง และเสน่ห์อีกอย่างของสิงคโปร์ก็คือทำเลที่ตั้งที่ทำให้นักลงทุนได้ใกล้ชิดกับโอกาสการลงทุนอื่นๆ ในเอเชีย

 

ตั้งแต่ปลายปี 2020 เรย์ ดาลิโอ ผู้ก่อตั้ง Bridgewater และ Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้ง Google ได้เปิด Family Office ในสิงคโปร์เพื่อใช้ประโยชน์จากนโยบายภาษีที่เป็นมิตร ทั้งนี้ ตามข้อมูลของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ พบว่าในปี 2020 มี Family Office ประมาณ 400 แห่งในสิงคโปร์ 

 

ทางด้านบริษัทท้องถิ่นที่ทำธุรกิจบริหาร Family Office ในสิงคโปร์ คาดว่าปัจจุบันมีครอบครัวเศรษฐีอีกหลายร้อยรายอยู่ระหว่างพิจารณาจัดตั้ง Family Office ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้บริษัทที่รับจ้างบริหาร Family Office ขยายกิจการ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยบางบริษัทได้เพิ่มพนักงานขึ้น 25% ในปี 2021 ที่ผ่านมา 

 

คาดกระแสแรงต่อเนื่อง

ไอริส ซู ระบุว่า ความวุ่นวายทางเศรษฐกิจและการเมืองปัจจุบัน อาจทำให้ลูกค้าบางรายยุติแผนการเปิด Family Office ในสิงคโปร์ไปบ้าง แต่จากการสอบถามลูกค้าเศรษฐีชาวจีน พบว่ายังมีความต้องการเข้ามาตั้ง Family Office อยู่อีกมาก จึงคาดการณ์ว่าธุรกิจบริหาร Family Office ในปีนี้จะเติบโตใกล้เคียงกับปี 2021 ที่ผ่านมา 

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาว่าเสน่ห์ของสิงคโปร์จะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้หรือไม่ โดยเฉพาะฮ่องกง ซึ่งเป็นที่ยอมรับในความเป็นศูนย์กลางทางการเงิน โดยล่าสุด สิงคโปร์กำลังพิจารณาจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงภาษีกำไรจากการลงทุน เงินปันผล และภาษีความมั่งคั่งสุทธิสำหรับบุคคล 

 

ซูกล่าวอีกว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินของฮ่องกงมีประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่น่าสนใจมาก และตอนนี้ผู้จัดการสินทรัพย์ของฮ่องกงบางคนกำลังเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อขยายฐานลูกค้า 

 

“หากสิงคโปร์ไม่สามารถให้บริการการจัดการความมั่งคั่งได้ ทรัพย์สินของจีนจะยังคงได้รับการจัดการโดยผู้เชี่ยวชาญจากฮ่องกงตามเดิม” ซูกล่าว

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising