สหรัฐอเมริกาเชื่อว่า การที่ หลี่ซ่างฝู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีน หายหน้าหายตาจากสาธารณะไปนานกว่า 2 สัปดาห์นั้น เป็นเพราะเขากำลังถูกปักกิ่งสอบสวนและถูกปลดออกจากตำแหน่ง เนื่องจากพัวพันการทุจริตคอร์รัปชันขณะยังดำรงตำแหน่งในกองทัพ ซึ่งถือเป็นเค้าลางความวุ่นวายล่าสุดในรัฐบาลของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ 3 คน และบุคคลอีก 2 คนที่ได้รับทราบข้อมูลข่าวกรองเกี่ยวกับหลี่ซ่างฝู เปิดเผยกับ Financial Times ว่า วอชิงตันสรุปว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีน ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม ถูกปลดจากตำแหน่งแล้ว แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ลงลึกเกี่ยวกับการสอบสวน
หากข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องจริง หลี่ ซึ่งไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม จะกลายเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนคนล่าสุดที่ถูกถอดออกจากตำแหน่ง หลังจากเดือนที่แล้วได้ถอดทหารยศนายพล 2 นายออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการในกองกำลังจรวด (Rocket Force) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศ รวมถึงการหายตัวไปอย่างไม่ทราบสาเหตุของ ฉินกัง รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีนในขณะนั้น ก่อนจะมีข่าวตามมาว่าเขาถูกปลดออกจากตำแหน่งในเดือนกรกฎาคมหลังเข้ารับตำแหน่งได้ 7 เดือน
นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กองทัพจีนยังได้เปิดการสอบสวนและค้นหาเบาะแสจากประชาชนเกี่ยวกับคดีรับสินบนในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพย้อนหลังไปในเดือนตุลาคม 2017 โดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่าเหตุใดจึงเจาะจงไปที่เดือนและปีดังกล่าวโดยเฉพาะ อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่า หลี่เป็นหัวหน้าแผนกจัดซื้ออุปกรณ์ในระหว่างเดือนกันยายน 2017 ถึงตุลาคม 2022
ปัจจุบัน นอกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว หลี่ยังเป็น 1 ใน 5 มนตรีแห่งรัฐ (State Councilor) ซึ่งมีความอาวุโสกว่ารัฐมนตรีปกติ หากหลี่ถูกถอดออกจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เขาจะเป็นสมาชิกคณะรัฐมนตรีคนที่ 2 ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งภายในช่วง 3 เดือน ต่อจากฉินกัง
“มันอาจจะเลวร้ายยิ่งกว่านั้น” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนหนึ่งบอกกับ The Washington Post โดยกล่าวเป็นนัยถึงความเป็นไปได้ที่ปักกิ่งอาจเดินหน้าปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นต่อไป
ข่าวดังกล่าวเกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจาก Reuters รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (14 สิงหาคม) ว่า หลี่ถอนตัวจากการประชุมประจำปีกับเจ้าหน้าที่กลาโหมเวียดนามเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยปักกิ่งอ้างเหตุผลด้านสุขภาพ ซึ่งคล้ายกับเมื่อครั้งที่อธิบายเกี่ยวกับการหายตัวไปของฉินกัง ก่อนที่เขาจะถูกปลดจากตำแหน่งในเวลาต่อมา
The Washington Post รายงานอ้างเจ้าหน้าที่จีนรายหนึ่งว่า หลี่ใกล้จะถูกปลดออกจากตำแหน่งแล้ว โดยเจ้าหน้าที่รายดังกล่าวระบุว่ามีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพ ไม่ใช่การคอร์รัปชัน อย่างไรก็ตาม บุคคล 2 คนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของจีนบอกกับ The Washington Post ว่า คนส่วนใหญ่ลงความเห็นว่าการหายตัวของหลี่นั้นเกี่ยวข้องกับการรับสินบนขณะที่เขารับผิดชอบด้านการจัดซื้อจัดจ้าง
ในระหว่างการตรวจเยี่ยมกองทัพเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สีจิ้นผิงเรียกร้องให้กองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) มี ‘ความซื่อสัตย์และความสามัคคีในระดับสูง’ ซึ่งยิ่งกระตุ้นให้เกิดการคาดเดาเกี่ยวกับการหายตัวไปของหลี่
ถึงแม้ความพยายามในการเดินหน้าปราบปรามการคอร์รัปชันที่ดำเนินมาอย่างยาวนานของสีจะสะดุดลง แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า สียังคงยึดอำนาจในกองทัพไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
“หากการกวาดล้างที่ถูกกล่าวหาเป็นจริง เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าสีสามารถถอดถอนเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงหลายนายได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า การควบคุมกองทัพของสีจิ้นผิงยังคงแข็งแกร่ง” เหวินตี่ซุง นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าว
“อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เกิดขึ้นยังเผยให้เห็นจุดอ่อนเรื่องการเลื่อนตำแหน่งและคัดกรองบุคลากรของ PLA ด้วยเช่นกัน เพราะหากเจ้าหน้าที่เหล่านี้มีปัญหาจนต้องกำจัดทิ้ง พวกเขาก็ไม่ควรได้รับการเลื่อนตำแหน่งตั้งแต่แรก” เขากล่าวเสริม
ด้านกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ไม่ได้ตอบคำถามของสื่อเกี่ยวกับรายงานข่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีนถูกปลดออกจากตำแหน่ง แต่เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสื่อสารที่เปิดกว้างและความโปร่งใสระหว่างกองทัพสหรัฐฯ กับกองทัพจีน
“สิ่งที่ผมจะกล่าวก็คือ กระทรวงกลาโหมยังคงเชื่อในความสำคัญของการรักษาช่องทางการสื่อสารระหว่างกองทัพสหรัฐอเมริกากับกองทัพของสาธารณรัฐประชาชนจีนแบบเปิดกว้างในหลายระดับ รวมถึงระดับอาวุโสสูงสุด” โฆษกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ กล่าวกับ The Japan Times
ทั้งนี้ การปลดหลี่ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีนอาจเป็นการขจัดอุปสรรคในการปรับปรุงความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างสองประเทศ เนื่องจากหลี่ซ่างฝูถูกวอชิงตันคว่ำบาตรมาตั้งแต่ปี 2018 สืบเนื่องจากกรณีการซื้ออาวุธจากรัสเซีย โดยปักกิ่งไม่ยอมให้มีการจัดประชุมใดๆ ระหว่างหลี่กับรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ในขณะที่มาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวยังคงมีผลบังคับใช้
ที่ผ่านมา การคว่ำบาตรดังกล่าวขัดขวางไม่ให้กองทัพของสองประเทศกลับมาติดต่อสื่อสารกันอีก หลังจากที่การติดต่อระดับสูงระหว่างทหารของสองประเทศได้ยุติลงนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เมื่อ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น เดินทางเยือนไต้หวัน ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับปักกิ่งเป็นอย่างมาก
ภาพ: Britta Pedersen / picture alliance via Getty Images
อ้างอิง: