ธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นแบบเซอร์ไพรส์ตลาด สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการฟื้นตัวที่อ่อนแอของเศรษฐกิจ ด้านนักวิเคราะห์คาดว่า ทางการจีนจ่อใช้นโยบายผ่อนคลายมากขึ้นอีกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
วันนี้ (13 มิถุนายน) ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศหั่นอัตราดอกเบี้ย Reverse Repurchase Rate ระยะ 7 วัน ลง 10% สู่ระดับ 1.9% นับเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวครั้งแรก นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2020
โดยหลายฝ่ายกำลังจับตาชุดตัวเลขเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน เช่น ยอดค้าปลีก อัตราว่างงาน และการผลิตอุตสาหกรรม ที่จะเปิดเผยในวันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายนนี้ ซึ่งหลายคนคาดว่า จะแสดงให้เห็นถึงการสูญเสียโมเมนตัมของเศรษฐกิจเพิ่มเติมในเดือนพฤษภาคม โดยภาคการผลิตและการลงทุนน่าจะอ่อนกำลังลง ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งฟื้นตัวในช่วงต้นปีนี้ หลังจากรัฐบาลจีนผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ก็น่าจะอยู่ในระดับปานกลางเช่นกัน
ด้าน Michelle Lam นักเศรษฐศาสตร์ Greater China จาก Societe Generale กล่าวว่า ในที่สุดผู้กำหนดนโยบายก็ยอมรับถึงความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ Lam ยังมองอีกว่า ทางการจีนน่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และอัตราส่วนเงินฝากขั้นต่ำที่ธนาคารพาณิชย์ต้องสำรองไว้ (Reserve Requirement Ratio) มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2023
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ PBOC ยังเกิดขึ้นก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์นี้
เงินหยวนที่ซื้อ-ขายนอกประเทศจีน (Offshore Yuan) อ่อนค่าลง 0.3% อยู่ที่ 7.1748 หยวนต่อดอลลาร์ หลังจากการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ PBOC วันนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ลดลง 3 Basis Point สู่ระดับ 2.64% สวนทางกับหุ้นอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่ปรับตัวขึ้น
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Yi Gang ผู้ว่าการ PBOC ให้คำมั่นว่า จะยกระดับการปรับดอกเบี้ยตามวัฏจักร ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า เป็นการส่งสัญญาณว่า PBOC จะผ่อนคลายมากขึ้น นอกจากนี้ Yi Gang ยังให้คำมั่นว่า จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่แท้จริง เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ยังล่าช้ากว่าอุปทาน
อ้างอิง: