×

นักลงทุน-ซีอีโอบิ๊กคอร์ปจีน ‘กังขา’ นโยบายจัดระเบียบภาคเอกชน หลังนายแบงก์มหาเศรษฐีหายตัวปริศนายังไร้ความคืบหน้า

07.03.2023
  • LOADING...

กลายเป็นอีกหนึ่งชนวนที่สร้างความคลางแคลงใจในหมู่นักธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายเทคโนโลยีนวัตกรรมที่มีต่อนโยบายส่งเสริมการลงทุนพัฒนาของรัฐบาล หลังจากที่ล่าสุดมีรายงานการหายตัวไปโดยไม่ทราบสาเหตุของ Bao Fan หรือ เปาฝาน มหาเศรษฐีนายธนาคารและซีอีโอของธนาคารไชน่า เรเนซองส์ โฮลดิ้งส์ (China Renaissance Holdings) ซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศจีน โดยเฉพาะในแวดวง Tech Banking ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนทำให้ตลาดการเงินระส่ำ ฉุดหุ้นของธนาคารร่วงหนักกว่า 50%

 

แม้ว่าต่อมาภายหลังในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทางธนาคารไชน่า เรเนซองส์จะออกแถลงการณ์เปิดเผยสาเหตุการหายตัวและไม่สามารถติดต่อได้ของประธานเปาฝาน ว่าเป็นเพราะเจ้าตัวกำลังให้ความร่วมมือกับทางการจีนในการสืบสวนคดีที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ ‘การหายตัวปริศนา’ ก็ส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาและสั่นคลอนความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่มีต่อรัฐบาลนโยบายประธานาธิบดีสีจิ้นผิง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


เอกชน ‘กังขา’ มาตรการรัฐหวังกระตุ้นตลาดชั่วคราว

Bloomberg รายงานว่า จากการสัมภาษณ์บรรดาผู้ประกอบการ นักลงทุน และนักวิเคราะห์ชาวจีนหลายสิบราย พบว่าทั้งหมดต่างแสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวทางมาตรการที่รัฐบาลจีนมีต่อภาคเอกชน และอดกังขาไม่ได้ว่ามาตรการสนับสนุนการเติบโตและความเป็นอิสระของทางการจีนเป็นเพียงการกระตุ้นตลาดเพียงครั้งคราว ไม่ใช่แนวทางยั่งยืนถาวรแบบที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติจีนรับปากไว้เป็นมั่นเป็นเหมาะ

 

Alicia Garcia Herrero หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Natixis ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า การปกครองของจีนใช้อำนาจและความเกรงกลัวเป็นที่ตั้งเพื่อกำราบให้ทุกฝ่ายอยู่ใต้อาณัติมาโดยตลอด ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ภาคเอกชนจะอ่อนไหวต่อประเด็นที่เกิดขึ้นและเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการเพิ่มการลงทุน

 

Herrero ยังชี้อีกว่า ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งหากรัฐบาลจีนเดินหน้าจัดระเบียบคุมเข้มภาคเอกชนอีกครั้ง การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนมีโอกาสหายไปถึง 1% สร้างความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ยังคงเปราะบางและอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากผลกระทบของวิกฤตการระบาดหนักของไวรัสโควิดในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา 

 

Bloomberg รายงานว่า ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนขยับตัวเติบโตเพียง 3% เท่านั้น ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการเติบโตของจีนปีนี้จะยังคงชะลอตัวอยู่ที่ 5% 

 

ความไม่เชื่อมั่นและความกังขาจะทำให้ภาคเอกชนระมัดระวังตัวมากขึ้น ซึ่ง Herrero ชี้ว่า การระมัดระวังตัวดังกล่าวหมายถึงการชะลอการลงทุนหรือการพัฒนาต่างๆ จนกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอนาคตของจีนที่อาจจะแตกต่างจากที่รัฐบาลประธานาธิบดีสีจิ้นผิงคาดหวังไว้ 

 

นักลงทุน ‘พับแผน’ รอความชัดเจน

สำนักงานวิจัย Preqin เปิดเผยว่า นักลงทุนรายหนึ่งซึ่งเคยกระตือรือร้นอย่างมากในตลาดจีน กลับไม่ปิดดีลลงทุนใดๆ เลยในช่วงปี 2022 เนื่องจากกังวลต่อความเสี่ยงที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาลจีน นอกจากนี้ นักลงทุนรายนี้ยังยอมรับว่าไม่มีแผนที่จะให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพสัญชาติจีนใดๆ ในปีนี้ แม้สตาร์ทอัพดังกล่าวจะมีความน่าสนใจ และนักลงทุนก็มีเงินลงทุนมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์อยู่ในมือก็ตาม 

 

นอกจากนี้ นักลงทุนอีกรายในเซินเจิ้นยอมรับว่า ปีที่ผ่านมามีการลงทุนเพียง 2 ดีลเท่านั้น คิดเป็น 1 ใน 10 ของการลงทุนปกติ ขณะที่ภาพรวมการลงทุนในเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพของจีนในปี 2022 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 45% คิดเป็นมูลค่า 8.2 หมื่นล้านดอลลาร์ 

 

แม้ว่ารัฐบาลจีนจะยืนยันด้วยมาตรการสนับสนุนการเติบโตของภาคเอกชน แต่นักลงทุนและนักธุรกิจก็มีเหตุผลที่จะต้องกังวล โดยชี้ให้เห็นถึงอุตสาหกรรมเกมที่โดนจัดระเบียบจนทำให้ธุรกิจเกมทั้งหลายต้องหยุดชะงักไปเกือบหนึ่งปี ซึ่งแม้จะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง ก็ยังมีปัจจัยเงื่อนไขยิบย่อยที่ทำให้การทำธุรกิจเกมไม่สามารถไปต่อได้อย่างราบรื่น โดยผู้ร่วมก่อตั้งเกมสตูดิโอรายหนึ่งยอมรับว่า การทำธุรกิจจีนในจีนต้องทำใจเตรียมเผชิญกับหลุมดำข้อมูลข่าวสาร ซึ่งหมายความว่าบริษัทจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าวันใดตนเองได้รับโชคแบบปุบปับจากรัฐบาลจีน 

 

ด้านนักวิเคราะห์ประเมินว่า กุญแจสำคัญที่สุดในเวลานี้ก็คือ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และบรรดาพันธมิตรทีมบริหารของตนเอง ซึ่งถ้าสีจิ้นผิงสามารถปรับนโยบายปฏิรูปได้อย่างพอเหมาะ คือเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน รักษาเสถียรภาพความสัมพันธ์ทางการค้าและการแบ่งปันเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ และรับมือกับผลกระทบของประชากรสูงวัยได้อย่างเหมาะสม นักวิเคราะห์เชื่อว่าจีนจะสามารถรักษาระดับการเติบโตเฉลี่ย 5% ยาวไปจนถึงปี 2030 แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ จีนก็เสี่ยงหดตัวถึง 2% ต่อปี 

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X