×

สำรวจกระแสแบนสินค้า Nike, Adidas และ H&M ในจีน ผลกระทบทางธุรกิจที่เริ่มจากสิทธิมนุษยชน

28.03.2021
  • LOADING...
สำรวจกระแสแบนสินค้า Nike, Adidas และ H&M ในจีน ผลกระทบทางธุรกิจที่เริ่มจากสิทธิมนุษยชน

กลายเป็นสถานการณ์ที่หลายฝ่ายจับตาอย่างใกล้ชิด หลังแบรนด์สินค้าสัญชาติอเมริกันชื่อดังอย่าง Nike ออกมาแสดงความวิตกกังวลถึงการใช้แรงงานของชาวอุยกูร์อย่างไม่เป็นธรรมในเขตปกครองพิเศษซินเจียง ประเทศจีน เช่นเดียวกันกับอีกสองแบรนด์ยักษ์คือ Adidas และ H&M ที่ยืนยันว่าไม่สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่อาจจะเกิดขึ้นจากการบังคับใช้แรงงานในเขตซินเจียง ทำให้ฐานลูกค้าชาวจีนสั่นคลอนถึงขั้นที่มีคนนำรองเท้า Nike มาเผาทิ้งเพื่อแสดงสัญลักษณ์ตัดขาดกับแบรนด์ด้วยมองว่าป้ายสีข่าวให้จีนด่างพร้อยโดยไม่มีหลักฐานยืนยัน 

 

ขณะที่นักแสดงชาวจีนชื่อดังหลายคนก็ทยอยยกเลิกสัญญากับแบรนด์เหล่านี้ พร้อมกันกับที่สำนักข่าวในจีนหลายแห่งประณามท่าทีของแบรนด์ใหญ่จากตะวันตกโทษฐานสร้างความเข้าใจผิดให้แก่จีน

 

อย่างไรก็ตาม แถลงการณ์ของแบรนด์ต่างๆ จากตะวันตกดังกล่าวนั้นทยอยออกมาตั้งแต่ราวกลางปีที่แล้ว ภายหลังสหประชาชาติตีแผ่ว่าในซินเจียงนั้นมีค่ายกักกันที่ทางการจีนใช้เป็นสถานที่ปรับทัศนคติชาวอุยกูร์ ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่ามีความเป็นไปได้ที่ในค่ายกักกันนั้นจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ในการผลิตฝ้ายด้วย ทำให้แบรนด์สินค้าต่างๆ ที่รับฝ้ายจากซินเจียงไปผลิตรีบออกแถลงการณ์เพื่อแสดงความกังวลต่อประเด็นนี้

 

แต่การที่แถลงการณ์เก่าหวนกลับมาส่งแรงกระเพื่อมอีกครั้งหนึ่งก็เพราะสหรัฐฯ และประเทศจากยุโรปหลายประเทศเริ่มดำเนินนโยบายคว่ำบาตรจีน กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนทำให้ถ้อยแถลงของแบรนด์ต่างๆ กลับถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง แม้ว่าจีนจะให้การปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่าไม่เป็นไปดังข้อกล่าวหาก็ตาม

 

ดังนั้นเราจึงอยากชวนทุกท่านมาสำรวจข้อพิพาทครั้งนี้ที่ดูจะยังหาทางลงไม่ได้ง่ายๆ กันอีกครั้ง

 

อุยกูร์ ซินเจียง และการผลิตฝ้าย

จีนเป็นประเทศที่มีกำลังผลิตฝ้ายสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดีย โดยในแต่ละปีจีนผลิตฝ้ายได้ถึง 6,178,318 ตัน มีการประเมินคร่าวๆ ว่าจีนเป็นแหล่งผลิตฝ้ายให้ประชากรจำนวน 1 ใน 5 ของโลก และเขตปกครองพิเศษซินเจียงคือแหล่งผลิตฝ้ายชั้นยอด นับเป็นฐานผลิตฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สัดส่วนการผลิตฝ้ายร้อยละ 84 ของจีนมาจากเขตซินเจียง ดังนั้นโดยพื้นฐานแล้วซินเจียงจึงเป็นแหล่งผลิตและส่งออกฝ้ายไปสู่แบรนด์ใหญ่ๆ ทั่วโลกให้ได้ใช้ผลิตเป็นสินค้า

 

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเรื่องราวของชาวอุยกูร์ในซินเจียงถูกประชาคมโลกตั้งคำถามอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่นำไปสู่การสำรวจและตีแผ่ชีวิตของชาวอุยกูร์ เนื่องจากพื้นที่ซินเจียงซึ่งชาวอุยกูร์ใช้ชีวิตอยู่นั้นเป็นพื้นที่ที่มีข้อพิพาทขัดแย้งกับส่วนกลางของจีนมาอย่างยาวนาน ประชากรส่วนใหญ่ของซินเจียงเป็นชาวอุยกูร์ที่เป็นมุสลิมและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ แม้ในอดีตจะเคยมีการพยายามทำข้อตกลงให้ชาวอุยกูร์และชาวจีนอยู่ร่วมกัน แต่ด้วยความแตกต่างด้านความเชื่อ ศาสนา และวิถีชีวิตก็ทำให้เกิดเหตุกระทบกระทั่งและขัดแย้งกันอยู่เสมอ จนในที่สุดซินเจียงจึงได้สถานะเป็นเขตปกครองพิเศษ แต่ที่ถูกจับตามองอย่างมากคือกรณีค่ายกักกันชาวอุยกูร์ ที่สหประชาชาติยืนยันว่าในซินเจียงนั้นมีการสร้างค่ายกักกันเพื่อปรับทัศนคติของชาวอุยกูร์อยู่จริง ขณะที่จีนแย้งว่าเป็นค่ายการศึกษาที่สมาชิกนั้นเข้ามาอย่างสมัครใจ

 

ประเด็นของค่ายกักกันที่ถูกเปิดเผยขึ้นราวปี 2019-2020 จนทำให้ชาติตะวันตกหลายชาติประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่แบรนด์ต่างๆ จากตะวันตกคือ Nike, Adidas และ H&M ออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ในซินเจียงดังกล่าว แต่เพิ่งกลายมาเป็นประเด็นใหญ่จนเกิดการแบนสินค้าเหล่านี้ในจีน

 

กระแสการต่อต้านแบรนด์ดัง

แม้ว่าแถลงการณ์ของแบรนด์ดังจะปล่อยออกมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าแรงกระเพื่อมระลอกนี้จะรุนแรงเป็นพิเศษ เพราะภายหลังจากที่อเมริกาและประเทศจากยุโรปหลายประเทศคว่ำบาตรจีนจนแถลงการณ์ของแบรนด์แฟชั่นเหล่านี้ถูกหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ทำให้ H&M และ Nike ต้องเผชิญหน้ากับแรงเสียดทานครั้งใหญ่เมื่อฐานลูกค้าชาวจีนตัดสินใจจะคว่ำบาตรแบรนด์กลับ โดยมีผู้ใช้บริการ Weibo ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ของจีนโพสต์ภาพและคลิปวิดีโอขณะกำลังเผาสินค้าของ H&M, Nike และ Adidas เป็นจำนวนมาก และกล่าวว่าจะหันไปสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นอย่างแบรนด์ Li Ning และ Anta ซึ่งเป็นแบรนด์สินค้ากีฬาสัญชาติจีนแทน

 

“ถ้าพวกคุณคว่ำบาตรฝ้ายจากซินเจียง เราก็จะคว่ำบาตรคุณเหมือนกัน” ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายหนึ่งระบุลง Weibo และ “คนพวกนั้นไม่คู่ควรกับฝ้ายของซินเจียงหรอก” ขณะที่แฮชแท็ก ‘I support Xinjiang cotton’ มียอดผู้เข้าชม 4 ล้านครั้ง

 

ขณะที่ Global Times หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ในจีนระบุว่า Inditex แบรนด์แฟชั่นสัญชาติสเปนที่เป็นบริษัทแม่ของ Zara ตัดสินใจลบแถลงการณ์ภาษาอังกฤษและภาษาสเปนเกี่ยวกับซินเจียงออกจากเว็บไซต์แล้ว โดยที่ทาง Inditex ไม่ได้ออกมาตอบโต้ข้อกล่าวหานี้แต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตาม ฮั่วชุ่นอิ๋ง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่า “ซินเจียงเป็นสถานที่ที่รื่นรมย์มาก เศรษฐกิจก็กำลังพัฒนา ปราศจากความแตกแยกทั้งด้านชาติพันธุ์และศาสนา ชนเผ่าต่างๆ รวมทั้งชาวอุยกูร์ในซินเจียงนั้นใช้ชีวิตอย่างสุขสงบ ทั้งยังมีสิทธิ์มีเสียงและได้รับความเคารพมากกว่าที่เคย การคว่ำบาตรจีนของสหภาพยุโรป (EU) โดยใช้ข้ออ้างเรื่องสิทธิมนุษยชนจึงวางอยู่บนฐานรากของการโกหกและบิดเบือนข้อมูลโดยแท้”

 

นักแสดงทยอยถอนตัวจากการเป็นพรีเซนเตอร์

ภายหลังเกิดข้อพิพาทในโลกออนไลน์ได้ไม่นาน นักแสดงชาวจีนหลายคนก็ออกมาแสดงเจตจำนงขอยุติสัญญากับแบรนด์ดังต่างๆ เช่น หวังอี้ป๋อ ที่ขอยุติสัญญากับ Nike, อีสัน ชาน นักร้องชื่อดังถอนตัวจากการร่วมกับ Adidas แบรนด์ใหญ่ที่เคยมีรองเท้ารุ่นที่เขาออกแบบเองจำนวนจำกัด 100 คู่เมื่อปี 2016 เช่นเดียวกับ ตี๋ลี่เร่อปา นักแสดงสาวเชื้อสายอุยกูร์ก็ออกมายุติสัญญากับ Adidas พร้อมระบุว่า ซินเจียงบ้านเกิดของเธอนั้นเป็นสถานที่ที่สวยงามและเธอขอสนับสนุนฝ้ายจากซินเจียง

 

ตามมาติดๆ ด้วยเว็บไซต์ช้อปปิ้งยักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Alibaba, Pinduoduo และ JD.com ที่ถอดสินค้าในเครือของ H&M ออกจากเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตาอย่างยิ่ง เพราะที่ผ่านมาแบรนด์ H&M อาศัยเครือข่ายแพลตฟอร์มเหล่านี้ในการจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศจีนเป็นหลัก อีกทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ยังเป็น 1 ใน 4 ตลาดใหญ่ของแบรนด์ด้วย โดยปี 2020 ที่ผ่านมา แบรนด์ H&M เปิดร้านในจีนได้ถึง 445 แห่งจาก 146 เมืองทั่วประเทศ

 

เหตุการณ์ต่างๆ นี้ทำให้หุ้นของ Nike ใน Wall Street ร่วงมากว่า 3% เช่นเดียวกับหุ้นในลอนดอนของ Adidas ก็หล่นลงมาราว 6% และหุ้นของแบรนด์แฟชั่น H&M ในสวีเดนตกลงมา 2% และยังเป็นที่จับตาว่าบทสรุปของสถานการณ์นี้จะเป็นเช่นไรต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising