เว็บไซต์ข่าว Global Times ของทางการจีนรายงานว่า จีนจะสนับสนุนการขยายบริษัท Big Data ในประเทศออกไปยังต่างประเทศ พร้อมสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา Big Data (R&D) โดยบริษัทข้ามชาติในประเทศ ซึ่ง เซียวหยาซิง รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวในพิธีเปิดงานอุตสาหกรรม Big Data ประจำปีในเมืองกุ้ยหยาง เมืองเอกของมณฑลกุ้ยโจว ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
สำหรับงาน China International Big Data Industry Expo ประจำปี เป็นการผลักดันล่าสุดของรัฐบาลในการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลของจีน
เซียวกล่าวว่า แอปพลิเคชัน Big Data ค่อยๆ ขยายไปสู่การผลิตอัจฉริยะ สังคมดิจิทัล และธรรมาภิบาลดิจิทัล โดยเริ่มต้นจากมุ่งเน้น Big Data ในด้านอินเทอร์เน็ต การเงิน และโทรคมนาคม หวังเพิ่มทรัพยากรข้อมูลของประเทศอย่างมหาศาล และก่อให้เกิดสถานการณ์การใช้งานต่างๆ ของผู้ใช้และรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ
ทั้งนี้ ในช่วงแผน 5 ปี ฉบับที่ 13 (2016-2020) อุตสาหกรรม Big Data ของจีนมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 30 ปีที่แล้ว โดยอุตสาหกรรม Big Data มีมูลค่าทะลุ 1.3 ล้านล้านหยวน ขณะที่ระบบห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และกลุ่มอุตสาหกรรม Big Data ขนาดใหญ่ก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่โดดเด่น
ปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศจีนใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และประชากรออนไลน์ของประเทศนั้นอยู่ในอันดับต้นๆ ของการจัดอันดับชาวเน็ตทั่วโลกเป็นเวลา 13 ปีติดต่อกัน
เซียวกล่าวว่า แผนการข้างหน้า จีนจะเพิ่มการสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ขยายสถานการณ์การใช้งาน ผลักดันการรวมและการแบ่งปันแหล่งข้อมูลอย่างเปิดเผย และกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศในทางปฏิบัติให้มากขึ้น พร้อมให้คำมั่นที่จะสนับสนุนบริษัท Big Data ในประเทศและต่างประเทศ ในการร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี การกำหนดมาตรฐาน และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ
ขณะที่ หลินเหนียนซิ่ว รองหัวหน้าคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า จีนจะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการอภิปรายหัวข้อเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างประเทศ ดำเนินความร่วมมือด้านการกำกับดูแลด้านดิจิทัล และผลักดันให้เกิดเส้นทางสายไหมดิจิทัลอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประเทศและประชาชนทั่วโลกได้รับประโยชน์จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัลนี้
วันเดียวกัน มีรายงานว่าเมืองใหญ่ในหลายมณฑลทั่วประเทศจีนต่างเริ่มผ่อนคลายกฎระเบียบสำหรับการซื้อรถยนต์และยานพาหนะต่างๆ หวังกระตุ้นกำลังการบริโภคในตลาด ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น
ยกตัวอย่างเช่นเมืองเซินเจิ้นในมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของประเทศจีน มีแผนที่จะเสนอเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเพิ่มยอดขายรถยนต์ และเพิ่มโควตาป้ายทะเบียนรถอีก 20,000 คัน โดยสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของรัฐบาลกลางจีนในการเพิ่มกำลังการบริโภคและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
จางเซียง นักวิจัยจากศูนย์วิจัยนวัตกรรมอุตสาหกรรมยานยนต์ของ North China University of Technology อธิบายด้วยการยกตัวอย่างสมมติว่า ราคารถยนต์เฉลี่ยในเซินเจิ้นอยู่ที่ 2 แสนหยวน การเพิ่มป้ายทะเบียน 20,000 แผ่นสามารถกระตุ้นยอดขายได้ถึง 4 พันล้านหยวน ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่ค่อนข้างมหาศาลและจะมีส่วนช่วยอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในท้องถิ่น
ยิ่งไปกว่านั้น ทางรัฐบาลท้องถิ่นของเซินเจิ้นยังมีแผนให้เงินช่วยเหลือผู้ซื้อรถยนต์พลังงานใหม่ (รถยนต์ไฟฟ้า) ซึ่งจดทะเบียนในเซินเจิ้นสูงถึง 10,000 หยวนต่อคันด้วย
สื่อท้องถิ่นรายงานว่า นอกจากเซินเจิ้นแล้ว ยังมีรัฐบาลท้องถิ่นอื่นๆ ที่วางแผนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน เช่น ในมณฑลหูเป่ยที่เพิ่งประกาศเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า ผู้ซื้อรถยนต์ EV ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ มีโอกาสได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลสูงถึง 8,000 หยวน
ด้านผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งประเมินว่า เมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วจีน น่าจะเพิ่มโควตายอดจดแผ่นป้ายทะเบียนในพื้นที่ให้เพิ่มมากขึ้นด้วย
ซุยตงชู เลขาธิการทั่วไปของสมาคมรถยนต์โดยสารจีน หรือ China Passenger Car Association: CPCA กล่าวว่า เมืองขนาดใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ กวางโจว และกรุงปักกิ่ง
อาจมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คล้ายกัน เพื่อตอบรับการเรียกร้องจากรัฐบาลกลางในกระตุ้นการบริโภค
ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (23 พฤษภาคม) ทางสภาแห่งชาติจีนกล่าวว่า มีแผนที่จะผ่อนปรนภาษีซื้อรถยนต์ให้ผู้ซื้อรถยนต์เป็นจำนวน 6 หมื่นล้านหยวน ซึ่งรายละเอียดเพิ่มเติมจะออกภายในสิ้นเดือนพฤษภาคม
จางประเมินว่า หากจีนลดอัตราภาษีลงครึ่งหนึ่งเหลือ 5% การลดหย่อนภาษี 6 หมื่นล้านหยวนอาจนำไปสู่การขายรถยนต์เพิ่มเติมได้อีก 8 ล้านคัน คิดเป็นมูลค่าราว 1.2 ล้านล้านหยวน
โดยนักวิเคราะห์กล่าวว่า โควตาป้ายทะเบียนที่เพิ่มสูงขึ้นและภาษีที่ลดลงจะช่วยให้ยอดขายรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากที่หดตัวลง 11.9% เมื่อเทียบเป็นอัตรารายปีในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้
ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ในเดือนพฤษภาคมเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากเดือนเมษายน โดยโรงงานส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยลดลง 35.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากการหยุดโรงงานและปัญหาด้านการขนส่งท่ามกลางการฟื้นตัวจากไวรัสโควิด โดยตามข้อมูลจาก CPCA ยอดขายรถยนต์ในช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้น 34% จากช่วงเดียวกันของเดือนเมษายน แตะระดับ 7.8 แสนคัน แต่ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2021 ถึง 16%
บรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ยอดขายรถยนต์จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่สอง และตัวเลขทั้งปีจะใกล้เคียงกับปีที่แล้วโดยประมาณ เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิดอยู่ภายใต้การควบคุมและมีการใช้มาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม โดยการผลิตรถยนต์น่าจะกลับคืนสู่ภาวะปกติภายในเดือนมิถุนายนนี้ ส่วนจำนวนที่สูญไปน่าจะพลิกกลับขึ้นมาได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้
อ้างอิง:
- https://www.globaltimes.cn/page/202205/1266683.shtml
- https://www.globaltimes.cn/page/202205/1266653.shtml
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP