หัวหน้าทีมทดลองวัคซีน Sinovac ในชิลีออกโรงแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 3 เพื่อป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่กำลังแพร่ระบาดมากขึ้นในประเทศ
ดร.อเล็กซิส คาเลอร์จิส ผู้อำนวยการสถาบัน Millennium Institute for Immunology and Immunotherapy ของชิลี ซึ่งทำการทดลองวัคซีน CoronaVac ซึ่งเป็นวัคซีนป้องกันโควิดที่ผลิตโดยบริษัท Sinovac ของจีน กับผู้เข้าร่วมการทดลองจำนวน 2,000 คน เปิดเผยว่า การติดเชื้อโควิดลดลง 3% หลังจากผู้เข้าร่วมการทดลองได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ไป 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันการศึกษายังพบด้วยว่าระดับแอนติบอดีลดลงหลังจากผ่านไป 6 เดือน ดร.คาเลอร์จิสจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันการกลายพันธุ์ของไวรัสได้ดีขึ้น
“การลดลงตามธรรมชาติของระดับแอนติบอดีหลังการฉีดวัคซีนเน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดกระตุ้น เพื่อชดเชยและเสริมการลบล้างฤทธิ์ไวรัส” เขากล่าว
ผลการทดลองทางคลินิกดังกล่าวสอดคล้องกับการทดลองในหลอดทดลองในห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของวัคซีนกับสายพันธุ์เดลตา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระดับแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ (Neutralizing Antibody) ลดลง 4 เท่า เมื่อเทียบกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบครั้งแรกในประเทศจีน ขณะที่ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนได้เปิดเผยว่า ระดับแอนติบอดีลดลง 3 เท่า ในการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac กับสายพันธุ์เดลตา
หลายประเทศ ซึ่งรวมถึงอินโดนีเซียและบราซิล ต่างพึ่งพาวัคซีนจากจีนเป็นวัคซีนหลักในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิดในประเทศ แต่เริ่มมีคำถามเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าวัคซีนจากจีนมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลตาหรือไม่
หลิวเป่ยเฉิง โฆษกของ Sinovac กล่าวกับสำนักข่าว Reuters ก่อนหน้านี้ว่า การฉีดกระตุ้น หรือ Booster Shot สามารถกระตุ้นแอนติบอดีที่แข็งแกร่งและทนทานต่อสายพันธุ์เดลตาได้มากขึ้นและรวดเร็ว แต่ไม่ได้ให้รายละเอียด
ดร.คาเลอร์จิสยังตั้งข้อสังเกตอีกด้วยว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองในชิลีที่ฉีดวัคซีนห่างกัน 28 วัน มีภูมิคุ้มกันสูงกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนห่างกัน 14 วัน
ทั้งนี้ ชิลีเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้วัคซีน CoronaVac จากบริษัท Sinovac เป็นจำนวนมหาศาล จนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เริ่มต้นและเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ประชาชนเร็วที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
จนถึงตอนนี้ชิลีฉีดวัคซีน Sinovac ไปแล้วจำนวน 18.1 ล้านโดส นอกเหนือไปจากวัคซีนอื่นๆ ที่พัฒนาโดย Pfizer-BioNTech, AstraZeneca และ CanSino และได้ฉีดวัคซีนให้ประชากรผู้ใหญ่ครบแล้ว 76%
ภาพ: Marcelo Hernandez / Getty Images
อ้างอิง: