×

เผยไทยมีสถิติเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ติดโควิด 13,444 ราย อาการรุนแรง 791 ราย ย้ำพ่อแม่ดูแลตัวเองลดการแพร่เชื้อไปสู่ลูก

โดย THE STANDARD TEAM
31.07.2021
  • LOADING...

วันนี้ (31 กรกฎาคม) ​นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในกลุ่มเด็กปฐมวัย อายุต่ำกว่า 6 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ถึง 25 กรกฎาคม 2564 พบมีเด็กต่ำกว่า 6 ปีติดเชื้อ 13,444 ราย มีอาการรุนแรง 791 ราย และเสียชีวิต 2 ราย เป็นเด็กวัย 1 เดือน และ 2 เดือน โดยพบว่าเด็กทั้ง 2 รายที่เสียชีวิตเนื่องจากมีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรง และสัมผัสบุคคลที่เป็นโรคในครอบครัว และเริ่มมีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งข้อมูลจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้มีคำแนะนำดังนี้ 

 

  1. ยังไม่แนะนําวัคซีนโควิดสําหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดีในขณะนี้ จนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนโควิดในเด็กเพิ่มเติม  

 

  1. แนะนําให้ฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ในเด็ก ในกรณีผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจําตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิดที่รุนแรง เช่น โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และโรคเบาหวาน เป็นต้น 

 

  1. แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดรับวัคซีน  

 

  1. แนะนำให้สร้างวินัยในการป้องกันตัวเอง เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่างให้แก่เด็กในทุกวัย และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท

 

  1. แนะนำให้ผู้ปกครองทำงานที่บ้าน งดการเยี่ยมเยียนจากบุคคลภายนอก

 

​นพ.สุวรรณชัยกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้วัคซีนโรคโควิดที่มีข้อมูลรองรับถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปมีเพียงชนิดเดียว ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer ซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 และได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ใช้ในอายุ 12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ซึ่งการนำเข้ายังอยู่ในระหว่างดำเนินการ 

 

สำหรับวัคซีน Sinovac แม้จะมีการใช้ในประเทศจีนในเด็กอายุ 3 ถึง 17 ปี จากการศึกษาวิจัยในระยะที่ 1 และ 2 พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องของประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิดในเด็ก และกำลังอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัยวัคซีนอีกหลายชนิดในผู้ป่วยเด็กกลุ่มอายุต่างๆ ลงไปจนถึงอายุ 6 เดือน ซึ่งอาจจะมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยออกมาเพิ่มเติมในอนาคต

 

​ทั้งนี้ การป้องกันที่ดีที่สุดในช่วงนี้คือพ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลเด็กเป็นพิเศษ โดยยึดหลัก เว้นห่างไว้ ใส่มาสก์กัน หมั่นล้างมือ ถือหลักรักสะอาด และปราศจากแออัดทั้งในบ้านและนอกบ้าน แต่เด็กอาจจะทำได้ ไม่เคร่งครัด ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องเป็นผู้ปฏิบัติอย่างเข้มข้นแทนเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปสู่ลูก ดังนี้ 

 

  1. เว้นระยะห่างทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน จำกัดการเดินทางเท่าที่จำเป็น และไม่ไปในที่ที่มีคนหนาแน่น เมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที  

 

  1. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ยกเว้นเฉพาะเวลากินอาหาร และไม่กินอาหารร่วมกัน หากจำเป็นต้องดูแลเด็กกินอาหาร ผู้ปกครองควรแยกหรือเหลื่อมเวลากินอาหาร         

 

  1. หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ และ 

 

  1. ผู้ปกครองควรทำงานที่บ้าน และงดการเยี่ยมจากบุคคลนอกบ้านในทุกกรณี และประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน ‘ไทยเซฟไทย’ ทุกวัน หากสังเกตอาการมีไข้สูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียส ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูก หายใจไม่สะดวก อาจมีปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย และถ้ามีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อ ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและแยกกักตัว ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้น เช่น ไข้สูงมากขึ้น เหนื่อย หอบ หายใจเร็ว ต้องรีบพบแพทย์ทันที
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising