วันนี้ (12 มกราคม) พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวช่วงหนึ่งระหว่างแถลงสถานการณ์การติดเชื้อประจำวันเกี่ยวกับคลัสเตอร์ในสถานศึกษา โดยตอนนี้พบใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย จันทบุรี 6 ราย, กรุงเทพมหานคร (กทม.) 5 ราย และนนทบุรี 2 ราย
และจากข้อมูลการวิเคราะห์ของกรมอนามัย รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดในกลุ่มเด็กอายุไม่เกิน 19 ปี ที่จำแนกออกมาจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศไทยทั้งหมด ในช่วงวันที่ 1-7 มกราคม 2565 พบยอดติดเชื้อสะสม 4,981 ราย
ทั้งนี้ ข้อมูลอีกชุดของกรมอนามัยระบุว่า เมื่อรวมยอดสะสมตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 จะพบการติดเชื้อในกลุ่มเด็กและเยาวชนรวม 240,681 ราย แยกเป็นเด็กไทย 217,127 ราย เด็กต่างชาติ 21,869 ราย และมียอดเสียชีวิตสะสม 34 ราย
เมื่อสืบหาสาเหตุของการติดเชื้อสามารถแบ่งออกเป็น 3 ปัจจัย ดังนี้
- สัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน 1,134 ราย
- ไม่สามารถระบุสาเหตุได้ 589 ราย
- สถานบันเทิง 97 ราย
โดยจังหวัดที่มีเด็กและวัยรุ่นติดเชื้อโควิดมากที่สุด 5 ลำดับแรก มีดังนี้
- กทม. 282 ราย
- ชลบุรี 105 ราย
- อุบลราชธานี 91 ราย
- สมุทรปราการ 60 ราย
- พังงา 56 ราย
อย่างไรก็ตาม ในข้อมูลยังระบุอีกว่ามีเด็กอายุระหว่าง 12-17 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเป็นจำนวนมาก แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 4.1 ล้านคน และเข็มที่ 2 จำนวน 3.5 ล้านคน
พญ.สุมนีกล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถานการ์การแพร่ระบาดของโควิดตอนนี้ ทำให้โรงเรียนหลายแห่งปรับรูปแบบการสอนจาก Onsite มาเป็น Online กันมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขได้มีการประชุมหารือร่วมกัน พร้อมออกมาตรการต่างๆ เช่น ทำแบบประเมินสถานศึกษาถึงความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน พร้อมทำแผนรับมือกรณีเกิดการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในโรงเรียน
พร้อมออกข้อกำหนดให้ปฏิบัติตาม 6 มาตรการหลัก เช่น เว้นระยะห่าง, สวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือบ่อยๆ, คัดกรองวัดไข้, ลดความแออัด และทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ รวมถึง 6 มาตรการเสริม ตั้งแต่ดูแลรักษาสุขภาพตนเอง, ใช้ช้อนกลางส่วนตัว, กินอาหารปรุงสุกใหม่, ลงทะเบียนเข้า-ออกโรงเรียน, สำรวจตรวจสอบตนเองอยู่เสมอ และกักกันตนเองเมื่อเป็นผู้สัมผัสเสี่ยง
อ้างอิง: