×

เปิดต่างมุมมอง กระแสนักมวยเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีควรขึ้นชกหรือไม่

15.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • วันที่ 10 พฤศจิกายน เพชรมงคล ส.วิไลทอง หรือ น้องเล็ก โดนน็อกในยกที่ 3 ระหว่างการขึ้นชกที่สมุทรปราการ ก่อนจะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลและพบว่าศีรษะกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง และเสียชีวิตจากอาการเลือดคั่งในสมอง
  • กระแสสังคมเริ่มต้นวิจารณ์การอนุญาตให้เยาวชนขึ้นชกมวยไทย ในช่วงที่คนในวงการมวยกำลังออกมาต่อต้านร่าง พ.ร.บ. กีฬามวยฉบับแก้ไขปี 2542 ที่ห้ามนักมวยอายุต่ำกว่า 12 ปีขึ้นชก
  • รายงานวิจัยชี้ว่า ผลกระทบต่ออาการบาดเจ็บของสมองนักมวยเด็ก ‘ส่วนใหญ่จะเกิดในลักษณะอาการบาดเจ็บสะสมมากกว่าการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน และสมองของเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปียังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จึงเชื่อว่าอาการบาดเจ็บเหล่านี้มีผลต่อการดำรงชีวิตในอนาคต’
  • ขณะที่ฝั่งของคนในวงการมวยไทยมองว่า การห้ามไม่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 12 ปีขึ้นชก เป็นการตัดโอกาสการพัฒนานักมวยไทยในอนาคต เปรียบเหมือนการห้ามไม่ให้นักฟุตบอลเยาวชนอายุต่ำกว่า 12 ปีเล่นฟุตบอล

เป็นอีกครั้งที่แสงไฟของสังคมส่องสว่างไปที่วงการมวยไทย เพียงแต่วันนี้สิ่งที่หลายคนมองเห็นจากศิลปะการต่อสู้ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทย คือการตั้งคำถามในเรื่องของการอนุญาตให้เยาวชนขึ้นชกมวยไทย รวมถึงการสร้างรายได้จากการที่เยาวชนขึ้นชก

 

โดยข้อถกเถียงทางสังคมนั้นเริ่มขึ้นจากการที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดย พล.อ. อดุลยเดช อินทะพงษ์ สมาชิก สนช. พร้อมคณะรวม 33 คน ร่วมกันเสนอร่าง พระราชบัญญัติกีฬามวย (พ.ร.บ. มวย) ฉบับแก้ไขใหม่ เพื่อใช้แทน พ.ร.บ. มวย ฉบับปี พ.ศ. 2542

 

ซึ่งมาตรา 14 ในฉบับร่างแก้ไขใหม่นั้น ระบุว่า

 

‘ในการแข่งขันกีฬามวยอาชีพ ห้ามมิให้ผู้จัดรายการแข่งขันกีฬามวย และนายสนามมวยอนุญาตให้เด็กมีอายุต่ำกว่า 15 ปีเข้าร่วมแข่งขัน และการอนุญาตต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน แต่เด็กนั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 12 ปี และการจัดการแข่งขันต้องมีเครื่องป้องกันอันตรายและกฎกติกาที่เหมาะสม’  

 

หลังจากที่มีการเสนอให้นักมวยอายุต่ำกว่า 12 ปีไม่สามารถขึ้นชกมวยไทยได้ ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านจากคนในวงการมวยไทยที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่าจะเป็นการตัดโอกาสการพัฒนานักมวยในวัยเด็ก ขณะเดียวกันฝั่งของนักวิชาการได้ชี้แจงงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า การขึ้นชกมวยไทยในช่วงอายุต่ำกว่า 12 ปีสามารถส่งผลกระทบทางสมองของนักกีฬาได้

 

แต่ระหว่างที่คนในวงการกำลังถกเถียงกันนั้น ได้เกิดเหตุสลดขึ้นเมื่อวันเสารที่ 10 พฤศจิกายน ณ เวทีมวยชั่วคราวที่โรงเรียนวัดคลองมอญ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ในการแข่งขันการกุศลโครงการต้านยาเสพติด เกิดเหตุ เพชรมงคล ส.วิไลทอง หรือ น้องเล็ก ถูกต่อยและแพ้น็อกในยกที่ 3 น้องเล็กหมดสติถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และพบว่าศีรษะกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง และเสียชีวิตจากอาการเลือดคั่งในสมอง

 

จากวันนั้น ข้อถกเถียงในสังคมถึงความเหมาะสมที่จะให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีชกมวยหรือไม่ กลายเป็นการรวมตัวกันของคนในวงการมวยเพื่อแถลงจุดยืนของ พ.ร.บ. มวย ฉบับแก้ไขนี้ถึง 2 ครั้ง

 

โดยเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย ได้จัดงานรวมตัวบุคคลวงการมวยหลายฝ่าย มาร่วมหารือถึงการต่อต้าน การเสนอแก้ไข พ.ร.บ. มวยฉบับใหม่ ที่พระราม 9 ต่อด้วยวันที่ 14 พฤศจิกายน สมาคมกีฬามวยไทยนายขนมต้ม นำโดย นายทวี อัมพรมหา เลขาธิการสมาคม ได้ตั้งโต๊ะแถลงไม่เห็นด้วย และยืนยันการคัดค้านกฎหมายมวยไทยที่ห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีขึ้นชก

 

หลังจากที่เข้าใจไทม์ไลน์ของเหตุการณ์แล้ว เราจะพาไปเปิดมุมมองของทั้งสองฝั่งต่อประเด็นนี้กัน

 

มุมมองของคนวงการมวยไทยต่อเหตุการณ์นักมวยเยาวชนเสียชีวิต

 

 

“กรณีที่เด็ก 13 ปีที่ชกมวยเสียชีวิต ผมดูแล้วเป็นอุบัติเหตุครับ เขาไม่ได้โดนต่อยตายหรอกครับ โดนหมัดนั้นอาจจะวูบไป แต่จังหวะที่วูบไปแล้วหัวมันฟาดพื้น คือกรรมการเซฟไม่ทัน แต่เราโทษใครไม่ได้เพราะมันเป็นอุบัติเหตุครับ”

 

ทวี อัมพรมหา หรือ ขาวผ่อง สิทธิชูชัย เป็นนักมวยชาวไทยคนแรกที่ได้เหรียญเงินจากการแข่งขันชกมวยในโอลิมปิกครั้งที่ 23 ที่นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวตอบคำถามแรกของนักข่าว ถึงมุมมองที่มีต่อเหตุการณ์นักมวยเสียชีวิต ภายในงานแถลงคัดค้านร่าง พ.ร.บ. มวย ฉบับแก้ไข เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ค่ายมวยเจริญทองเกียรติบ้านช่อง

 

“แนวทางการป้องกัน คนที่อยู่ในวงการมวยต้องถอยออกมาตั้งหลัก และตัดเรื่องผลประโยชน์ส่วนตน การเอาเปรียบ และผลประโยชน์ของตัวเองออกไป แล้วเรามาร่วมมือกันว่า ต่อไปนี้ถ้ามีการจัดการแข่งขัน การขออนุญาตจัดแต่ละครั้ง เราต้องปฏิบัติตามที่ขออนุญาต น้ำหนักมวยต้องเท่ากัน มีแบกน้ำหนักบ้าง แต่หากมากเกินไปมันเป็นช่องทางของอุบัติเหตุ

 

“ถ้าคนในวงการมวยลดช่องว่างนี้ให้มันแฟร์ๆ เท่ากัน อายุเท่ากัน น้ำหนักเท่ากัน ถ้าเกิดอะไรขึ้นมันจะไม่เป็นอันตราย อย่าคิดว่าเราจะต้องเอาเปรียบกัน

 

“กรรมการควรให้อยู่ในการควบคุมของการกีฬาแห่งประเทศไทย อยากให้มีสมาคมผู้ตัดสินมวยไทยเหมือนกีฬาชนิดอื่นที่เริ่มต้นมีกันแล้ว ซึ่งถ้าเรามีจุดนี้ กรรมการทุกคนต้องขึ้นกับ กกท. การทำงาน การให้คะแนนการตัดสินจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหมด แต่ปัจจุบันคือแต่ละเวทีมีกรรมการของตัวเอง แต่ถ้ามีสมาคมจะช่วยในเรื่องของมาตรฐานการตัดสินได้มากขึ้น”

 

ขณะที่ สมจิตร จงจอหอ อดีตนักมวยสากลเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก 2008 ได้ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD เผยว่า เหตุการณ์แบบนี้ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก แต่เขายืนยันว่าจำเป็นต้องหาสาเหตุเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต

 

“ผมขออนุญาตแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของน้องเขา แต่เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นน้อยมาก เป็นรอบสิบปีกว่าจะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง แต่ที่นี้เราต้องมาย้อนดูว่า เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นเพราะอะไร เพราะว่าเวที กรรมการ มีมาตรฐานไหม การจัดการแข่งขัน มีแพทย์ มีพยาบาลตรงนั้นไหม เบื้องต้นตรงนั้นก่อน ตรงที่น้องฟาดพื้นนั้น พื้นเป็นรูปแบบไหน ได้มาตรฐานไหม ตรงนี้ผมอยากให้ตรวจสอบหาสาเหตุที่เสียชีวิต เกิดจากโดนเตะครั้งเดียวเลย หรือว่าหัวฟาด หรือว่าจากอะไร เพราะเราเองก็ชกมวยตั้งแต่ 8 ขวบ ก็ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้”

 

ขณะที่ประสบการณ์ส่วนตัวนั้น สมจิตรเผยว่า เส้นทางนักมวยที่เขาเริ่มต้นมาตั้งแต่วัยเด็กนั้นเป็นสิ่งที่สามารถช่วยหารายได้ให้เขาตั้งแต่เด็กได้

 

“ในวัยเด็กตอน 8 ขวบ ผมรู้สึกว่าเป็นกีฬาที่สนุกครับ ตื่นเต้น เราต่างสู้ ต่างป้องกันตัว ซึ่งในวัยเดียวกันมันก็ไม่บาดเจ็บอะไร เป็นสิ่งที่สนุกมากกว่า หลังจากชกเราก็ได้ค่าตัว เพราะเป็นการแข่งขันกีฬา มีแพ้มีชนะ เราก็ได้แรงบันดาลใจว่า เราชกมวยก็สามารถหาเงินได้ ซื้อของที่อยากได้ และมีให้แม่อีกด้วย ผมก็เลยชกมวยเรื่อยมาจนมาถึงทุกวันนี้ครับ เป็นกีฬาที่ให้อะไรกับผมมาก

 

“ผมจึงคิดว่าคนที่จะเป็นนักมวย หนึ่ง ต้องมีใจรักมากและมีใจสู้ ยอมรับกับทุกอย่างที่จะพบเจอในชีวิตชกมวย รับกับมันได้ ทั้งตัวเราเองและพ่อแม่ แต่พอเกิดเหตุการณ์เสียชีวิตจากการชกมวย มันเลยดูเหมือนว่ากีฬามวยเป็นกีฬาที่รุนแรง แต่ผมบอกได้เลยว่าเหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นน้อยมาก เราจึงต้องมาย้อนดูว่าเหตุการณ์นี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไร”

 

มุมมองของนักวิชาการต่อเหตุการณ์นักมวยเยาวชนเสียชีวิต

ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ หัวหน้าโครงการวิจัยและติดตามกลุ่มนักมวยเด็ก เปิดเผยผลการศึกษาสมองนักมวยเด็กที่เสียชีวิตกับสำนักข่าว TNN 24 ช่อง 16 ไว้ว่า

 

“เกิดจากอาการบาดเจ็บรุนแรงเฉียบพลันที่สมอง เพราะว่าเด็กถูกต่อยที่ใบหน้าและศีรษะหลายครั้ง ทำให้สมองมีเลือดออก”

 

นอกจากนี้ยังได้เผยถึงผลกระทบต่ออาการบาดเจ็บของสมองนักมวยเด็กไว้ว่า

 

“ส่วนใหญ่จะเกิดในลักษณะอาการบาดเจ็บสะสมมากกว่าการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน และสมองของเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปียังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จึงเชื่อว่าอาการบาดเจ็บเหล่านี้มีผลต่อการดำรงชีวิตในอนาคต”

 

ขณะที่ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้สัมภาษณ​์กับทางไทยรัฐออนไลน์ไว้ว่า

 

“ตามปกตินักมวยต้องพักอย่างน้อย 3 สัปดาห์เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บของร่างกาย และสมอง แต่ในกรณีที่ถูกน็อกมาก่อน หรือถูกนับแพ้มาก่อน ต้องพักมากกว่านั้น และโดยธรรมชาติของนักมวยเด็กจะมีอาการบาดเจ็บมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเวลาขึ้นชกจะตะลุยชก ไม่ได้มีลีลาการหลบเหมือนผู้ใหญ่ชก เมื่อเจอแรงกระแทก ทั้งชกตรงหรืออ้อม ด้านข้าง ปลายคาง ทำให้เกิดแรงหมุนที่หัวมาก เพราะเด็กคอยังไม่แข็ง ต้องเกร็งเพื่อต้านแรงหมุน ทำให้เส้นใยประสาทฉีกขาด เลือดออกมาก เกิดเลือดออกในสมองสะสมมากขึ้น”

 

ซึ่งจุดนี้เป็นข้อที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ. มวย ปี พ.ศ. 2542 ไว้ว่า นักมวยไทยที่ขึ้นชกจำเป็นตัองพักอย่างน้อย 21 วัน หรือประมาณ 3 สัปดาห์ ซึ่งในกรณีของน้องเล็กที่มีรายงานว่าชกตั้งแต่วัย 8 ปี ถึง 13 ปีไปแล้วกว่า 170 ไฟต์ หากนับโดยเฉลี่ยแล้วคือ ภายในเวลา 5 ปี น้องเล็กต้องขึ้นชกทุกๆ 10 วัน ขณะที่ พ.ร.บ. มวยไทย ปี 2542 ระบุว่า นักมวยต้องพักอย่างน้อย 21 วันระหว่างการชก  

 

แต่หากจะเปรียบเทียบกับนักมวยสากลอาชีพนั้น ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ขึ้นชกจนแขวนนวมในวัยเกือบ 40 ปี เขาขึ้นชกมวยอาชีพไปทั้งหมดเพียงแค่ 50 ไฟต์เท่านั้น

 

ซึ่งนำมาสู่ข้อโต้แย้งที่ 2 ระหว่างคนนอกและในวงการมวยไทย ถึงการอนุญาตให้นักมวยอายุต่ำกว่า 12 ปีขึ้นชกได้หรือไม่ และการชกโดยมีรายได้เป็นสิ่งสำคัญต่อนักมวยเยาวชนอย่างไร

 

คนในวงการมวยคัดค้านด้วยเหตุผลใด

 

 

ทวี อัมพรมหา ยืนยันว่า เขาคัดค้านการป้องกันไม่ให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 12 ปีขึ้นชก เนื่องจากเหตุผลทางอาชีพและรายได้หาเลี้ยงครอบครัว

 

“ค้านอยู่แล้วครับ สาเหตุที่ค้านเนี่ย ผมกล้าชี้ได้เลยว่า 99% ของยอดมวยทั้งในอดีต และปัจจุบันเริ่มชกมวยต่ำกว่าอายุ 10 ขวบทั้งนั้น

 

”สาเหตุที่ต้องมาชก เพราะมวยไทยเป็นกีฬาชนิดเดียวที่คนสามารถเข้าถึงง่ายโดยไม่จำเป็นต้องมีเงินทองมหาศาล ไม่ต้องเข้าคอร์สเข้ายิม แค่กระสอบทรายแขวนต้นมะม่วงก็ชกได้แล้ว มันเป็นการลงทุนที่น้อยที่สุด

 

“ผมเชื่อว่า 99% ของยอดมวยก็มาจากพวกนี้ทั้งนั้น ถามว่าทำไมเขาถึงเลือกกีฬามวยไทย ผมก็ตอบได้เต็มปากเลยว่าไม่มีทางเลือก ผมเองก็ไม่มีทางเลือก พ่อผมตายตั้งแต่อยู่ ป.4 ถ้าผมตาย ครอบครัวผมก็มีปัญหา ทางเลือกเดียวของผมคือลองชกมวย ได้ครั้งแรก 90 บาท ให้แม่ไป 70 บาท เป็นการได้เงินครั้งแรกในชีวิต ซึ่งถือว่าเยอะมาก และผมเชื่อว่าหลายๆ คนเลือกไม่ได้

 

“ถ้าเขาเลือกได้และมีเงินนะครับ ลูกผมในวันนี้ที่ผมมีรายได้แล้ว ผมก็ไม่ให้ลูกผมชกมวย แต่ถ้าลูกอยากชกก็ค่อยว่ากัน แต่ไปบังคับผมไม่ทำ เพราะมีกีฬาอย่างอื่นที่เลือกได้ แต่สำหรับพวกผมเนี่ย ผมกล้าพูดเลยว่าไม่มีใครสามารถเลือกเล่นกีฬาได้

 

 

“กีฬาทุกชนิดเริ่มตั้งแต่ 8-9 ขวบทั้งนั้น และต้องใช้เงินทั้งนั้น แล้วพวกผมไม่มีปัญญาหรอกครับที่จะเล่นกอล์ฟ เล่นฟุตบอล กางเกงมวยตัวเดียวซ้อมฝึกมวยดีกว่า อย่างน้อยก็หาเงินได้

 

“แต่ผมภูมิใจนะครับกับเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่ชกมวยส่งตัวเองเรียน สมัยผมนี่ไม่มีทางครับที่จะชกมวยด้วยเรียนด้วย”

 

เช่นเดียวกับ สมจิตร จงจอหอ ที่มองว่า หากยุติการชกมวยของเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี อาจเป็นจุดจบของมวยไทยอาชีพ

 

“ถ้าสมมติใช้จริง ผมมองว่ากีฬามวยไทยก็จะหายไปครับ เพราะการเล่นกีฬามวยไทยตั้งแต่ดั้งเดิมเราเล่นตั้งแต่ 8-9 ขวบ ถ้ามาเล่นตอน 12 ปีเลย ลำบากครับ เพราะการเล่นกีฬาทุกอย่างต้องเริ่มตั้งแต่เด็ก เพราะกระดูกยังอ่อนอยู่ สามารถปรับสรีระได้ แต่ถ้ากลัวอันตราย ผมว่าเราหาวิธีการป้องกันอย่างอื่นดีกว่า เช่น หาเครื่องป้องกันตัวให้มากขึ้น ตั้งกฎกติกาใหม่ให้ปลอดภัยขึ้น กรรมการหรือเวทีมวยก็ต้องมีมาตรฐาน มีพยาบาลหน่วยแพทย์รองรับมากขึ้น ตรงนี้ผมว่าเราป้องกันดีกว่า แต่ถ้ามาป้องกันห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ตรงนี้ผมไม่เห็นด้วยครับ”

 

ถ้าเลือกได้จะแก้ไขอะไรกับการแข่งขันมวยในระดับเยาวชน

 

 

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนในวงการมวยไทยเห็นตรงกันคือ การเพิ่มอุปกรณ์ในการป้องกันตัวนักกีฬา โดย สมจิตร จงจอหอ มองว่า การใส่เครื่องป้องกันจะช่วยให้เยาวชนสามารถขึ้นชกได้อย่างปลอดภัย  

 

“หนึ่ง เครื่องป้องกันตัวครับ เฮดการ์ด สนับแข้ง ให้ชกมวยสมัครเล่นก่อนก็ได้ สอง กรรมการตัดสินต้องผ่านเกณฑ์ ผ่านมาตรฐานการตัดสินมาแล้ว สาม เวทีต้องมีมาตรฐาน ทีมแพทย์พยาบาลต้องพร้อม ทุกเวทีต้องเป็นแบบนี้

 

“นี่อาจจะเป็นทางออกของปัญหาที่ทุกคนถกเถียงกันในวันนี้ก็ได้”

 

ขณะที่ ทวี อัมพรมหา เลขาธิการสมาคมนายขนมต้มได้เผยว่า สำหรับนักมวยไทยนั้น เป็นกีฬาสำหรับคนที่ไม่มีรายได้และไม่มีทางเลือก ซึ่งกีฬานี้คือหนทางเดียวสำหรับหลายๆ คน รวมถึงตัวพวกเขาเอง ให้สามารถสร้างรายได้ให้กับพวกเขา ขณะที่การตัดโอกาสของเยาวชนในการขึ้นชกตั้งแต่วัยเด็กนั้นอาจทำให้การพัฒนานักมวยไทยในอนาคตต้องจบลง

 

“คนจัดกับตัวนักมวย คนจัดมีทางเลือก เขาอาจจะจัดหรือไม่จัดมวยเด็กก็ได้ แต่นักมวยเด็กไม่มีทางเลือก ผมไม่มีทางเลือก ยังไงผมก็ต้องชกมวยอย่างเดียว และกีฬาทุกอย่างนะครับ ชัดเจนว่าจะเก่งได้ต้องเริ่มตั้งแต่เด็กๆ 8-9 ขวบ อย่าง ไทเกอร์ วูดส์ ตีกอล์ฟตั้งแต่อายุเท่าไร

 

“มวยก็เหมือนกัน ถ้าคุณไปเริ่มช้ากว่านั้นก็ไม่ทันแล้ว อาจจะมีหลุดไปบ้าง แต่เราจะเสียโอกาสนักมวยไปหลายๆ คน โปรโมเตอร์อาจเลือกได้จะจัดหรือไม่จัด แต่สำหรับนักมวยไม่มีทางเลือก

 

“คือ พ.ร.บ. ปี 2542 ดีอยู่แล้ว แต่ต้องบังคับใช้ให้มันร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจจะมีเสริมเรื่องเฮดการ์ด อันนี้ผมโอเค ผมยกตัวอย่างกีฬาอื่นนะ ฟุตบอลคุณตัดตั้งแต่อายุ 12 เด็กมันพัฒนาไหม

 

“เทรนเนอร์ ครูมวยก็ต้องเป็น ใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาใช้ สร้างมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมาย มาตรฐานในการซ้อม มาตรฐานในการดูแลเด็ก”  

 

สาเหตุที่เราจำเป็นต้องนำมุมมองของทั้งสองฝั่งมานำเสนอในพื้นที่นี้ เนื่องจากที่ผ่านมากระแสของการวิจารณ์กฎระเบียบหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวงการมวยไทย ได้เกิดข้อวิจารณ์ที่เกิดขึ้นจากหลากหลายมุมมอง ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าจากมุมมองของนักวิชาการแล้ว การที่เยาวชนขึ้นชกอาจได้รับผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง สอดคล้องกับงานวิจัยของกีฬาชนิดอื่นๆ เช่น อเมริกันฟุตบอล มวยสากล หรือแม้กระทั่งรักบี้ มีการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อหาทางป้องกันและรักษาสวัสดิภาพของนักกีฬา

 

แต่ในมุมของวงการมวยไทยนั้นมองเห็นว่า การจำกัดอายุชกที่ห้ามต่ำกว่า 12 ปี เป็นการตัดช่วงเวลาที่นักมวยสามารถเริ่มต้นพัฒนาได้ในวัยเด็ก เช่นเดียวกับกีฬาชนิดอื่น ขณะเดียวกันเรื่องของการขึ้นชกมวยไทยตั้งแต่วัยเด็กนั้นเป็นสิ่งที่นักกีฬามวยไทยทั้งอดีตและปัจจุบันยอมรับว่า เป็นทางเลือกเดียวเพื่อสร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัว

 

 

ซึ่งทางออกของปัญหานี้มีหลายขั้นตอน ก้าวแรกของเส้นทางการแก้ปัญหาทุกอย่างระหว่างสองฝ่ายมีเพียงอย่างเดียวคือ การหันหน้าเข้าหาและพูดคุยถึงหนทางที่ทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะมาพบกันครึ่งทางและเดินหน้าพัฒนาวงการมวยไทยไปพร้อมกัน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X