×

สิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากเทพนิยาย ‘เชียงราย ยูไนเต็ด’

28.10.2019
  • LOADING...
เชียงราย ยูไนเต็ด

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • การก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ไทยลีกทีมล่าสุดของ สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด นอกจากจะเป็นแชมป์ลีกครั้งแรกนับตั้งแต่ก่อตั้งทีมในรอบ 10 ปี ยังกลายเป็นทีมที่ขึ้นครองแชมป์ลีกสูงสุดครั้งแรกในรอบ 11 ปีที่ไม่ใช่ทีมจากบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด หรือเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด อีกด้วย
  • ความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับ สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ล้วนมาจากการทำงานอย่างหนักของบอร์ดบริหาร รวมไปถึงความทุ่มเทของโค้ช ผู้เล่น และแฟนบอลที่ให้กำลังใจตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

มีหลายหลากเหตุผลที่แฟนฟุตบอลไทยจำนวนมากจะรักการคว้าแชมป์ไทยลีกของทีม ‘กว่างโซ้งมหาภัย’ สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ครับ

 

แน่นอนว่ามันเป็นชัยชนะที่ได้มาในเงื่อนไขที่ยาก และยากจนแทบไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้

 

แน่นอนว่ามันเป็นชัยชนะที่ได้มาจากสถานการณ์ที่หลายอย่างดูจะไม่เป็นใจ โดยเฉพาะหลังคู่แข่งที่เป็นแชมป์เก่าและเก๋าสุดๆ อย่างบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด สามารถเปิดบ้านเอาชนะการท่าเรือ เอฟซี ได้แบบที่แฟนบอลจำนวนไม่น้อยที่ได้เห็นเกมนี้มีแฮชแท็กในใจว่า #อิหยังวะ

 

และแน่นอนว่ามันเป็นชัยชนะที่ได้มาเพราะมีคนหยิบยื่นให้ ซึ่งคนที่หยิบยื่นมาก็ไม่ใช่คนอื่นไกล แต่เป็นทีมเมืองพี่เมืองน้องอย่างเชียงใหม่ เอฟซี และคนที่เป็นฮีโร่ก็คือ ไคเก เลเมส กองหน้าที่ทีมเชียงราย ยูไนเต็ด ให้ยืมตัวไป

 

ทีมที่ตกชั้นไปแล้วอย่างเชียงใหม่ เอฟซี กลายเป็นทีมที่หยุดไม่ให้บุรีรัมย์ ผู้ (ถูกมองว่า) หยิ่งผยอง (จากการปฏิเสธจะรับถ้วยแชมป์ในเกมนี้) ได้ฉลองแชมป์ไทยลีกอีกสมัยของพวกเขา ส่งมอบให้เชียงราย ยูไนเต็ด ทีมที่สู้ทุกอย่างเท่าที่มี และได้แชมป์ไปด้วยกฎ Head-to-head

 

มันเป็นพล็อตลูกหนังโรแมนติกที่สามารถเก็บไปเล่าได้อีกหลายสิบปี

 

โดยเฉพาะเหล่าผู้คนที่อยู่ในสนามวันนั้น เชื่อว่าพวกเขาต่างมีความทรงจำที่หลากหลายและสวยงามแตกต่างกันออกไป

 

แต่ในเรื่องราวที่สวยงามนั้น ลึกๆ แล้วมันประกอบไปด้วยเหตุผลและการกระทำมากมายครับ กว่าที่เชียงราย ยูไนเต็ด สโมสรที่เพิ่งจะก่อตั้งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จากทีมที่ลงสนามนัดแรกด้วยจำนวนผู้ชมเพียงแค่หลักร้อยคนจนกลายมาเป็นทีมอันดับหนึ่งของประเทศ

 

มันมีทั้งรอยยิ้มและน้ำตาในระหว่างการเดินทาง ซึ่งจะให้เล่าตรงนี้ทั้งหมดอาจจะยาวและใช้เวลานาน

 

เอาเป็นว่าผมลองมองถึงสิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากแชมป์ที่เป็นเหมือนเทพนิยายครั้งนี้ ซึ่งผมคิดว่านำไปปรับใช้ได้กับหลายอย่างครับ

 

เชียงราย ยูไนเต็ด

 

1. เป็นเจ้าของต้องมีใจ

สโมสรเชียงราย ยูไนเต็ด จะไม่มีวันนี้เลยถ้าพวกเขาไม่มีเจ้าของสโมสรที่บ้าคลั่งในเกมฟุตบอล

 

ถึงภาพภายนอกจะมองว่าธุรกิจ (ใช่ครับ ฟุตบอลคือธุรกิจ!) การเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลนั้นเป็นธุรกิจที่ดูดี ได้แต่งตัวหล่อๆ สวยๆ มายืนในสนามบ้าง ข้างสนามบ้าง ได้มีข่าวหรือภาพข่าวออกตามสื่อ เป็นการประชาสัมพันธ์ตัวเองได้อย่างแนบเนียน แต่ในเนื้อแท้แล้วการบริหารสโมสรฟุตบอลนั้นไม่ง่าย

 

มันเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ในแบบที่เราอาจจะคาดไม่ถึง

 

และการจะบริหารสโมสรได้นั้นต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล ใครกระเป๋าไม่หนักพอหรือใจไม่ถึงพอก็ยากจะประสบความสำเร็จได้

 

สำหรับสโมสรฟุตบอลในไทย ต้องยอมรับว่ากลุ่มคนที่สำคัญที่สุดคือนายทุนของสโมสร ซึ่งเป็นคนที่ชี้เป็นชี้ตายให้กับทีมได้ และโชคดีสำหรับทีมกว่างโซ้งที่พวกเขาได้เจ้าของสโมสรที่มีคุณสมบัติของการเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลที่ดีครบ

 

นอกจากจะมีทุน มีสายสัมพันธ์กับองค์กรธุรกิจ เป็นที่รู้จักในสังคม มีวิสัยทัศน์ ตัดสินใจเด็ดเดี่ยว 

 

พวกเขายังมีคุณสมบัติที่พิเศษมากที่สุดคือการเป็นคนท้องถิ่น

 

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น มิตติ ติยะไพรัช หรือปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช พวกเขาถือว่าสโมสรฟุตบอลแห่งนี้สำคัญ

 

ไม่ใช่เฉพาะแค่สำคัญกับตัวเองหรือครอบครัว แต่สำคัญต่อ ‘คนเจียงฮาย’ ทุกคน 

 

ความมุ่งมั่นทุ่มเทนี้จึงถูกส่งต่อไปถึงทีมงานทุกคน ตั้งแต่ระดับผู้บริหารถึงสตาฟฟ์โค้ชและนักฟุตบอล ทุกเกมที่ลงแข่งขัน พวกเขามีเดิมพันถึงความสุขของคนทั้งจังหวัดด้วย

 

เรื่องนี้ไม่ต่างอะไรจาก เนวิน ชิดชอบ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงจังหวัดบุรีรัมย์บ้านเกิดที่รักให้กลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญระดับประเทศ ซึ่งทำได้จริงและกลายเป็นหมุดหมายสำคัญระดับโลกไปแล้ว 

 

ดังนั้นหากสโมสรที่จะประสบความสำเร็จอย่างจริงจังได้ สิ่งสำคัญลำดับต้นๆ คือคนบริหารต้องมีใจกับสโมสรและเกมฟุตบอลก่อน

 

ถ้ามีอย่างแรกแล้ว เดี๋ยวอย่างอื่นก็ตามมาเอง

 

เชียงราย ยูไนเต็ด

 

2. ความล้มเหลวคือครูที่ดีที่สุด

ถึงจะเป็นสโมสรที่ถือว่ามีทุนรอนพอสมควร แต่เชียงราย ยูไนเต็ด ก็เจ็บมาเยอะ

 

โดยเฉพาะในช่วง 1-2 ปีที่แล้วที่พวกเขาตัดสินใจทุ่มหมดหน้าตัก กวาดผู้เล่นระดับบิ๊กเนมเข้ามาร่วมทีม (ผมยังจำวันที่เชียงรายประกาศคว้าตัวโค้ชที่ดีและมีเคมีเข้ากับสโมสรอย่าง อเล็กซานเดร กามา เรียกว่าเคยถึงขั้นเป็นเต็งหนึ่งที่จะคว้าแชมป์ไทยลีกมาแล้ว

 

แต่เงินไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง การคว้าแชมป์รายการที่ยากที่สุดอย่างการแข่งขันลีกมันมีองค์ประกอบที่หลากหลายและไม่ง่ายขนาดนั้น 

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่เชียงรายได้จากการทุ่มทุนสร้างคือการได้แชมป์รายการฟุตบอลถ้วย และการค้นพบคำตอบบางอย่างที่ทำให้พวกเขารู้ว่าบางครั้งความสำเร็จก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินกรุยทางเสมอไป

 

เดิมเชียงราย ยูไนเต็ด ในปี 2019 ถูกมองข้าม เพราะพวกเขาตัดสินใจลดขนาดทีม ลดงบประมาณในการทำทีม ลดเพดานค่าเหนื่อย โดยมีการปล่อยผู้เล่นคนสำคัญออกจากทีมหลายราย ส่วนนักเตะใหม่ที่ซื้อเข้ามาก็เป็นของที่ถูกมองว่าเป็นเกรดรองที่ด้อยกว่า

 

ซ้ำยังมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งโค้ชก่อนเริ่มฤดูกาลด้วยการปลด บอร์จีส ออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้ง ไอล์ตัน ขึ้นมาคุมทีมแทน

 

แต่มันกลับกลายเป็นการตัดสินใจที่ถูกและดีอย่างเหลือเชื่อ

 

ในวงเล็บว่ามันเกิดขึ้นได้ เพราะพวกเขาเรียนรู้จากบทเรียน และได้คำตอบว่าสิ่งที่สำคัญกว่าบุคคลคือระบบ

 

ระบบถูกกำหนดเอาไว้แล้ว เหลือแค่หาคนที่ตอบโจทย์ได้ใช่ที่สุด (เท่าที่จะหาได้) มาใช้งาน ดังนั้นต่อให้ต้องปล่อยสตาร์ออกจากทีมไป ก็เพียงหาคนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมาทำหน้าที่แทน เรื่องนี้เชียงราย ยูไนเต็ด ทำได้ดีมากในปีนี้

 

เรื่องเหล่านี้เหมือนจะง่ายแต่ไม่ง่าย สโมสรระดับโลกหลายแห่งก็ยังทำไม่ได้

 

หนึ่งในนั้นคือสโมสรที่มีนามสกุลว่า ยูไนเต็ด เหมือนกัน

 

เชียงราย ยูไนเต็ด

 

3. นักเตะไทย (ก็) ทำได้

หนึ่งในเรื่องที่เป็นคำถามที่น่าสนใจที่สุดของลีกฟุตบอลไทยคือการที่สโมสรต่างๆ ทุกแห่งเลือกนักฟุตบอลที่เป็น ‘แกน’ (Core) ของทีมเป็นนักเตะต่างชาติเกือบทั้งหมด

 

ตำแหน่งดังกล่าวไล่ไปตั้งแต่ผู้รักษาประตู กองหลังตัวกลาง กองกลาง และศูนย์หน้า

 

ไม่เชื่อลองดูในทำเนียบดาวซัลโวของไทยลีกปี 2019 ดูแล้วบางทีก็อดคิดไม่ได้ว่านี่มันเป็นลีกบราซิลหรือลีกในลาตินอเมริกาที่ไหนสักประเทศ

 

เหตุผลนั้นพอเข้าใจได้ครับ เพราะนักฟุตบอลต่างชาติความสามารถสูงกว่า การันตีความสำเร็จได้มากกว่า (และแน่นอนว่าง่ายกว่า!) บางครั้งค่าเหนื่อยอาจจะสูง แต่ก็มีความคุ้มค่าที่จะเสี่ยง (ด้วยการเซ็นสัญญาระยะสั้น ต่อกันปีต่อปี ไม่พอใจก็หาเรื่องยกเลิกสัญญาทันที) 

 

เรื่องนี้สมาคมฟุตบอลก็กังวลถึงขั้นมีการตั้งรางวัล Thais Strike Back เพื่อกระตุ้นฟอร์มนักเตะไทยให้สู้กับนักเตะต่างชาติให้ได้

 

อย่างไรก็ดี เชียงราย ยูไนเต็ด เป็นทีมหนึ่งที่ใช้นักฟุตบอลไทยเป็นหลักในทีมจนคว้าแชมป์ได้ ไม่ว่าจะเป็น พิธิวัต สุขจิตธรรมกุล, สุริยา สิงห์มุ้ย, ชัยวัฒน์ บุราณ, ศิวกรณ์ เตียตระกูล, ชินภัทร ลีเอาะ, อภิรักษ์ วรวงศ์ 

 

รวมถึงสตาร์หมายเลขหนึ่งของทีมในเวลานี้อย่าง ‘เจ้าบุ๊ค’ เอกนิษฐ์ ปัญญา ซึ่งเป็นตัวจากอะคาเดมีของสโมสรที่ถูกดึงตัวกลับมาช่วยทีมในเลก 2 หลังปล่อยให้เชียงใหม่ เอฟซี ยืมไปใช้งานในเลกแรก ซึ่งทำผลงานได้ยอดเยี่ยม และเป็นนักเตะไทยที่ยิงได้เยอะที่สุดในลีกด้วย

 

นั่นแปลว่านักเตะไทยก็ไม่ได้ไร้ความสามารถอะไร และบางทีการใช้ผู้เล่นไทย โดยเฉพาะจากอะคาเดมีของสโมสรเอง ก็อาจจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายที่ฟุ้งเฟ้อจนเกินตัวได้ด้วย

 

เชียงราย ยูไนเต็ด

 

4. แฟนฟุตบอลคือรากของสโมสร

แม้จะไม่ใช่สโมสรที่มีฐานแฟนบอลกลุ่มใหญ่ที่สุด แต่เชียงราย ยูไนเต็ด คือหนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่มีแฟนบอลเหนียวแน่น

 

ทีมกว่างโซ้งไม่ใช่เป็นแค่ทีมฟุตบอล แต่คือสมบัติของชาวเมือง และการไปเชียร์ฟุตบอลก็ไม่ใช่แค่กิจกรรมฆ่าเวลา แต่เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของคนเชียงราย

 

ยิ้มด้วยกัน หัวเราะด้วยกัน ร้องไห้ด้วยกัน เจ็บด้วยกัน 

 

ในโมงยามของความสำเร็จกับชัยชนะที่ได้มาอย่างเหลือเชื่อ มันยิ่งทำให้ทุกอย่างมีคุณค่ามากกว่าเดิมอีก เพราะต่างก็เหนื่อยยากมาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นนักฟุตบอลหรือแฟนบอล 

 

โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงช่วงเวลาที่มืดมนอนธการ เมื่อแฟนบอลจำนวนหนึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุระหว่างตามไปเชียร์ทีมรักที่บุรีรัมย์ แชมป์สมัยแรกของเชียงราย ยูไนเต็ด จึงมีความพิเศษจากสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นนี้

 

นี่คือสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้น และเป็นอีกหนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าเอาเป็นแบบอย่าง

 

เพราะในโลกของเกมฟุตบอลแล้ว สิ่งที่เป็นรากฐานของสโมสรก็คือแฟนบอล เกมฟุตบอลที่ไม่มีแฟนบอลนั้นไม่มีความหมาย ดังนั้นสิ่งที่ทุกสโมสรต้องคิดถึงให้มากที่สุดคือแฟนบอลของตัวเอง

 

สโมสรอย่างเชียงราย ยูไนเต็ด ไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นทีมขวัญใจมหาชน พวกเขาเริ่มจากการมีคนมาดูแค่ร้อยคน เปลี่ยนสนามแข่งขันมาแล้วหลายครั้ง ก่อนที่จะเปิดใช้สนามยูไนเต็ด สเตเดียม หรือปัจจุบันในชื่อสิงห์ สเตเดียม ซึ่งไม่ว่าจะไปที่ใด เหล่ากว่างโซ้งในชุดส้มก็พร้อมจะมาให้กำลังใจเสมอ

 

มีบ้างที่เจอช่วงเวลายากลำบากจนยอดแฟนบอลตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย แต่พวกเขาก็จับมือกันจนฝ่าฟันวิกฤตได้สำเร็จ

 

ในขณะที่สโมสรในไทยอีกหลายแห่งตัดสินใจถอนสมอ บ้างย้ายถิ่นฐาน บ้างยุบทีมหรือพักทีม ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ได้สนใจแฟนบอลที่เป็นดังรากของสโมสร

 

สุดท้ายมันไม่ได้เป็นผลดีต่อใครเลย โดยเฉพาะต่อวงการฟุตบอลของประเทศ

 

ทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนคร่าวๆ ที่เราได้เรียนรู้จากการคว้าแชมป์ไทยลีกของทีมกว่างโซ้งมหาภัย ซึ่งผมเชื่อว่าหากเราลองดูรายละเอียดอย่างลึกซึ้งจริงๆ ก็น่าจะมีบทเรียนอีกมากมายที่เราสามารถศึกษาจากยอดทีมแดนเหนือของไทยได้

 

ที่แน่ๆ การคว้าแชมป์ของพวกเขายังมีคุณูปการที่สำคัญมากต่อวงการฟุตบอลไทย เพราะสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ได้ช่วยโหมกระแสลูกหนังแดนสยามอีกแรง หลังจากที่มีประกายไฟแรกจากทีมชาติไทยในยุคของ อากิระ นิชิโนะ ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

 

ฟุตบอลไทยยังไม่ตายง่ายๆ

 

เรื่องนี้น่าดีใจที่สุดครับ 🙂

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI
  • 23 ปีที่ผ่านมาของการแข่งขันฟุตบอลโตโยต้า ไทยลีก มีทีมที่เป็นแชมป์ 12 ทีม
  • ทีมที่ได้แชมป์มากที่สุดคือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ได้แชมป์ 6 สมัย
  • ย้อนหลังกลับไปนับตั้งแต่ปี 2552 มีเพียง เมืองทอง ยูไนเต็ด และบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่คว้าแชมป์ไทยลีกมาครองได้ (บุรีรัมย์ 6 สมัย, เมืองทองฯ 4 สมัย) ก่อนที่จะเป็นสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ที่คว้าแชมป์มาครองในฤดูกาลนี้ได้สำเร็จ
  • เชียงราย ยูไนเต็ด เคยเป็นทีมที่ไม่มีสนามของตัวเอง ต้องใช้สนามของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, สนาม อบจ. จังหวัดเชียงราย และเคยถึงขั้นต้องไปใช้สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี (ทั้งที่สโมสรคือเชียงราย!) ส่วนสนามเหย้าปัจจุบัน สิงห์ สเตเดียม เปิดใช้เมื่อปี 2560 มีความจุ 11,354 คน
  • แชมป์ใหญ่รายการแรกที่สโมสรคว้าได้คือเอฟเอคัพในปี 2560 ก่อนจะได้แชมป์ลีกคัพในปี 2561 และแชมป์ลีกในปี 2562 ทำให้เป็นสโมสรที่ 2 ในไทยที่คว้าแชมป์รายการหลักได้ครบ 3 รายการต่อจากบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
  • ชื่อเล่นภาษาอังกฤษของเชียงราย ยูไนเต็ด คือ ‘The Beetles’
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising