เมื่อวานนี้ (19 มกราคม) จิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ อัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่าคณะกรรมาธิการได้รับเรื่องจากประชาชนในจังหวัดทางภาคเหนือถึงกรณีที่มีข่าวว่าการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (AOT) อาจจะยุบสนามบินที่มีผลกำไรขาดทุน เช่น สนามบินหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา, สนามบินแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โดยตนพร้อมคณะกรรมาธิการที่ดูแลกิจการรัฐวิสาหกิจได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายเพื่อตรวจสอบและรับฟังปัญหา ได้ข้อสรุปดังนี้
ในรอบ 3 ปี เชียงรายมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นปี 2559 มีประมาณ 2 ล้านคน จาก 14,589 เที่ยวบิน เพิ่มมาเป็นเกือบ 3 ล้านคนในปี 2562 จาก 20,203 เที่ยวบิน ในขณะเดียวกันกลับไม่ได้งบประมาณที่เพียงพอในการพัฒนาให้เป็นสนามบินนานาชาติอย่างเต็มรูปแบบ เพราะยังมีความแออัดในอาคาร และที่จอดรถที่ยังไม่เป็นระเบียบนัก และอาคารเก่าที่ใช้มานานหลายสิบปี รวมทั้งการพัฒนาและตกแต่งให้เป็นสนามบินนานาชาติอย่างเต็มรูปแบบยังไม่มีการดำเนินการเท่าที่ควร
ทำให้เกิดความแออัดและผู้ใช้บริการไม่พึงพอใจ ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบคุณภาพความพึงพอใจ (ASQ) ที่ต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่า 4.19 แต่ได้คะแนนเกือบสอบตกจนเรียกว่าเส้นยาแดงผ่าแปด ได้เพียง 4.20 บวกแค่ 0.1 ถือว่าต่ำมาก ซึ่งกรรมาธิการพบว่าได้รับงบประมาณในการพัฒนาไม่สอดรับกับจำนวนเที่ยวบินและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
คณะกรรมาธิการได้ให้ความเห็นว่าเรื่องดังกล่าวนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่มีข่าวว่าจะยกเลิกสนามบินเชียงราย จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาด้านความพึงพอใจ และรัฐบาลต้องใส่ใจในการพัฒนาทั้งงบประมาณและทุกรูปแบบให้กับสนามบินเชียงรายมากขึ้น
จิรายุกล่าวต่อว่าจากการตรวจสอบเป็นไปได้ยากที่จะมีการยกเลิกสนามบินเชียงราย เนื่องจากยังจำเป็นต้องจัดศูนย์กลางทางการบินของแนวนโยบายเขตเศรษฐกิจ ที่จะประกาศให้ 3 อำเภอใหญ่คือ แม่สาย เชียงแสน และเชียงของ เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อรองรับการเชื่อมโยงระหว่าง 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมา ลาว และจีน ซึ่งขณะนี้จีนได้ทำรถไฟความเร็วสูงมาจ่อที่ชายแดนบ่อเต็นของลาว และโครงการรถไฟฟ้าในลาวเส้นทางมาถึงเวียงจันทน์ ปัจจุบันก่อสร้างไปแล้วกว่า 75%
“สิ่งที่กรรมาธิการกังวลใจคือการเตรียมการขยายสนามบินท่าขี้เหล็กของเมียนมา และการเตรียมขยายสนามบินครั้งใหญ่ของบ้านห้วยทรายในลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอเชียงของ หากทั้งสองประเทศเร่งลงทุนขนานใหญ่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างรุนแรง ซึ่งรัฐบาลไทยควรจะเร่งพิจารณาแนวทางแก้ไขการคมนาคม ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ ในพื้นที่ชายแดนที่มีการค้าขายอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะงบประมาณปี 2563-2564 ที่จัดทำงบบูรณาการเพื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษหลายหมื่นล้านบาทต้องใส่ใจกับเรื่องนี้” จิรายุกล่าว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์