วันนี้ (13 กันยายน) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานการณ์ น้ำท่วม ที่จังหวัดเชียงราย
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 45 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง คลื่นลมแรง และระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงวันที่ 13-18 กันยายน 2567 โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำ ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัย อย่างใกล้ชิด พร้อมจัดทีมปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
ภาคเหนือพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมขัง 11 จังหวัด ได้แก่
- แม่ฮ่องสอน: อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปางมะผ้า อำเภอปาย อำเภอสบเมย
- เชียงใหม่: อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด
- เชียงราย: อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง
- พะเยา: อำเภอปง อำเภอเชียงคำ อำเภอจุน อำเภอภูกามยาว
- น่าน: อำเภอทุ่งช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอปัว อำเภอบ่อเกลือ อำเภอเชียงกลาง
- ตาก: อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภออุ้มผาง
- กำแพงเพชร: อำเภอปางศิลาทอง อำเภอคลองลาน อำเภอโกสัมพีนคร อำเภอพรานกระต่าย
- พิษณุโลก: อำเภอชาติตระการ อำเภอนครไทย อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอวังทอง อำเภอเนินมะปราง
- พิจิตร: อำเภอโพธิ์ประทับช้าง
- เพชรบูรณ์: อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอหนองไผ่ อำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก
- นครสวรรค์: อำเภอแม่วงก์ อำเภอแม่เปิน
ที่อำเภอแม่สาย น้ำในแม่น้ำสายยังท่วมสูงและหลากรุนแรง ชุมชนเกาะทราย ชาวบ้านยังติดตามบ้านเรือน ขณะที่ด่านพรมแดนแม่สายเปิดให้ประชาชนข้ามผ่านไปได้ แต่ห้ามรถยนต์และจักรยานยนต์ผ่าน
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในเขตเทศบาลนครเชียงรายขณะนี้มีแนวโน้มดีขึ้น การประปาส่วนภูมิภาครายงานระดับน้ำ ณ จุดวัดระดับน้ำล่าสุด (เวลา 03.00 น.) น้ำต้นทางบริเวณสะพานมิตรภาพแม่นาวาง-ท่าตอนลดลง ยังไม่มีมวลน้ำมาเพิ่ม ส่วนเขตเมืองบริเวณสะพานพ่อขุนเม็งรายมหาราชระดับน้ำยังลดลงต่อเนื่อง ต่ำกว่า 8 เมตร แต่ยังคงท่วมภายในชุมชน ทำให้ประชาชนยังไม่สามารถกลับเข้าไปยังที่อยู่อาศัยได้
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาเมืองเชียงรายเปิดเผยว่า ได้รวบรวมทีมปฏิบัติการไฟฟ้ากระจายชุดสำรวจทุกพื้นที่ที่ดับกระแสไฟฟ้า และจะเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ระดับน้ำลด แต่ในกรณีบ้านผู้ใช้ไฟน้ำท่วมปลั๊ก ระบบไฟฟ้าภายในขัดข้อง/เสียหาย เพื่อความปลอดภัย จะไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ได้
กรมทรัพยากรน้ำรายงานการเตือนภัยน้ำหลาก-ดินถล่ม ด้วยระบบ Early Warning System มีการเตือนภัยระดับสีเขียวในจังหวัดเชียงราย ให้เฝ้าระวังที่บ้านแม่แอบ บ้านห้วยเย็น (อำเภอเชียงแสน) บ้านขุนแม่บง (อำเภอดอยหลวง) ส่วนการเตือนภัยระดับสีเหลืองให้เตรียมพร้อมที่บ้านดอยงาม (อำเภอพาน)
ขณะที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ยืนยันเปิดให้บริการตามปกติ ควรเผื่อเวลาในการเดินทาง แนะนำผู้ที่จะเดินทางมายังท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงให้เดินทางด้วยรถกระบะและรถยกสูง สามารถสัญจรได้ผ่านถนนเส้นทางหน้าท่าอากาศยาน (จากบิ๊กซีบ้านดู่) เข้ามายังท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย โดยไม่แนะนำให้ใช้รถเล็ก
สายการบินนกแอร์ระบุว่า จะกลับมาให้บริการเส้นทางระหว่างสนามบินดอนเมืองกับสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงรายตามปกติ โดยเที่ยวบินแรกคือ DD102 จะออกจากสนามบินดอนเมืองไปยังเชียงรายในเวลา 10.00 น.
ส่วนสายการบินแอร์เอเชียจะกลับมาให้บริการ 2 เที่ยวบินเข้า-ออกจากสนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย เพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารที่ตกค้าง และจำเป็นต้องเดินทาง เช่นเดียวกับสายการบินไทยที่จะกลับมาให้บริการในวันนี้เช่นกัน
สถานการณ์น้ำที่อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เช้านี้ปริมาณน้ำลดลง
เฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 พร้อมด้วย The Guardian Team และทีม Air Rescue ของ ปภ. เริ่มภารกิจในเช้าวันที่ 2 วันนี้ (13 กันยายน เวลา 08.30 น.) รับภารกิจขึ้นบินนำส่งผู้ป่วยท้องแก่ใกล้คลอดในพื้นที่น้ำท่วมจังหวัดเชียงราย ส่งต่อรถพยาบาลรอรับ และนำส่งถึงมือแพทย์อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม วันนี้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่อำเภอแม่สาย เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและแผนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสถานการณ์อุทกภัยภาคเหนือ พร้อมมอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งก่อนออกเดินทาง นายกฯ ได้ตรวจการขนย้ายเรือท้องแบนเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วย
โดยในการลงพื้นที่ครั้งนี้ นายกฯ จะหารือกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ประชาชนในพื้นที่ เพื่อจัดการการช่วยเหลือจากภาครัฐให้ตรงกับสถานการณ์และความต้องการของประชาชนให้มากที่สุด และให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่อื่นๆ ด้วย