×

นักวิชาการชี้ น้ำท่วมเชียงราย ‘ประเมินหน้างานต่ำ-ขาดประสิทธิภาพเตือนภัย’ เกิดอะไรกับการจัดการของภาครัฐ

โดย THE STANDARD TEAM
13.09.2024
  • LOADING...
นำ้ท่วม เชียงราย

ภาพการโพสต์ข้อความขอความช่วยเหลือจากผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่จังหวัดเชียงราย กลายเป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจผู้รับสารไม่น้อย 

 

แม้ความช่วยเหลือจะหลั่งไหลเข้าไปยังพื้นที่แล้ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม นั่นคือบทเรียนและเบื้องหลังความเสียหาย ที่นักวิชาการเปิดเผยกับทีมข่าวว่า วิกฤติน้ำท่วมเชียงรายคือความเสี่ยงที่มีโอกาสจะเกิด 1% รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ระบุว่า “ฝนขนาดนี้ เรียกว่ารุนแรงในรอบ 100 ปี โอกาสเกิดขึ้น 1% แรงกว่าปี 2554 เพราะในตอนนั้นรุนแรงในรอบ 50 ปีเท่านั้น”

 

หากตัวเลขที่พยากรณ์ไว้เป็นไปตามที่นักวิชาการระบุ เหตุใดจึงมีผู้เสียชีวิตและประชาชนจำนวนมากติดอยู่ภายในบ้าน หลายคนอาศัยหลังคาบ้านเป็นที่พักพิงท่ามกลางสายน้ำที่เชี่ยวกราก การแจ้งเตือน สั่งอพยพล่วงหน้า และการประเมินความเสี่ยงจากภาครัฐ เหตุใดจึงไม่ทันท่วงที

 

THE STANDARD พูดคุยกับ ผศ. ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในคณะทำงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซาก ซึ่งแต่งตั้งโดย ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อวิเคราะห์ถึงการรับมือมวลน้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงราย



และคาดการณ์มวลน้ำที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนนี้ พร้อมหนทางรับมืออุทกภัยกับ รศ. ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร FutureTales Lab, MQDC และผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ



ประชาชนติดอยู่ภายในบ้าน ไม่สามารถอพยพได้ทัน หลังน้ำท่วมสูงและไหลหลากอย่างรวดเร็ว จังหวัดเชียงราย

ภาพ: LILLIAN SUWANRUMPHA /AFP

 

“ปัญหาของเราคือรับมือไม่ทัน เราประเมินต่ำไปตั้งแต่ท่วมเชียงราย 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว ฝนตกไม่หนัก แต่ตกแช่ ตกเป็นสัปดาห์ สิ่งที่เราต้องระวังคือ ดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก แต่รอบนี้มันต่างออกไป คือน้ำที่มาจากนานาชาติ น้ำจากเพื่อนบ้าน เราไม่มีข้อมูล และไม่มีความร่วมมือกันในการส่งข้อมูล” 

 

ผศ. ดร.สิตางศุ์ อธิบายด้วยว่า น้ำท่วมในอำเภอแม่สาย ส่วนหนึ่งมาจากผลกระทบพายุยางิ และน้ำอีกส่วนมาจากเมียนมา เข้ามาที่อำเภอแม่อาย จังหวะที่มาถึงประเทศไทยน้ำก็เยอะมากแล้ว เพราะฝนตก 100-200 มิลลิเมตรต่อวัน เราก็เลยไม่รู้ว่าจริงๆ ฝนตกต่อเนื่องที่มาจากฝั่งนู้นแรงขนาดไหน 

 

เมื่อน้ำจะมาถึงไทย ทำให้มีสองน้ำที่ประจวบเหมาะกัน การเฝ้าระวังและเตือนภัยจึงมีปัญหา เพราะว่าได้ข้อมูลไม่ครบ และด้วยภูมิประเทศที่ชันทำให้น้ำหลากไหลแรงและเร็ว

 

ผศ. ดร.สิตางศุ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ปริมาณน้ำจากอำเภอแม่อายมีช่วงพีคในตอนกลางคืนของวันที่ 11 กันยายน กว่าที่น้ำจะไหลมาที่อำเภอเมืองเชียงราย ประมาณเช้ามืดของวันที่ 12 กันยายน จึงมีเวลาที่จะสั่งอพยพ

 

“มวลน้ำจากแม่อายไปยังตัวเมืองเชียงรายใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมง มีเวลาเป็นวันจริงๆ ตัวเมืองมีเวลาเหลือเฟือที่จะเตรียมตัว จึงไม่ควรจะสาหัส ควรจะรับมือทัน มีเวลาชั่วโมงหนึ่งต่อให้น้ำหลากก็หนีออกจากบ้านทัน แต่คนไม่รู้เรื่อง ถึงเวลาชาวบ้านช่วยกัน นักวิชาการท้องถิ่นต้องมานั่งจับตาดูน้ำ” 

 

ผศ. ดร.สิตางศุ์ ระบุว่า ฝั่งข้อมูลน้ำเองก็มีจุดอ่อน แม้จะเตือนล่วงหน้า แต่ก็ชี้แจงข้อมูลเป็นวงกว้าง บอกว่าน่าจะเกิดดินโคลนถล่มที่เชียงราย แต่ไม่ได้ชี้จุดเกิดเหตุ กรมอุตุนิยมวิทยาไม่ได้บอกว่าฝนที่ตกลงมาเป็นน้ำท่าจำนวนเท่าไร ใครบ้างที่ต้องเฝ้าระวัง และไม่มีการคาดการณ์แบบเรียลไทม์ เมื่อชาวบ้านฟังข้อมูลก็ไม่เกิดความตระหนก ไม่ได้สนใจ ประกอบกับน้ำท่วมในรอบนี้เป็นรอบที่ 8 ทำให้คิดว่าที่ผ่านมาเราก็ผ่านมาได้

 

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ น้ำท่าที่มีจำนวนมากกลายเป็นน้ำท่วมทุ่งที่ไหลหลาก และไม่สามารถบังคับได้ จนทำให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาทันที

 

ระบบเตือนภัยที่ไม่เพียงพอ

 

ผศ. ดร.สิตางศุ์ กล่าวว่า ในการรับมือภัยพิบัติด้านน้ำของไทยมี 2 ส่วนคือ



ส่วนแรก ข้อมูลด้านน้ำ อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ สถานีสูบน้ำต่างๆ กรมอุตุนิยมวิทยา ส่งไปยังฝั่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)

 

“ในการแจ้งเตือน ฝั่งข้อมูลน้ำจะให้ข้อมูลได้อย่างเดียว แต่เสนอแนะ สั่งอพยพไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย เมื่อข้อมูลฝั่งน้ำยังไม่แม่นยำ ฝั่ง ปภ. ก็อาจใจเย็น คิดว่ายังมีเวลา เขาก็ไม่ขยับ ทำให้น้ำท่วมเชียงรายสองรอบกว่าจะรู้ตัว เตือนอย่างไรให้เงียบสนิท” 

 

ส่วนที่สอง การบริหารจัดการฝั่ง ปภ. อยู่ภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนบริหารจัดการ โดยนำข้อมูลจาก สทนช. ไปปฏิบัติ เตรียมการขับเคลื่อนแผนรับมือน้ำท่วมของจังหวัด 

 

ผศ. ดร.สิตางศุ์ ชี้ให้เห็นปัญหาของการจัดการนี้ว่า เมื่อ สทนช. ให้ข้อมูลไป ทั้งการเตือนพายุยางิ แต่ฝั่ง ปภ. กลับไม่เข้มข้นในการที่จะรับมือ การประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป อาจเห็นข่าวว่าพายุอ่อนกำลังลงไปอาจไม่กระทบมาก ประกอบกับไม่มีข้อมูลน้ำที่เมียนมา พอฝนตกลงมาวันละ 180 มิลลิเมตรต่อวินาที จนเกือบถึง 300 มิลลิเมตรต่อวินาที ทำให้ไม่ได้เตรียมการ 

 

ทั้งนี้ในการเตือนภัยจะแบ่งเป็น 4 ระดับ น้ำท่วมที่จังหวัดเชียงรายเป็นเพียงระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน แต่ถ้าสมมติว่า ปีนี้น้ำท่วมภาคกลางอย่างจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง จะต้องยกระดับเป็นภัยที่เป็นระดับชาติ เช่นเดียวกับปี 2554 ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ถ้าไม่ใช่คนที่บริหารจัดการจะเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ผศ. ดร.สิตางศุ์ ย้ำด้วยว่า บทเรียนจากเชียงรายจะเป็นตัวบอกชัดว่า หากการจัดการไม่ดีขึ้น มวลน้ำจากเชียงรายที่จะไหลไปยังแม่น้ำโขงเข้าสู่ภาคอีสานจะสาหัส แม้ส่วนตัวเชื่อว่าคนจะระวังมากขึ้น แต่ก็ยังมีความกังวล เพราะไม่ได้มีการคาดการณ์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ว่าน้ำจะไหลมาเท่าไร จะอยู่นานแค่ไหน ได้แต่ใช้กลไกการสังเกตและบอกต่อ หรือการคาดการณ์ตามประสบการณ์ ซึ่งไม่มีเทคนิควิทยาศาสตร์ที่นำมาใช้อย่างจริงจัง 

 

“การคาดการณ์ที่มันขาดช่วง มันเป็นท่อนๆ น้ำฝนตกลงมาจะกลายเป็นน้ำท่าเท่าไร ไหลไปตรงไหน กี่ชั่วโมงจะขึ้นกี่เซนติเมตร ไม่มี แล้วจะรับมืออย่างไร”

 

เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จังหวัดเชียงราย

ภาพ: LILLIAN SUWANRUMPHA / AFP

 

ขาดประสิทธิภาพเตรียมความพร้อมก่อนเกิดภัยพิบัติ

 

ขณะที่ รศ. ดร.เสรี ชี้ไปในทางเดียวกันกับ ผศ. ดร.สิตางศุ์ ว่า หน่วยงานของรัฐประเมินสถานการณ์หน้างานต่ำเกินไป และระบบเตือนภัยไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การให้ข้อมูลข่าวสาร การเฝ้าระวัง และระบบไม่มีระดับของความหนักแน่น ฉะนั้นเมื่อประชาชนฟังก็รู้สึกเหมือนเดิม 

 

“หน่วยงานหน่วยหนึ่งก็ออกมาบอก ฝนตกหนักถึงหนักมาก ตกหนักมากแล้วอะไร อีกหน่วยงานหนึ่งก็บอกว่า ระวังน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ตรงไหนล่ะ ตกลงแล้วประชาชนจะฟังใคร อยู่ตำบลนี้ต้องอพยพไหม เตรียมการอย่างไร เมื่อไม่มีบอก ภาพที่ออกมาจึงเป็นความไม่เตรียมพร้อม ขณะที่เครื่องมือระดมมาตอนท่วมหนัก พอน้ำกำลังลดเครื่องมือเพิ่งมาถึง มันขาดประสิทธิภาพเตรียมความพร้อมก่อนเกิดภัยพิบัติ” 

 

ประชาชนต้องเห็นภาพชัด

 

รศ. ดร.เสรี ชี้ให้เห็นว่า การจัดการจะดีหรือไม่ต้องดูภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น กรณีมีผู้เสียชีวิตนับว่าเป็นความเสียหายอย่างหนัก แสดงว่ามีช่องว่างในเรื่องของการเตือนภัยและการเตรียมความพร้อม

 

รศ. ดร.เสรี บอกด้วยว่า ในการช่วยเหลือมีกำหนดขั้นตอนไว้หมดแล้ว แต่ทางปฏิบัติไม่ได้บอกไว้ ดังนั้นการหาคำตอบไว้ล่วงหน้าจะช่วยลดความเสียหายลงไปได้มากกว่า 30% เช่น การปิดสนามบิน หากมีการเตรียมความพร้อมจะต้องแจ้งล่วงหน้าว่าปิดสนามบินวันใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือรอจนน้ำมาถึงแล้วสั่งการให้ปิดสนามบิน ซึ่งในทางปฏิบัติสนามบินถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ปิดไม่ได้ เพราะเป็นช่องทางในการส่งความช่วยเหลือ 

 

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะต้องทำ คือหน่วยงานต้องสร้างภาพให้ประชาชนเห็น เช่น แผนที่น้ำท่วมมองภาพแล้วทราบทันทีว่าบ้านจะท่วมเมื่อน้ำสูงเท่าใด การกั้นพื้นที่ถนนเข้าสนามบิน เส้นทางไปโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถสัญจรและขนส่งเสบียงได้ แต่ที่ผ่านมาขาดระบบการเตรียมการ ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจ 

 

น้ำท่วมจังหวัดเชียงราย

 

ชาวเชียงรายลุ้นพายุ 18-19 ก.ย. นี้ 

 

“ฝนขนาดนี้ เรียกว่ารุนแรงในรอบ 100 ปี โอกาสเกิดขึ้น 1% แรงกว่าปี 2554 เพราะในตอนนั้นรุนแรงในรอบ 50 ปี”

 

รศ. ดร.เสรี ระบุว่า ปัจจัยเรื่องแรกที่ทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในพื้นที่แม่สายจังหวัดเชียงราย ต้องพิจารณาปริมาณน้ำในลุ่มน้ำกก ของเมียนมา ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางกิโลเมตร เมื่อคูณปริมาณฝนที่ตก 3 วัน จะพบว่ามีปริมาณน้ำฝน 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นฝนที่ไหลมาอยู่ในเชียงราย 300 ล้านลูกบาศก์เมตร อีก 700 ล้านลูกบาศก์เมตร อยู่ในทุ่งของเมียนมาและแม่น้ำ

 

เราไม่รู้ตัวเลขที่แน่นอนของฝั่งเมียนมา สมมติว่าครึ่งหนึ่งคือน้ำที่ไหลลงมาที่ไทย พบว่าต้องใช้เวลาถึง 8 วัน กว่าระดับน้ำจะลดจนหมด 

 

รศ. ดร.เสรี ย้ำว่า หากผ่านเดือนกันยายนไปได้จะไม่มีความเสี่ยงน้ำท่วมหนักสำหรับชาวเชียงรายและภาคเหนือ เพราะจะไม่มีฝนตกหนักแบบที่ผ่านมา เพียงแต่ต้องลุ้นในวันที่ 18-19 กันยายนนี้ ว่าสถานการณ์จะซ้ำเติมหรือไม่ เนื่องจากจะมีพายุลูกหนึ่งเข้ามา ถ้ายังไม่ผ่านเดือนกันยายนก็ยังไม่สามารถจะนิ่งนอนใจได้ 

 

อย่างไรก็ตาม มวลน้ำก้อนนี้จะไหลลงแม่น้ำโขง ไปทางอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย จังหวัดหนองคาย นครพนม มุกดาหาร ตามชายขอบแม่น้ำโขง รศ. ดร.เสรี ระบุด้วยว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้ประกาศเตือนระดับน้ำในแม่น้ำโขงจะสูงกว่าเดิม 1-1.50 เมตรแล้ว

 

ท่วมหรือไม่ ให้เทียบสถานการณ์น้ำปี 2565 

 

ปีนี้น้ำจะท่วมหรือไม่ รศ. ดร.เสรี แนะนำว่า ให้เทียบกับปี 2565 เป็นหลัก หากปี 2565 ได้รับผลกระทบให้เตรียมรับสถานการณ์ซึ่งคล้ายกับปี 2565 มีการปล่อยน้ำ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาท่วม ส่วนสถานการณ์จะหนักขึ้นหรือไม่ ไม่อาจคาดเดาได้ ต้องติดตามว่ามีร่องพายุเข้าภาคกลางหรือไม่ ซึ่งน้ำอาจจะมากกว่าปี 2565 ก็ได้ 

 

“ผมประเมินแล้วว่า ความเสี่ยงน้ำท่วมแบบปี 2554 น้อยกว่า 10% และล่าสุดผมประเมินแล้วว่าน้อยกว่า 2% เพราะว่าไม่ได้มีฝนตกในแม่น้ำยมเลย แต่เราก็ต้องจับตา เพราะ 1% เกิดขึ้นแล้วที่เชียงราย มันคือความเสี่ยง ฉะนั้นในฐานะรัฐบาลเมื่อมีความเสี่ยงก็ต้องปิดความเสี่ยง” 

 

รศ. ดร.เสรี แนะนำด้วยว่าวิธีการปิดความเสี่ยงนั้นต้องบอกให้ได้ว่าจะเอาน้ำก้อนนี้ไปไว้ที่ไหน ตรงไหนที่จะยอมให้ท่วมได้ ตรงไหนไม่ยอม ต้องเตรียมการเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน และมีแผนออกมา 

 

ทั้งนี้ก่อนจบการสนทนา รศ. ดร.เสรี ย้ำด้วยว่า กรุงเทพฯ มีเพียงน้ำท่วมรอการระบายสูง ถ้าหนักกว่านี้ก็แค่น้ำรอการระบายที่มากขึ้น เพราะน้ำเหนือ น้ำหลาก ไม่มีแล้ว 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X