×

จากการจองจำสู่โอกาส: เรือนจำหญิงยุคใหม่ ณ ใจกลางเชียงใหม่ มุ่งสร้างชีวิตใหม่ให้ผู้เคยพลาดผิด

14.07.2022
  • LOADING...
เรือนจำหญิง

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • ‘เรือนพธำมรงค์’ เดิมเป็นที่พักของพัศดีเรือนจำ ซึ่งก่อสร้างมาพร้อมกับเรือนจำใน พ.ศ. 2457 ต่อมาเรือนจำได้เปลี่ยนเป็นทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ทางราชทัณฑ์จึงเลือกใช้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานฝึกอาชีพ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้ปรับตัวก่อนกลับสู่สังคม 
  • ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ทำให้เรือนจำมีความแออัดมาก และเรือนจำถูกออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ต้องขังชาย ทำให้ขาดการดูแลอนามัยแม่และเด็ก และมีปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นเฉพาะในเพศหญิง
  • ความผิดของผู้ต้องขังหญิง ร้อยละ 87.8 เป็นความผิดฐานคดียาเสพติด รองลงมาเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และมีไม่ถึงร้อยละ 1 ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการลุกขึ้นตอบโต้กลับ

เรือนจำหญิง

ในนิทรรศการห้องที่ 2 จัดแสดงข้อความของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ 

 

“เราเถียงกันจนผู้ชายทำร้ายร่างกายเรา เขาพูดจาหยาบคาย เราโมโหจึงเกิดสู้กัน เราก็เลยหยิบมีดในกระเป๋าแทงเขา เราพกไว้ป้องกันตัวเองตลอด เราเป็นผู้หญิงตัวคนเดียว” – พลอย

 

ข้อความส่วนหนึ่งจากการสัมภาษณ์อดีตผู้ต้องขังในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ซึ่งปรากฏอยู่ในห้องนิทรรศการของ ‘พิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์’ บอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงวัย 42 ปีแก่ผู้ที่มาเยี่ยมเยียน บรรทัดล่างสุดของเนื้อหาบ่งชี้ว่าเธอต้องโทษโดยความผิดฐานฆ่าคนตาย จนนำไปสู่การตัดสินจำคุกถึง 8 ปี  

 

ผู้ต้องขังหญิง กับบทบาททางสังคมที่ถูกกดทับ

ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด TIJ ระบุว่า สัดส่วนความผิดของผู้ต้องขังหญิง ร้อยละ 87.8 เป็นความผิดฐานคดียาเสพติด มีเพียงน้อยนิดที่ต้องจำคุกด้วยคดีใหญ่อย่างความผิดเกี่ยวกับชีวิต ซึ่งมีเหตุมาจากความรุนแรงในผู้หญิง หรือความรุนแรงในครอบครัวที่กดทับให้ผู้หญิงหลายคนต้องลุกขึ้นตอบโต้กลับ ในขณะที่คดียาเสพติด มีผู้ต้องขังหลายรายถูกยัดยาใส่กระเป๋า เพื่อใช้ความเป็นผู้หญิงในการหลบเลี่ยงการสืบค้นจากเจ้าหน้าที่ หรือบางคนจำเป็นต้องค้าขายสารเสพติดเพื่อหาเงินเลี้ยงลูกของตนเอง เป็นต้น บทบาททางเพศที่มีข้อจำกัดเหล่านี้เป็นเหตุให้สังคมควรมองความผิดที่กระทำโดยผู้หญิงอย่างรอบด้านมากขึ้น

 

“บางคนทำความผิดเพราะว่าไม่มีเงินสำหรับการไปเลี้ยงดูลูกหรือว่าในการดำรงชีวิต เพราะฉะนั้นหลายครั้งเราจะเห็นมิติของการที่ผู้หญิงเข้าไปอยู่ในวงจรการกระทำความผิดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือว่าติดสอยห้อยตามไปด้วย มิติเหล่านี้เป็นมิติที่บางทีสังคมอาจจะยังมองไม่ค่อยเห็น” ชลธิชระบุ

 

เรือนจำหญิง

ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด TIJ

 

ชลธิชกล่าวต่อไปว่า ความท้าทายของเรือนจำคือการเข้าใจรากปัญหาของอาชญากร และมุ่งบำบัดให้ผู้ต้องขังกลับสู่สังคมโดยไม่กระทำผิดซ้ำ พิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์จึงได้นำเสนอแนวคิดของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ จากอดีตที่เคยเป็นแดนของการลงโทษ เปลี่ยนมาเป็นพื้นที่แห่งการปรับตัวและฟื้นฟูเพื่อกลับมาอยู่ร่วมสังคม โดยเรือนจำได้จัดอบรมวิชาชีพที่หลากหลาย เช่น การนวด การประกอบอาหาร การทอผ้าพื้นเมือง เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์ของตลาดแรงงาน และสอดรับกับความสามารถของผู้ต้องขัง 

 

“การบำบัดฟื้นฟูให้เขาออกจากเรือนจำไปไม่กระทำผิดซ้ำ พื้นฐานคือเราหยิบยื่นทักษะที่เหมาะสำหรับบุคคลนั้น สำคัญว่าหากเราต้องการจะเปลี่ยนจากการลงโทษเพื่อทำให้คนขยาดหวาดกลัว เปลี่ยนมาเป็นการลงโทษที่แก้ไขฟื้นฟูและทำให้คนเกิดทักษะใหม่ๆ ทักษะเหล่านั้นก็ต้องเป็นทักษะที่สามารถนำไปใช้ได้จริง แล้วตอบรับกับตลาดแรงงานในปัจจุบัน”

 

เรือนจำหญิง

งานหัตถการทอผ้าไหมโดยกลุ่มผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ โดยทอเป็นลายเอกลักษณ์พื้นเมืองประจำจังหวัดเชียงใหม่

 

เรือนจำหญิง

เรือนจำหญิง

งานตัดเย็บและออกแบบเสื้อผ้าโดยกลุ่มผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำภายใต้แบรนด์ NAREE

 

‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ รากฐานเพื่อสิทธิผู้ต้องขังหญิง

ข้อมูลงานวิจัยของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) เผยว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก และหากเทียบเป็นอัตราส่วนต่อประชากร 1 แสนคน นับว่าประเทศไทยมีอัตราส่วนผู้ต้องขังเป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วยตัวเลขสถิติที่พุ่งสูงอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ทำให้สภาพแวดล้อมในเรือนจำหญิงนั้นแออัด ขาดการดูแลอย่างทั่วถึง ซ้ำร้ายการออกแบบเรือนจำในประเทศไทยส่วนมากยังออกแบบมาเพื่อผู้ต้องขังชาย ทำให้ขาดการบริการอนามัยของแม่และเด็ก และมีปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นเฉพาะในเพศหญิง

 

“พอมีผู้หญิงที่เข้าสู่เรือนจำ เขามีปัจจัยที่ไม่เหมือนผู้ชาย เขามีภาระการเลี้ยงดูลูก มีเหตุผลการกระทำความผิดที่ไม่เหมือนกัน ทั่วโลกก็เลยเกิดความตระหนักรู้แล้วว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของการดูแลคน แต่ว่ามันต้องการการดูแลคนที่เข้าใจถึงเรื่องของเพศสภาวะ”

 

ด้วยความตระหนักในปัญหาที่เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของการรับรองมาตรฐานของสหประชาชาติที่เรียกว่า ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ หรือว่าข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดหญิง ซึ่งมีแนวคิดในการมองผู้หญิงบนความเป็นมนุษย์มากขึ้น โดยหลักปฏิบัติของข้อกำหนดกรุงเทพมีอยู่ทั้งหมด 5 ข้อสำคัญ ได้แก่ 

 

  1. ผู้ต้องขังแรกเข้ามีความเปราะบาง และไม่คุ้นชินต่อสภาพแวดล้อม เรือนจำต้องดูแลอย่างระมัดระวัง 
  2. ต้องให้โอกาสผู้ต้องขังติดต่อโลกภายนอก เพื่อรักษาความสัมพันธ์ต่อคนใกล้ชิด 
  3. ต้องให้ความรู้และทักษะทางวิชาชีพ เพื่อโอกาสในการประกอบสัมมาชีพ และไม่กลับไปทำผิดซ้ำอีก
  4. เมื่อตั้งครรภ์ แม่ต้องได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ และเด็กต้องได้รับการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย 
  5. ผู้ต้องขังต้องได้รับการดูแลสุขภาพเพื่อผู้หญิงในคุณภาพระดับเดียวกันกับชุมชนภายนอก

 

ทั้งนี้ ชลธิชกล่าวเสริมว่า ข้อกำหนดกรุงเทพมี 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งพูดถึงเรื่องของการดูแลผู้หญิงในเรือนจำ ส่วนที่สองคือการใช้มาตรการอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ ทุกวันนี้เรือนจำมีมาตรการการดูแลที่ค่อนข้างจะหลากหลาย แต่ว่าสิ่งที่ยังทำได้น้อยอยู่คือการไม่ใช้เรือนจำในกรณีที่ไม่จำเป็น มีคนอยู่ไม่น้อยที่ต้องอยู่ในเรือนจำเพราะคดียังไม่เสร็จสิ้น หรือบางคนก็มีโทษเล็กน้อยมาก 

 

“จุดสำคัญ สิ่งที่จะทำให้ข้อกำหนดกรุงเทพเดินหน้าไปได้ก็คือ เราคงต้องโฟกัสว่าเราจะทำอย่างไรให้การใช้เรือนจำเป็นมาตรการสุดท้ายอย่างแท้จริง แล้วก็ใช้มาตรการทางเลือกที่มีความหลากหลาย แล้วก็เหมาะสมกับบริบทของทุกคน”

 

เรือนจำหญิง

บรรยากาศห้องนิทรรศการจัดแสดงความเป็นมาเกี่ยวกับข้อกำหนดกรุงเทพ ในขณะที่กำลังก่อสร้างพิพิธภัณฑ์

 

เมื่อมองข้ามความผิดของฉัน โดยทั่วไปแล้ว ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง

เบื้องหน้าของพิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์มีตัวอักษร ญ หญิง ขนาดใหญ่วาดลงผืนผ้า ผู้มาเยี่ยมเยียนต้องเดินแหวกผ่านผ้าผืนนี้ก่อนเข้าชมนิทรรศการ หากไม่ได้ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน จะไม่ทันได้เอะใจว่า ตัว ‘ั’ ที่อยู่ตรงฐานของ ญ หญิง นั้นเขียนตวัดหางผิดทาง

 

ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้ออกแบบและพัฒนาโครงการพิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์ เปิดเผยว่า ทางผู้ออกแบบจงใจให้ฐานของ ญ หญิง หันไปอีกทาง เปรียบเสมือนความผิดที่เคยกระทำของผู้ต้องขังหญิง แต่เมื่อมองโดยรวมแล้ว ผู้ต้องขังเอง ธรรมดาก็คือผู้หญิงคนหนึ่งที่พลั้งผิดได้ และพร้อมที่จะแก้ไขผิดให้เป็นถูกอย่างที่มนุษย์พึงกระทำได้

 

เรือนจำหญิง

บริเวณทางเข้าพิพิธภัณฑ์ปรากฏผ้าผืนใหญ่ บนผืนผ้ามีพยัญชนะ ญ หญิง โดยฐานของพยัญชนะหันไปยังประตูทางเข้าด้านซ้ายมือ

 

เมื่อเดินชมไปจนถึงห้องโถงกลางจะพบกับไฮไลต์ของนิทรรศการในเฮือนโบราณอายุร่วมร้อยปีหลังนี้ นั่นคือห้องจัดแสดงแก้วน้ำของผู้ต้องขังหญิง โดยนำแก้วน้ำของผู้ต้องขังของจริงจากเรือนจำมาแขวนเรียงเป็นกริดตารางพาดกำแพง และปรากฏแก้วน้ำสีแดงจัดวางเป็นตัวอักษร ญ หญิง ขนาดใหญ่ ซึ่งฐาน ญ หญิง หันไปอีกทางเช่นเดียวกันกับโลโก้เบื้องหน้าพิพิธภัณฑ์

 

เรือนจำหญิง

นิทรรศการแก้วน้ำผู้ต้องขังเรียงเป็นพยัญชนะ ญ หญิง เมื่อลองมองใกล้ๆ จะเห็นตัวตนบนแก้วน้ำ แต่เมื่อถอยออกมาก็จะพบว่าพวกเขาคือ ผู้หญิง (ญ หญิง) คนหนึ่ง

 

ฤทธิรงค์เอ่ยว่า ผู้ต้องขังแต่ละคนจะได้รับแก้วน้ำส่วนตัวคนละใบที่ลักษณะเหมือนกันหมด เวลาเข้าเรือนจำไป ต่างคนจึงทำสัญลักษณ์บางอย่างลงบนแก้ว บ้างเป็นลายมือ บ้างเป็นสีเขียน บ้างเป็นสติกเกอร์ ทำให้แก้วน้ำแต่ละใบเปรียบเสมือนตัวตนของผู้ต้องขัง

 

“แก้วน้ำคือชีวิต ภาชนะของแต่ละคนก็จะบรรจุชีวิตของเขา เมื่อวันที่เขามาที่นี่ เขาจะหยิบแก้วน้ำของเขาออกมา เทน้ำเดิมทิ้ง แล้วต้องแขวนเอาไว้รอที่จะเติมน้ำใหม่ เมื่อเขาออกจากที่นี่แล้ว เขาก็จะหยิบแก้วน้ำของเขาออกไปใช้ชีวิตใหม่ ใช้น้ำใหม่ในการดำเนินชีวิต แต่แก้วน้ำก็ยังคงอยู่ ยังเป็นตัวตนของเขาอยู่”

 

เรือนจำหญิง

เรือนจำหญิง

 

เมื่อถามถึงความท้าทายของการออกแบบพิพิธภัณฑ์ ฤทธิรงค์ให้คำตอบว่า ความท้าทายของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือ การสื่อสารความสดใส หรือมุมสว่างในตัวตนของผู้ต้องขัง โดยโจทย์ที่ต้องแก้ไขให้ได้คือ ที่ผ่านมาคำว่า ‘ผู้ต้องขัง’ ได้ลดทอนความแตกต่างหลากหลาย และลบล้างตัวตนของผู้หญิงกลุ่มนี้ไป พิพิธภัณฑ์จะต้องฝ่าอคติที่สังคมมองผู้ต้องขังด้วยความหวาดกลัว และเปลี่ยนการตีตราคนกลุ่มนี้ว่าเป็น ‘ผู้ต้องขัง’ ให้กลายเป็น ‘ผู้ผิดพลาด’ โดยที่ยังคงความเป็นมนุษย์คนหนึ่งได้อย่างไร

 

“คอนเซปต์ของเราคือ จากความมืดมาสู่ความสว่าง จากการจองจำมาสู่โอกาส ความยากของมันคือว่า เราจะฝ่าอคติที่มองคนที่เป็น ‘ผู้ต้องขัง’ เปลี่ยนเป็น ‘ผู้ผิดพลาด’ มองเรื่องของการจองจำ เปลี่ยนเป็นการให้โอกาสได้อย่างไร

 

“จริงๆ ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นโอกาสของผู้ต้องขังเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นโอกาสของคนในสังคมที่จะได้ทำความเข้าใจ ได้เรียนรู้ ได้ย่างก้าวเข้าไปอีกโลกหนึ่งที่หลายคนอาจจะไม่กล้าจะฝ่าเข้าไป เพราะฉะนั้นนิทรรศการก็เหมือนประตู ให้เราเปิดประตูเข้าไปสู่โอกาสของการเรียนรู้กันและกัน” ฤทธิรงค์ระบุ

 

เรือนจำหญิง

ผศ.ดร.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้ออกแบบและพัฒนาโครงการพิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์

 

เรือนจำต้องเป็นเหมือนบ้าน 

ข้อมูลจากรายงานการสำรวจผู้ต้องขังหญิงในประเทศไทย พ.ศ. 2561 ระบุว่า แต่เดิมสัดส่วนของผู้ต้องขังชายนั้นมีมากกว่าผู้ต้องขังหญิง ทำให้หลายเรือนจำมีการออกแบบเฉพาะผู้ชาย และต้องแบ่งแดนหญิงแยกออกมาแทน ซึ่งจุผู้ต้องขังหญิงได้เพียงราวๆ 30-60 คน แต่จำนวนผู้ต้องขังหญิงในปัจจุบันสูงถึง 200-300 คนต่อเรือนจำ การที่ผู้ต้องขังหญิงต้องถูกควบคุมตัวในสถานที่ที่มีความแออัด และออกแบบมาเพื่อผู้ต้องขังชาย ทำให้เกิดปัญหาจำนวนมาก เช่น โรคติดต่อในเรือนจำ การถูกล่วงละเมิด คุณภาพชีวิตย่ำแย่ ซึ่งบั่นทอนสุขภาพกายและใจของผู้ต้องขังหญิงอย่างมาก

    

ฤทธิรงค์เปิดเผยว่าตนเคยได้เข้าไปเยี่ยมชมเรือนจำไทยอยู่ 2-3 ครั้ง แล้วได้เปรียบเทียบกับเรือนจำต่างประเทศ พบว่าเรือนจำของไทยนั้นแออัด คุณภาพชีวิตต่ำ และคนป่วยกันได้ง่ายมาก ในฐานะอาจารย์ที่คร่ำหวอดอยู่ในแนวคิดอย่างสถาปนิก เขาเชื่อว่าสภาพแวดล้อมนั้นส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ ที่ผ่านมาผู้ต้องขังอาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีมาก่อน เช่น ครอบครัวไม่อบอุ่น หรืออยู่ในความรุนแรง อยู่ในวงจรของยาเสพติด พอเข้าไปในเรือนจำก็เจอภาพแบบเดียวกันหรือเลวร้ายยิ่งกว่า ฉะนั้นหากเราอยากให้คนที่เคยประพฤติผิดได้แก้ไขปรับปรุงตัวเอง เรือนจำเองต้องเอื้อให้คนเหล่านั้นสามารถทำสิ่งดีๆ ให้กับตนเองและผู้อื่นได้โดยง่าย 

 

“ผมมองว่าถ้าเรือนจำดี คุณภาพชีวิตในเรือนจำดี เหมือนบ้านที่เราอยู่อาศัยกัน เพียงแต่ว่าขาดอิสรภาพ ตรงนั้นจะทำให้เกิดภาพใหม่ของการใช้ชีวิต ผมว่าสภาพแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนั้นถ้าเกิดสภาพแวดล้อมดี พฤติกรรมก็จะดี ชีวิตก็น่าจะดี ภาพจำที่อยู่ในเรือนจำจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาตั้งใจที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น”

 

เสียงสะท้อนจากผู้เคยผิดพลั้ง หวังสังคมให้โอกาสตนได้มอบสิ่งที่ดีกลับคืน

ระหว่างเดินชมในพิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์ ผู้ที่มาบอกเล่าเรื่องราวในเรือนจำแห่งนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นผู้ต้องขังหญิงที่ใกล้พ้นโทษ จะมาเป็นมัคคุเทศก์เดินนำชมนิทรรศการในแต่ละห้อง บุคคลภายนอกที่มาเยี่ยมเยียน นอกจากจะได้เรียนรู้จากนิทรรศการติดตั้ง ยังได้เรียนรู้กับพิพิธภัณฑ์ที่เป็นรูปแบบมนุษย์ การได้ทำความรู้จัก การได้ทำความเข้าใจ และการได้สัมผัสถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างใกล้ชิด จึงกลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการมาเยี่ยมชมที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ 

 

เรือนจำหญิง

หม่ำ ผู้ต้องขังหญิงที่ใกล้พ้นโทษในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ 

   

หม่ำ ผู้ต้องขังหญิงที่ใกล้พ้นโทษในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ได้บอกเล่าระหว่างนำชมนิทรรศการว่า สาเหตุของการต้องโทษในเรือนจำของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน บางคนถูกหลอก บางคนถูกบังคับ ทั้งนี้ตนก็ยอมรับว่านี่คือความผิดที่เกิดขึ้นจริง แต่หากได้รับโอกาสแก้ไขตนเองได้ก็จะแก้ไข เพราะทุกคนก็ไม่มีใครอยากมาอยู่ตรงจุดนี้

 

“อยากให้ทุกคนให้โอกาส เพราะว่าคนที่อยู่ข้างใน (เรือนจำ) ก็มีความรู้ มีความสามารถ อยากให้เขา (ผู้มาเยี่ยมชมนิทรรศการ) คิดใหม่ ให้มองผู้ต้องขังใหม่ว่า ผู้ต้องขังทุกคนไม่ได้เลวร้ายกันทุกคน…อยากให้สังคมภายนอกให้โอกาสพวกเรา ให้เราปรับปรุงตัวเองค่ะ อยากให้เห็นว่าพวกเราก็มีศักยภาพที่ดี”

 

หม่ำยังระบุอีกว่า การอยู่ที่นี่ ตนได้เรียนรู้ทักษะวิชาชีพที่หลากหลาย เช่น การเย็บปักถักร้อย การทอผ้า การทำอาหาร การทำเบเกอรี เป็นต้น สำหรับตนเองได้เลือกเรียนวิชาการนวด ถ้าพ้นโทษกลับไปสู่สังคม และหากสังคมให้โอกาส ตนจะได้ประกอบอาชีพนวดแผนไทยอย่างสุจริตตามที่ตั้งใจไว้ 

 

“อยากให้ที่ทุกคนที่มาชมนิทรรศการให้โอกาสเรานะ เพราะว่าการให้โอกาสก็เหมือนกับให้ชีวิตของผู้ต้องขังใหม่”

 

เรือนจำหญิง

ภาพที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ผู้ต้องขังหญิงกำลังฝึกวิชาชีพปักผ้าด้วยลวดลายที่สดใส

 

มากกว่าโอกาสที่ผู้ต้องขังได้รับ คือโอกาสของสังคมที่ได้พลเมืองคุณภาพคืนมา

เรือนพธำมรงค์เดิมเป็นที่พักสำหรับพัศดีเรือนจำ ซึ่งก่อสร้างมาพร้อมกับเรือนจำใน พ.ศ. 2457 ต่อมาเรือนจำจึงได้เป็นกลายเป็นทัณฑสถานหญิง ทางราชทัณฑ์จึงเลือกใช้สถานที่แห่งนี้เป็นสถานฝึกอาชีพ เพราะว่ามีทำเลที่ตั้งเหมาะสม อยู่ใจกลางเมือง โดยมุ่งหวังให้ผู้ต้องขังได้ปรับตัวและพัฒนาทักษะวิชาชีพก่อนกลับสู่สังคม และสังคมได้มีโอกาสสร้างความเข้าใจในผู้ต้องขัง และให้โอกาสอีกครั้งหลังพ้นโทษ

 

“ผู้ต้องขังเมื่อต้องโทษอยู่ในเรือนจำนานๆ สังคมเรือนจำก็จะเป็นสังคมปิด เพราะฉะนั้นโอกาสในการฟื้นฟูสภาพจิตใจก็จะค่อนข้างทำได้ลำบาก แต่หากเมื่อเขาใกล้พ้นโทษ เขาได้ไปอยู่ในสถานที่ในชุมชนที่ใกล้เคียงกับสังคมภายนอก เขาก็จะมีช่วงเวลาปรับตัวก่อนพ้นโทษ จึงเป็นประโยชน์กับผู้ต้องขังอย่างมาก” อาจารี ศรีสุนาครัว ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ระบุ

 

เรือนจำหญิง

อาจารี ศรีสุนาครัว ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

 

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความหวาดกลัวของชาวบ้านและคนภายนอกที่มองถึงการตัดสินใจสร้าง ‘โอกาสสถาน’ หรือพื้นที่ฟื้นฟูและอบรมก่อนปล่อยตัวในพื้นที่ที่ใกล้ชิดชุมชน ในทางกลับกัน อาจารีเผยต่อแหล่งข่าวว่า “ทำเลที่ตั้งของเรือนจำนั้นส่งผลดีอย่างมาก เพราะนี่ไม่ใช่เพียงโอกาสของผู้ต้องขังในการปรับตัวก่อนกลับสู่สังคม แต่สังคมเองก็จะได้โอกาสในการเรียนรู้ศักยภาพของผู้ต้องขังอีกด้วย

 

“จุดแข็งของการที่มีสถานฝึกอาชีพในชุมชนคือ ชุมชนและผู้ต้องขังได้มีโอกาสที่จะได้ศึกษาร่วมกัน ผู้ต้องขังเองก็จะได้ประโยชน์ในการที่เขาได้ทดลองการทำงาน ได้พบผู้ใช้บริการจริงๆ และเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ สำหรับชุมชนเองก็จะได้เห็น จะได้เรียนรู้ เข้ามาสัมผัสเรา (ผู้ต้องขัง) ได้ง่ายกว่าการเข้าไปอยู่ในเรือนจำ”

 

อาจารีกล่าวว่า หากสังคมและชุมชนไม่ให้โอกาสผู้ต้องขังในการประกอบอาชีพ สิ่งนี้จะกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายในการกลับเข้าสู่สังคมเมื่อพ้นโทษอย่างมาก ทั้งเสริมว่า อีกหนึ่งโอกาสที่สังคมจะได้รับจากการให้โอกาสพวกเขาแล้ว คือการที่สังคมเองก็จะได้รับโอกาสจากแรงงานคุณภาพที่พร้อมป้อนสิ่งดีๆ กลับคืนสู่สังคม 

 

“ตราบใดที่ทั้งสองส่วน คือทั้งผู้ต้องขังแล้วก็ชุมชนได้เปิดโอกาสแลกเปลี่ยนความเข้าใจกัน โอกาสการกระทำผิดซ้ำจะลดลง สังคมเองก็จะได้ประโยชน์จากการที่ผู้ต้องขังสามารถนำความรู้มาประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาชุมชนได้ ตัวอย่างที่ผ่านมาก็มีมาก ผู้พ้นโทษนำวิชาชีพที่เรียนกลับไปถ่ายทอดในชุมชน แถมยังเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้ชุมชนได้”

 

เรือนจำหญิง

 

จาก ‘ทัณฑสถาน’ สู่ ‘โอกาสสถาน’ ที่ไม่ใช่เพียงโอกาสของผู้ต้องขังในการเรียนรู้อาชีพและปรับตัวกลับคืนสู่สังคม แต่นี่คือโอกาสของสังคมในการที่จะได้รับพลเมืองคุณภาพกลับคืนมา ‘พิพิธภัณฑ์เรือนพธำมรงค์’ แห่งนี้พร้อมยินดีต้อนรับแขกเหรื่อที่มาเยือนเหย้า คอยบอกเล่าประวัติศาสตร์ของมนุษย์ผู้เคยผิดพลาด และย้ำว่า เมื่อคืนความเป็นมนุษย์แก่ผู้ต้องขัง สังคมย่อมได้รับความยุติธรรมกลับคืนเช่นกัน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising