×

ไม้ไผ่ก็เก๋ได้ โรงยิมจากไม้ไผ่ที่เชียงใหม่ ดีไซน์ล้ำสำหรับทุกคนในชุมชน

12.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • สนทนากับ มาร์คัส โรเซลีบ (Markus Roselieb) นักสร้างและนักคิดผู้ก่อตั้ง เชียงใหม่ ไลฟ์ คอนสตรัคชั่น (Chiang Mai Life Construction) ที่พัฒนาวัสดุบ้านๆ ในการก่อสร้างโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและเพื่อยกระดับชีวิตของคนในชุมชน ด้วยแนวคิดที่ว่าไม่มีวัสดุพื้นบ้านชิ้นไหนที่ ‘ไร้ค่า’ หรือดู ‘ถูก’ หากนำมาใช้อย่างประจวบเหมาะและสร้างสรรค์

มาร์คัส โรเซลีบ (Markus Roselieb) ไม่เชื่อว่ามีวัสดุพื้นบ้านชิ้นไหนที่ ‘ไร้ค่า’ หรือแลดู ‘ถูก’ หากนำมาใช้อย่างประจวบเหมาะและสร้างสรรค์ ทั้งยังเป็นมิตรแก่สิ่งแวดล้อม แนวคิดนี้ทำให้เกิด เชียงใหม่ ไลฟ์ คอนสตรัคชั่น (Chiang Mai Life Construction) บริษัทก่อสร้างที่เน้นการนำวัสดุจากธรรมชาติภายในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งดินเหนียว ปูนปั้น และการมุงหลังคาจากไม้ไผ่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนด้วยการใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นนำมาผสมผสานกับสถาปัตยกรรมที่ร่วมสมัย

 

 

หนึ่งในผลงานของนักสร้างและนักคิดชาวออสเตรียคนนี้ที่เป็นที่รู้จักไปไกลระดับโลกคือโรงยิมของโรงเรียนนานาชาติปัญญาเด่น จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีหลังคาเป็นโครงสร้างไม้ไผ่ที่เขาได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงของดอกบัว โดยทำจากไม้ไผ่ที่มีช่วงอายุที่แข็งแรงที่สุด นำไปสานแบบพื้นบ้าน แล้วทำให้ประสานกันตรงกลางด้วยยางมะตอย

 

 

มาร์คัสเพิ่งนำความรู้ไปแบ่งปันที่งาน Archifest 2018 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน ถึง 10 ตุลาคมที่ผ่านมาที่สิงคโปร์ และได้พูดคุยกับเราถึงแนวคิดด้านการพัฒนาชุมชนที่สามารถเริ่มต้นได้เพียงแค่เปลี่ยนมุมมอง

 

 

อะไรทำให้คุณหันมาสนใจพัฒนาสิ่งที่คนมองว่าเป็น ‘วัสดุคนจน’ ได้

ดูเหมือนมันเป็นเรื่องเข้าใจผิดว่าผมอยากจะพัฒนา ‘วัสดุคนจน’ จริงๆ แล้วผมแค่หันมาสนใจว่าไม้ไผ่และดินซึ่งเป็นสิ่งที่คนมักมองว่าไม่ทนทาน มันสามารถนำมาทำอะไรได้บ้างในแง่ของการก่อสร้าง หลังจากมองหาวัสดุที่ใช้งานได้ดีจริงที่อาจจะแตกต่างออกไปสักหน่อย ไม้ไผ่เป็นไม้มีโพรงที่มีน้ำหนักเบา มันต้านแรงโน้มถ่วงได้ดีกว่าไม้หนักๆ หรือเหล็ก แถมความแข็งแกร่งและเส้นใยยังแข็งแรงกว่าไฟเบอร์แก้วและเหล็กเสียอีก นอกจากนั้นยังมีความสวยงามและไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนอีกด้วย ขณะที่กำแพงจากดินเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดีกว่าคอนกรีต และสามารถอยู่ยงคงกระพันได้หากสร้างอย่างดี แถมยังให้ความรู้สึกที่ดีกว่าคอนกรีตแก่ผู้อยู่อาศัย นอกจากนั้นมันยังดีต่อสิ่งแวดล้อม และเมื่อเราใช้สิ่งที่อยู่ใกล้ตัว เราก็สามารถช่วยลดคาร์บอนฟุตปรินต์ให้กับโลกอีกด้วย

ถ้าเราหมั่นเรียนรู้ ปรับการนำไม้ไผ่มาใช้ มันก็จะอยู่ได้เป็นสิบๆ ปี นอกจากนั้นไม้ไผ่ยังเป็นไม้โตเร็วและสามารถปลูกทดแทนขึ้นทันได้ภายใน 4 ปี ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัววัสดุธรรมชาติ อยู่ที่แนวคิดของคนที่นำมาใช้

 

ในมุมมองของคุณที่ได้ปลูกสิ่งก่อสร้างที่น่าทึ่งไว้ในเชียงใหม่ คุณมีคำแนะนำอะไรไหมสำหรับคนที่กำลังสร้างบ้านและอาจพิจารณาใช้วัสดุบ้านๆ

ต้องตั้งคำถามก่อนว่าการที่คนคนหนึ่งจะสร้างบ้านขึ้นมาควรพิจารณาอะไรบ้างในการเลือกวัสดุก่อสร้างที่เหมาะสม หรือเราจะหลับตาแล้วก็ปล่อยให้ผู้รับเหมาทำๆ ไปดังเช่นที่คนอื่นๆ ก็ทำกัน หรือเราควรจะนึกถึงทางเลือกอื่นๆ ด้วยการเลือกสิ่งที่นำมาสร้างบ้านได้ และยิ่งกว่านั้นคือยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีกว่านั้นได้กัน เหมือนกับที่ผมเลือกมาใช้ชีวิตที่เชียงใหม่เพราะอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ด้วยการช่วยเสนอแนวคิดที่ทำให้ชีวิตผู้อื่นดีขึ้นบ้าง

 

 

คุณมองว่าคนไทยมองไม้ไผ่ผิดๆ ว่าไม่สามารถนำมาสร้างสิ่งก่อสร้างที่แข็งแรงได้ ถ้าอย่างนั้นอะไรคือความเข้าใจที่ถูกล่ะ

จริงๆ มีความเข้าใจผิดอยู่อีกมากเกี่ยวกับไม้ไผ่ที่เราดูจะได้รับแนวคิดมาจากความไม่รู้เสียมากกว่าความบอบบางของตัววัสดุจริงๆ อย่างเช่น คนมักมองว่าไม้ไผ่จะผุพังภายในไม่กี่ปี แต่ที่จริงแล้วไม้ไผ่อ่อนเต็มไปด้วยน้ำตาลและเยื่อที่ยังไม่แข็งแรงพอ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมแพนด้า หมี หรือช้างถึงชอบกินไม้ไผ่ ดังนั้นถ้าเราเอาไม้ไผ่อ่อนมาตั้งเป็นเสาของบ้านก็ไม่ต่างอะไรกับการต่อเค้กหวานจ๋อยเป็นชั้นๆ แล้วคนก็สงสัยว่าทำไมแมลงถึงบุกทำลายบ้าน นี่คือเหตุผล แต่ลองนึกว่าถ้าเราเอาไม้ไผ่ที่แก่กว่าสักหน่อยอย่าง 4 ปีขึ้นไป ระดับน้ำตาลในไม้ลดลงและเยื่อไม้แข็งแรงกว่า นั่นแหละคือวัสดุธรรมชาติที่ดีพอและสามารถนำมาใช้ก่อสร้างได้ และถ้าเราหมั่นที่จะเรียนรู้ นำมาปรับการนำไม้ไผ่มาใช้ มันก็จะสามารถอยู่ได้เป็นสิบๆ ปี นอกจากนั้นไม้ไผ่ยังเป็นไม้โตเร็วและสามารถปลูกทดแทนขึ้นทันได้ภายใน 4 ปี ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัววัสดุธรรมชาติ อยู่ที่แนวคิดของคนที่นำมาใช้มากกว่า

 

ภาพ: Courtesy of Archifest 2018, Chiang Mai Life Construction Website

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI
  • Archifest เป็นงานเทศกาลประจำปีที่จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ ที่นำเสนอเรื่องของการออกแบบ สถาปัตยกรรม ศิลปะ และการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นคู่กับสิ่งแวดล้อม โดยปี 2018 จัดไปเมื่อวันที่ 28 กันยายน ถึง 10 ตุลาคมที่ผ่านมา
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X