×

เชฟรอนดันสงขลาต้นแบบโมเดล ‘เมืองยางคาร์บอนต่ำ’ หนุนเศรษฐกิจ BCG แห่งแรกในไทย

23.06.2024
  • LOADING...
เมืองยางคาร์บอนต่ำ

หลายคนทราบกันดีว่า ‘ ยาง พารา’ หนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของไทย และเป็นผู้ผลิตเบอร์ต้นๆ ของโลก มีเกษตรกรชาวสวนยางที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศกว่า 1.6 ล้านครัวเรือน หากดูจากมูลค่ารวมอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องสามารถสร้างรายได้ในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 9.6 แสนล้านบาท

 

ที่ผ่านมาเกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาราคายางผันผวน มากไปกว่านั้นนับจากวันนี้อุตสาหกรรมยางต้องปรับให้ทันตามกฎระเบียบการค้าโลกใหม่ โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมและเรื่องของคาร์บอน

 

พรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เชฟรอนในฐานะบริษัทพลังงานที่บุกเบิกและพัฒนาธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทยมากว่า 6 ทศวรรษ มีนโยบายดำเนินธุรกิจควบคู่กับการทำงานร่วมกับชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน

 

จังหวัดสงขลาเปรียบเหมือนบ้านหลังที่สองของเชฟรอนที่ผูกพันกันมายาวนานกว่า 40 ปี จึงมุ่งพัฒนาต่อยอดซึ่งโครงการส่วนใหญ่เป็นโครงการระยะยาว ที่เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างต้นแบบ อย่างโครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางพาราสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

 

ภาพ: Kanok Sulaiman / Getty Images

 

“เนื่องจากสงขลาทำอาชีพเกษตรกรยางพาราเป็นอาชีพหลัก และการแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของจังหวัดและประเทศได้เป็นอย่างมาก”

 

พรสุรีย์บอกอีกว่า สิ่งที่ควรจะเดินหน้าคือการผลิตยางแผ่นรมควันซึ่งใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ทำให้มีต้นทุนที่สูงและบางครั้งไม่ได้คุณภาพ อีกทั้งกระบวนการผลิตยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในช่วง พ.ศ. 2558 เชฟรอนจึงร่วมกับสถาบันวิจัยระบบพลังงาน (PERIN) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำโครงการเพื่อส่งเสริมกระบวนการผลิตยางแผ่นรมควันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

โดยเปลี่ยนน้ำเสียให้เป็นก๊าซชีวภาพ และใช้ก๊าซชีวภาพไปรมควันยางแผ่นเพื่อช่วยประหยัดเชื้อเพลิงไม้ฟืน ตลอดจนนำระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการผลิตยางแผ่นและการดำเนินงานของสหกรณ์ นำร่องต้นแบบ ณ สหกรณ์บ้านทรายขาว และสหกรณ์ยูงทอง

 

“ที่สำคัญคือโครงการนี้จะตอบโจทย์การพัฒนาสงขลาของภาครัฐที่มุ่งให้เป็นเมืองเกษตรกรรมสีเขียวมูลค่าสูง และสอดคล้องกับหลักการของแบบจำลองโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน BCG ของประเทศอีกด้วย”

 

สหกรณ์ยูงทองขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพรินต์สำเร็จเป็นแห่งแรกในไทย

 

ด้าน สุเมธ ไชยประพัทธ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบพลังงาน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนด้านวิจัยจากเชฟรอน 10 ปีแล้ว ที่ผ่านมาก็เน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราและกรรมการบริหารสหกรณ์ฯ จนแน่ใจได้ว่าอุปกรณ์และเทคโนโลยีเหมาะสมกับวิถีการดำรงอยู่ของวิสาหกิจชุมชนยางพารา

 

“สหกรณ์สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 425 ตันต่อปี หรือประมาณร้อยละ 31 และการนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้มาช่วยลดการใช้ฟืน ส่งผลให้ประหยัดเงินของสหกรณ์ฯ ได้ 130,000-180,000 บาทต่อปี ซึ่งตอนนี้สหกรณ์ยางแผ่นรมควันยูงทองเป็นต้นแบบในการส่งต่อความรู้ให้กับสหกรณ์อื่นๆ”

 

นอกจากนี้ยังต่อยอดสู่ ‘โครงการก๊าซชีวภาพสหกรณ์ยางพาราสู่สังคมคาร์บอนต่ำ’ โดยผลักดันให้สหกรณ์ยูงทองขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพรินต์ของยางแผ่นรมควัน (Carbon Footprint of Product) ได้สำเร็จเป็นแห่งแรกของสหกรณ์ยางแผ่นรมควันของประเทศ

 

 

“ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการขอรับรองการจดทะเบียนคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization) และดำเนินการประเมินความเป็นไปได้ในการทำคาร์บอนเครดิตของสหกรณ์ ตามเงื่อนไขขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ของประเทศไทย เพื่อนำสหกรณ์ยางแผ่นรมควันยูงทองไปสู่องค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) แห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย ” สุเมธกล่าว

 

กฎการค้าใหม่ ‘EUDR’

 

สำหรับยางพาราเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจหลักของไทยที่สร้างรายได้ให้เกษตรกร โรงงานแปรรูปส่งออกวัตถุดิบยางพารา ผลิตภัณฑ์ยางทั้งยางล้อรถยนต์ ถุงมือยาง ยางรัดของ ฯลฯ รวมถึงไม้ยางพารา ในแต่ละปีคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 9.6 แสนล้านบาท ที่ผ่านมาเกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาราคายางผันผวน และขณะนี้กฎระเบียบใหม่ๆ โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าของสหภาพยุโรปกำลังท้าทายเกษตรกรอย่างมาก

 

ไม่ว่าจะเป็น EUDR (EU Deforestation Regulation) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EU) ครอบคลุม 7 กลุ่มสินค้า ได้แก่ ยางพารา, กาแฟ, โกโก้, ถั่วเหลือง, ปาล์มน้ำมัน, โค และไม้รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปของสินค้าเหล่านี้

 

โดยนับจากวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ผู้ประกอบการที่นำสินค้าเข้ามาในตลาด EU ต้องตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานว่า สินค้านั้นไม่ได้ผลิตจากพื้นที่เพิ่งเกิดการทำลายป่าหลังจาก พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ส่วนผู้ค้าและผู้นำเข้าต้องรับผิดชอบที่จะให้ข้อมูลเรื่องห่วงโซ่อุปทานแก่ผู้ประกอบการรายย่อย

 

นอกจากนี้ สวนยางที่ขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (โครงการ T-VER) กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เพื่อเข้าสู่ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต ก็สามารถสร้างรายได้เพิ่มในอีกทาง

 

เกษตรกรสหกรณ์ยูงทองบอกอีกว่า แม้ EUDR เป็นกฎการค้ายุโรปกำหนดมาตรฐานสูง แต่ในขณะเดียวกันก็ท้าทาย และผลพลอยได้ก็ให้ราคาที่ต่างกัน ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม

 

“อนาคตสมมติว่าหากต้นทางสวนยางที่มาจากที่ที่มีการลดคาร์บอนต่ำด้วย มี EUDR ด้วยซึ่งเราก็ทำมาตลอด เมื่อราคายางปัจจุบันอยู่ที่ 85 บาทต่อกิโลกรัม ก็จะให้ราคาที่สูงกว่าเกือบ 10 บาท และสามารถขายคาร์บอนในราคาสูงกว่าด้วย”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X