×

เช็กลิสต์ 3 พรรคการเมือง ‘รวมไทยสร้างชาติ-พลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย’ ใครขยับไปไหนบ้าง

โดย THE STANDARD TEAM
13.01.2023
  • LOADING...

เข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ในเดือนแรกของปี 2566 แล้ว แต่สถานการณ์การเมืองในช่วงปลายอายุรัฐบาลประยุทธ์สมัยที่ 2 ยังคงเต็มไปด้วยความร้อนแรง 

 

โฟกัสไปที่ต้นสัปดาห์แรกเดือนมกราคม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือฤกษ์วันที่ 9 เดือนแรกของปี เป็นหมุดหมายใหม่ในการก้าวสู่นักการเมือง 100% อย่างเป็นทางการ ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยจัดอีเวนต์เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

 

แม้ พล.อ. ประยุทธ์จะนั่งเก้าอี้นายกฯ มาแล้ว 8 ปีเศษ โดยมีจุดเริ่มต้นจากการทำรัฐประหารในปี 2557 แต่เส้นทางการเมืองของ พล.อ. ประยุทธ์เริ่มต้นด้วยอาชีพทหาร และขยับสู่นักการเมืองอาชีพ 

 

ขณะที่ช่วงเช้าของวันเดียวกัน สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ พร้อมขนอดีต ส.ส. ไปด้วยอีกราว 10 คน และปรากฏตัวเคียงข้าง พล.อ. ประยุทธ์ในงานช่วงเย็นวันนั้นด้วย 

 

ขณะที่ ธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ที่แสดงท่าทีชัดเจนมาโดยตลอดว่า พล.อ. ประยุทธ์ไปไหน ตนเองจะไปด้วย ก็ปรากฏในงานครั้งนี้เช่นกัน 

 

“มาช่วยงานอดีตเจ้านายเก่า” คือคำกล่าวของ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มาร่วมงาน พร้อมสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติด้วย

 

รวมไปถึง ถาวร เสนเนียม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคไทยภักดี ได้ปรากฏตัวอยู่ในงานเช่นกัน 

 

อีกคนที่ชัดเจนมาโดยตลอดคือ แรมโบ้-เสกสกล อัตถาวงศ์ ที่การกลับมาหนนี้ เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐนตรี ก็ปรากฏตัวเคียงข้างนายเก่าไม่ห่างกาย

 

วันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา หลังอีเวนต์ใหญ่เปิดตัวจบลง มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) บรรยากาศเต็มไปด้วยความคุกรุ่นของพี่-น้อง 2 ป. (พล.อ. ประยุทธ์-พล.อ. ประวิตร) โดยที่ พล.อ. ประยุทธ์และ พล.อ. ประวิตร ต่างก็ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ กับสื่อมวลชน

 

ในเวลาต่อมา พล.อ. ประวิตรได้ยืนยันกับสื่อมวลชนถึงความสัมพันธ์กับ พล.อ. ประยุทธ์ว่า ยังเหมือนเดิม มีการพูดคุยกันทุกวัน แต่ไม่ใช่เรื่องการเมือง ส่วนโอกาสในการพูดคุยเรื่องการเมืองนั้น พล.อ. ประวิตรตอบสั้นๆ เพียง “ไม่มี”

 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวในฝั่งพรรคพลังประชารัฐ อดีตพรรคที่เคยเสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานั้น ในมุมของ สันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และยังเป็นเลขาธิการพรรค กล่าวถึงการลาออกของ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติว่า พรรคพลังประชารัฐมีผู้สมัครในแต่ละเขตมากกว่า 1 คน และ ส.ส. คนเก่าที่ลาออกไป ส่วนใหญ่เป็น ส.ส. สมัยแรก และมั่นใจมากว่าจะสามารถแทนคนเก่าได้

 

แต่ไม่ได้มีแค่ ส.ส. ที่ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐเพื่อไปพรรครวมไทยสร้างชาติเท่านั้น แต่ยังรวมดาวสภาองครักษ์พิทักษ์ พล.อ. ประยุทธ์และ พล.อ. ประวิตร อย่าง วีระกร คำประกอบ อดีต ส.ส. จังหวัดนครสวรรค์ รวมอยู่ด้วย 

 

วีระกรย้ายเข้าพรรคภูมิใจไทยของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ด้วยเหตุผลของการตีจากครั้งนี้ว่า พล.อ. ประวิตรเข้าถึงยาก ต้องรอคิวนาน ไม่เหมือนนักการเมืองทั่วไป

 

นอกจากนี้ พรรคภูมิใจไทยยังได้ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และอดีต ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ มาเป็นแม่ทัพเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) คนใหม่ของพรรค ซึ่งการมาของพุทธิพงษ์ครั้งนี้ยังขนอดีต ส.ส. กทม. อย่างน้อย 3 คน จากพรรคพลังประชารัฐเข้ามาอยู่ในพรรคภูมิใจไทย

 

ด้านอนุทินกล่าวถึงกระแสที่พรรคภูมิใจไทยถูกมองเป็นพรรคดูด ส.ส. ว่า อะไรก็ตามที่เป็นพลวัต มีการขับเคลื่อน ยิ่งขับเคลื่อนแรงก็จะเกิดสภาวะดึงดูด เป็นหลักฟิสิกส์ เปรียบกับเวลาขับรถเล็กตามรถบรรทุกยังมีโอกาสถูกดูดเข้าไป ทั้งหมดนี้คือการดึงดูดโดยพลวัต น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่พรรคภูมิใจไทยขับเคลื่อนนโยบายทุกอย่าง แม้ช่วงนี้เป็นช่วงโค้งสุดท้ายของสมัยสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทยก็ยิ่งต้องทำงาน ไม่ใช่จะหยุดทุกอย่างแล้วลงไปหาเสียง ขออย่ามองว่าเป็นการดูด แต่ทั้งหมดคือ ‘แรงดึงดูด’

 

“พรรคภูมิใจไทยไม่เคยซื้อ ส.ส. ด้วยเงิน ถ้าเงินเป็นปัจจัยที่สามารถซื้อ ส.ส. ได้ ป่านนี้พรรคการเมืองก็คงไม่ต้องมานั่งแข่งขันนโยบาย และไม่ต้องมาฟาดฟันอะไรกันดุดันขนาดนี้” อนุทินกล่าว

 

 

ภาพประกอบ: พุทธิพงศ์ โรจน์ศตพงค์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising