×

เช็กสิทธิ ประกันสังคม ม.40 จ่ายสมทบต่อกันเกิน 3 เดือน ติดโควิดเบิกได้เท่าไร

08.04.2022
  • LOADING...
ประกันสังคม ม 40

ชัดเจนแล้วว่าผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือเหล่าบรรดาฟรีแลนซ์ทั้งหลาย หากเป็นสมาชิกประกันสังคมตามมาตรา 40 หรือ ประกันสังคม ม.40 ในกรณีที่ติดโควิดต้องพักรักษาตัวก็สามารถรับเงินทดแทนการขาดรายได้ได้ แต่มีข้อแม้ว่าผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบให้กับประกันสังคมไม่น้อยกว่า 3 เดือนติดต่อกัน หรือภายใน 4 เดือนย้อนหลัง มีการนำส่งเงินสมทบรวมกันไม่น้อยกว่า 3 เดือนก่อนที่จะติดเชื้อโควิดหรือเจ็บป่วย

 

ลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 หากติดโควิด สำนักงานประกันสังคมพร้อมดูแลในกรณีที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 300 บาท 

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

ส่วนกรณีที่แพทย์ลงความเห็นว่าให้หยุดพักรักษาตัว หรือให้กักตัวที่บ้าน หรือรักษาแบบ Home Isolation หรือแยกกักตัวในชุมชนแบบ Community Isolation ตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้วันละ 200 บาท 

 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาประเภทผู้ป่วยในและไม่ได้มีความเห็นแพทย์ให้หยุดพักรักษาตัวหรือพักกักตัว แต่มีใบรับรองแพทย์มาแสดง ทางสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้ครั้งละ 50 บาท เฉพาะผู้ประกันตนทางเลือกที่ 1 และ 2 

 

ทั้งนี้ การจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมพิจารณาจากเอกสารหลักฐานใบรับรองแพทย์หรือเอกสารอื่นที่ระบุว่าผู้ประกันตนเป็นผู้ป่วยโควิด อีกทั้งยังพิจารณาจากการจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 3 เดือนภายในระยะเวลา 4 เดือนก่อนใช้สิทธิตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข 

 

นอกจากนี้โฆษกสำนักงานประกันสังคมยังกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวในสื่อโซเชียลว่า ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่สมัครเป็น ผู้ประกันตนมาตรา 40 แล้วจะไม่สามารถใช้สิทธิบัตรทอง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรคนจน หรือสวัสดิการแห่งรัฐต่างๆ ได้นั้นไม่เป็นความจริง ยืนยันว่าสมัครผู้ประกันตนมาตรา 40 แล้ว ยังใช้สิทธิบัตรทองได้เหมือนเดิม และไม่กระทบสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แถมได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น เช่น มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย หรือเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ หรือสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิต

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising