×

ส่องเกมสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ หาร 500 หรือ 100 กับผลประโยชน์ที่สวนทางระหว่างพรรคใหญ่-พรรคเล็ก

โดย THE STANDARD TEAM
05.08.2022
  • LOADING...
สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์

กรณีสูตรคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ ในที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จะใช้สูตรหารด้วย 500 หรือ 100

 

ก่อนหน้านี้ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับสูตรคำนวณหาร 500 ตามญัตติของ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ แต่ล่าสุด หากที่ประชุมพิจารณาไม่ทัน 15 สิงหาคมนี้ ก็อาจจะต้องกลับไปใช้สูตรหาร 100

 

สำหรับสูตรหารด้วย 500 หรือ 100 เป็นกติกาที่เอื้อประโยชน์แตกต่างกันอย่างไร ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ ในรายการ THE STANDARD NOW เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ว่าหากอ่านการเมืองว่าทำไมรัฐบาลและสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เปลี่ยนใจมาเห็นด้วยกับสูตรคำนวณหาร 500 คำตอบคือเป็นการเมืองที่มองว่าระบบเลือกตั้งหาร 100 พรรคเพื่อไทยจะได้เปรียบ ซึ่งก็จริง แต่ถ้าหากหาร 500 พรรคเพื่อไทยก็จะไม่ได้เปรียบอีกต่อไป

 

สูตรหาร 500 พรรคเล็กไม่สูญพันธุ์ ส.ส. ไม่อยู่ใต้พรรคใดผูกขาด

นพ.ระวี มาศฉมาดล ตัวตั้งตัวตีในการให้ใช้วิธีหารด้วย 500 กล่าวเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ถึงกรณีที่ตัวแทนกลุ่มพรรคเล็กเดินทางเข้าพบ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เพื่อนำเสนอความคิดเห็นของกลุ่มพรรคเล็กที่เสนอให้การคิดคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อใช้วิธีหารด้วย 500 ซึ่ง พล.อ. ประวิตรได้ตอบว่าไม่มีปัญหาว่าจะใช้วิธีหารด้วย 100 หรือ 500 แต่ให้ขึ้นอยู่กับวิปรัฐบาลที่จะไปหารือกัน

 

นพ.ระวีกล่าวว่า แนวทางการต่อสู้ต่อของกลุ่มพรรคเล็กต่อจากนี้จะเดินหน้าพูดคุยกับ ส.ส. ทุกพรรคการเมือง ซึ่งรวมถึง ส.ว. ให้มาเห็นด้วยกับการหาร 500 โดยจะให้เหตุผลว่าการหาร 500 ไม่ใช่เป้าหมายเดียวเพื่อให้ ส.ส. พรรคเล็กไม่สูญพันธุ์ แต่หลักการที่ต่อสู้เพื่อให้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญยังอยู่ ให้มีระบบการแบ่งสรรปันส่วนที่สามารถกระจาย ส.ส. ให้กว้างขึ้น ไม่ให้อยู่ภายใต้การผูกขาดของพรรคใดพรรคหนึ่ง และในวันที่มีการพิจารณากลุ่มพรรคเล็ก รวมถึง ส.ส. ที่มีการสงวนคำแปรญัตติเอาไว้ก็จะได้มีการอภิปราย ส่วนผลจะเป็นอย่างไรต้องรอดู

 

เพื่อไทยชี้ รัฐธรรมนูญแก้ไขมาให้ใช้สูตรหาร 100 แล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น

สำหรับกรณีการประชุมร่วมรัฐสภาล่มเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ก่อนจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .… นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส. น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่ามีนัยทางการเมือง ซึ่งการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในการออกกฎหมายต้องพิจารณาตัวกฎหมายเป็นหลัก ถ้าเห็นว่ากฎหมายที่กำลังพิจารณาอยู่มีปัญหา ไม่สามารถออกมาเป็นกฎหมายได้ ก็ใช้กลไกมาตรา 132 ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นทางออกทางหนึ่งและเป็นกลไกระงับยับยั้งกฎหมายที่เห็นว่าไม่ชอบหรือออกไปใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งเขาก็เปิดช่องไว้ และกฎหมายลูกกำหนดระยะเวลาว่าต้องพิจารณาภายใน 180 วัน ถ้าพิจารณาไม่แล้วเสร็จ ให้นำกฎหมายที่เสนอในวาระแรกนำมาบังคับใช้เลย

 

นพ.ชลน่านกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีเจตนารมณ์เมื่อแพ้โหวตมาตรา 23 แล้วตามที่กฎหมายเสนอโดยคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) นำไปปรับปรุงแก้ไข แต่ว่ามีการสั่งการให้พลิกกลับไปใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม บัตร 2 ใบ หารด้วย 500 สิ่งที่เราคิดในการทำหน้าที่มาโดยตลอดเพื่อให้กฎหมายที่ถูกเสนอมาโดยชอบกลับมาบังคับใช้ให้ได้ ซึ่งมีอยู่ 3 แนวทาง คือ

 

  1. ปล่อยให้มีการพิจารณาลงมติในวาระ 3 หาร 500 แล้วไปรอคำทักท้วงของ กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลฎีกา
  2. คว่ำในวาระ 3
  3. ใช้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 132

 

โดยพรรคเพื่อไทยคิดมาแต่แรกว่าทางเลือกที่ 1 จะดีกว่าทางเลือกอื่น เพราะแนวทางที่ 2 และแนวทางที่ 3 สุ่มเสี่ยงที่เขาจะอ้างในการไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญขัดกันกับกฎหมายลูกไม่ได้ จึงนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญบัตรใบเดียว หาร 500 ได้ ซึ่งเราไม่อยากให้เกิดภาพแบบนั้น

 

ดังนั้นแนวทางที่ 1 เราเองก็ไม่แน่ใจว่า กกต. กับศาลจะทักท้วงหรือไม่ แม้ว่าพรรคจะชอบแนวทางที่ 3 เพราะเราได้ประโยชน์สูงสุด แต่กระบวนการตรากฎหมายมันไม่ชอบ ส่วนสมาชิกรัฐสภาจะมาร่วมกับเรา เราไม่ได้เป็นผู้โน้มน้าวชักจูง เพราะเรายืนอยู่จุดนี้มาตลอด ทั้งหมดจึงไม่ใช่เกมแต่เป็นกลไกรัฐสภาในสิ่งที่เหมาะสมที่สุด

 

“มันเป็นร่างที่ ครม. เสนอมา ครม. ควรต้องอับอาย แม้แต่ร่างตัวเองที่ไปปรับแก้ไขในวาระ 2 ไปหักร่างตัวเอง กกต. เสนอมา คุณก็ไปหักในวาระที่ 2 นี่เป็นเจตนารมณ์เราตั้งแต่แรก ไม่ได้เป็นเกมเมื่อวาน แต่ถ้าตีว่าเป็นเกมเราก็ไม่ได้เกี่ยวกับเกมเมื่อวาน แต่เป็นทางเดินของเรา ส่วนใครจะมาร่วมกับเราก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” นพ.ชลน่านกล่าว

 

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยจะยื้อให้ครบเวลา 180 วันหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรายืนยันเจตนารมณ์นี้มาแต่แรก เพียงแต่เราไม่ได้ประกาศเท่านั้น ซึ่งใน กมธ. เราก็สู้มาโดยตลอดว่าเราไม่เห็นด้วย ยิ่งปรับแก้ยิ่งมีปัญหา เราก็สงวนความเห็นและมาสู้ในสภาต่อ ฉะนั้นเกมเพื่อไทยที่วางไว้เรายืดประโยชน์สูงสุดด้วยความชอบตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับในการตรากฎหมายขึ้นมา เราไม่ได้ยึดติดว่าจะหารอะไร แต่บังเอิญว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขมาให้ใช้สูตรหาร 100 แล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น

 

เมื่อถามว่าในสัปดาห์หน้าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราก็สู้แบบนี้ต่อ ส่วนใครจะมาร่วมกับเราไม่ใช่ประเด็นที่เราเป็นผู้ไปกำหนด เพราะเราเป็นเสียงข้างน้อย สังเกตว่าเมื่อวานถ้าสมาชิกไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทย มันก็ไม่เกิดเหตุการณ์ใช้กลไกสภาระงับยับยั้งกฎหมายที่ไม่ชอบได้ จึงมีความมั่นใจว่าสมาชิกส่วนหนึ่งเห็นแล้วว่ามันไม่ชอบ จึงใช้แนวทางนี้ ก็ถือว่าเป็นสิทธิ์และเอกสิทธิ์ของสมาชิกที่จะลงมติหรือไม่ลงมติ

 

“การทำหน้าที่ในสภา การไม่เป็นองค์ประชุมและไม่ลงมติ ถือเป็นกลไกการทำหน้าที่อย่างหนึ่ง ดีไม่ดีขอให้ดูที่ผลที่เกิดขึ้น ถ้าผลที่เกิดขึ้นดีกับประเทศชาติ ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ที่ดี ไม่ใช่ว่านั่งประชุมแล้วนั่งเป็นเครื่องไม้เครื่องมือให้เขาแล้วทำงานได้ดี ทำงานแล้วมันไม่ดีกับประเทศชาติแล้วไปยกย่องว่าทำงานได้ดี ผมไม่เห็นด้วย” นพ.ชลน่านกล่าว

 

ด้าน นพ.ระวีกล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่เกิดเหตุการณ์สภาล่ม จนอาจทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. …. ไม่ทันภายใน 180 วัน ว่าไม่คิดว่าจะมีการเล่นเกมใต้โต๊ะ ชกใต้เข็มขัด ทำในสิ่งที่ไม่ควรจะทำ ทำให้รัฐสภาเสื่อมเสีย แต่เท่าที่ทราบคือมีพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งออกคำสั่งให้ ส.ส. ในพรรคเซ็นชื่อเสร็จแล้วกลับบ้านได้เลย แต่เมื่อ ส.ส. บางคนไม่ทำ ยังอยู่ร่วมประชุมก็ยังมีตัวแทนมาไล่ ส.ส. ให้กลับบ้าน อ้างว่านายสั่งให้กลับ ซึ่งมีหลายคนมาเล่าให้ฟัง แม้กระทั่ง ส.ส. พรรคเล็กบางคนก็ยังถูกตัวแทนคนดังกล่าวมาสั่งให้กลับบ้านเช่นกัน เนื่องจากเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ จึงทำให้ ส.ส. หายไปจำนวนมาก จนในที่สุดรัฐสภาก็ล่ม

 

“สภาล่มไม่ได้เกิดจากเหตุสมาชิกไม่ครบแบบทั่วไป แต่เกิดจากการเล่นเกมของพรรคใหญ่อันดับหนึ่งและสอง ที่สมาชิกไม่ยอมแสดงตนร่วมประชุม มีความพยายามคว่ำการประชุมให้ได้ เพื่อที่กฎหมายลูกจะไม่สามารถมีโอกาสเข้าสภาได้ และต้องย้อนกลับไปใช้สูตรคำนวณหาร 100 ตามร่างที่ กกต. ยื่นเข้ามาในตอนแรก การกระทำเช่นนี้ผมรับไม่ได้ ถ้ามาเล่นนอกกติกาแบบนี้ไม่ใช่วิธีที่ลูกผู้ชายทำกัน” นพ.ระวีกล่าว

 

ประชาธิปัตย์มองพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทยจับมือกัน

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ถึงกรณีสภาล่มว่า พรรคพลังประชารัฐซึ่งเคยสนับสนุนสูตรหาร 500 คงปรับความคิดใหม่ไปใช้สูตรหาร 100

 

“เที่ยวนี้เหมือนขั้วใหญ่ฝ่ายรัฐบาลกับขั้วใหญ่ฝ่ายค้านจับมือกัน (พรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทย) เข้าสูตรว่า พอเข้าสู่เรื่องผลประโยชน์ตัวเองมันไม่มีฝ่าย มันกลายเป็นแต่ละคนคิดเรื่องตัวเอง ซึ่งอันนี้ผมว่าเป็นเจตนารมณ์ที่ถูกบิดเบี้ยวไปจากเรื่องกระบวนการประชาธิปไตยที่ควรจะคิดถึงความโปร่งใสของกระบวนการมากกว่าคิดถึงประโยชน์ตัวเองแล้วยอมทิ้งเกียรติภูมิของสภา” สาทิตย์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X