×

เปิดกลโกงแชร์ออนไลน์ แชร์ลูกโซ่แบบใหม่ แต่กลไกไม่เคยเปลี่ยน

29.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • แชร์ออนไลน์กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นแชร์ลูกโซ่ที่ไม่มีการลงทุนและได้ผลตอบแทนจริง
  • การอวดฐานะในเฟซบุ๊กเป็นลูกไม้ที่แชร์ออนไลน์ใช้ และมักได้ผลเสมอ
  • วิธีการสังเกตว่าเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ให้จำไว้ว่าไม่มีการลงทุนใดที่มีแต่ได้ลูกเดียว

วันนี้ (29 พ.ย.) กลุ่มผู้เสียหายจากแชร์ลูกโซ่ แชร์เพชรพลอย แชร์ทองคำ และแชร์เงินสด นำโดย สามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย นำข้อมูลผู้เสียหายจากแชร์เพชรพลอยและแชร์ 222 ที่ผู้เสียหายแจ้งว่าถูกนางสาวกมลนันท์ กัญญาบัตร หลอกลวงชักชวนให้ลงทุนจนสูญเสียเงินไปมากกว่า 500 ล้านบาท

 


กลุ่มผู้เสียหายขนเอกสารหลักฐานจำนวน 2 ลังมามอบให้กับ พลตำรวจตรี รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รักษาราชการเลขาธิการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้ดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินมาคืนให้กับผู้เสียหาย และถ้าพบฐานความผิดข้อหาร่วมกันฟอกเงิน ให้ดำเนินคดีอีกฐานความผิด


แชร์ลูกโซ่ในยุคปัจจุบันขยายวงกว้างมากขึ้นจากความก้าวหน้าด้านการติดต่อสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย


‘แชร์ออนไลน์’ เป็นแชร์ลูกโซ่แบบใหม่ที่กำลังระบาดหนักอยู่ในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม วงจรการทำงานของแชร์ลูกโซ่ไม่เคยเปลี่ยน วิธีการและกลไกยังคงเหมือนเดิม

 

 

เทคนิคแชร์ออนไลน์ โชว์รวยลงเฟซบุ๊กเรียกความน่าเชื่อถือ

THE STANDARD พูดคุยกับผู้เสียหายกลุ่มหนึ่งถึงรายละเอียดในการตกหลุมพรางมิจฉาชีพเหล่านี้


ผู้เสียหายเล่าว่า เท้าแชร์ชื่อ ‘ดนิตา จิตมุ่งมั่น’ มีตัวตนอยู่จริง มีอาชีพเป็นแม่ค้าขายของออนไลน์ เฟซบุ๊กของเท้าแชร์คนนี้มีคนติดตามเยอะ เป็นแม่ค้าที่ทำมาค้าขายดี ในแต่ละวันเธอจะโพสต์เฟซบุ๊กโชว์ออร์เดอร์การส่งสินค้า โชว์บ้าน รถยนต์ 3 คัน และโฉนดที่ดิน รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดูดีจนบางครั้งก็อาจเวอร์จนดูเกินจริง

 

ดนิตาตั้งกลุ่มแชร์ชื่อว่า ‘ออมเงินออมทองบ้านสตาซี่’ มีสมาชิกในกลุ่มกว่า 8,000 คน แชร์มีหลายวง เวลาเปิดวงแชร์จะประกาศในเฟซบุ๊กให้คนมาคอมเมนต์สมัครเข้าร่วม

 


กลุ่มผู้เสียหายรายนี้เปิดเผยว่า ตนเองเข้ารวมวงแชร์เงินแสน กติกาคือรับวงแชร์จำนวน 35 คน เท้าแชร์จะกำหนดลำดับการส่งเงินและการได้รับเงินคืนของแต่ละคนโดยไม่ต้องแข่งกันเปียแชร์แบบเก่า เพียงส่งเงินตามกำหนด พอถึงคิวก็จะได้รับเงินคืนพร้อมดอกเบี้ย


แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการจ่ายผลตอบแทนดำเนินไปได้ไม่ถึงครึ่งทาง ก็ปรากฏว่าเท้าแชร์ประกาศปิดแชร์โดยอ้างว่ามีคนไม่ส่งเยอะ จึงไม่มีเงินมาคืน แต่มาทราบภายหลังว่ามือแชร์ลำดับต้นๆ ที่ได้เงินคืนคือกลุ่มญาติของเท้าแชร์คนดังกล่าวทั้งหมด ส่วนคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มญาติ ไม่มีใครได้รับเงินคืนเลย


“ความน่าเชื่อถือมันมีมาตลอด 4-5 ปี มีการรีวิวบนหน้าเพจเฟซบุ๊ก มียอดส่งเบี้ยคืนลูกค้าวันละหลายแสน มีสินทรัพย์การันตี บ้าน 2 หลัง รถยนต์ 3 คัน ทองอีกหลายบาท ก่อนหน้าที่จะเล่นก็แอบส่องเขามาตลอด เขามีตัวตนจริง มีการไลฟ์เฟซบุ๊ก สิ่งที่เขาได้คือค่าดูแลวงแชร์หลายวง ซึ่งเขาก็มีกำไรจากส่วนนี้ด้วย ทุกอย่างดูน่าเชื่อถือ ดูเป็นหลักธุรกิจ ไม่มีความผิดปกติใดๆ” ผู้เสียหายเปิดใจ

 

 

เท้าแชร์โกงเงิน  500 ล้านบาท แต่ยังติดต่อได้ พร้อมท้าให้ไปแจ้งความ

‘บ้านน้ำหวาน’ คือชื่อวงแชร์ลูกโซ่อีกวงที่ถูกหลอก มีผู้เสียหายรวมมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ผู้เสียหายท่านหนึ่งนำเงินเกษียณและกู้เงินมาลงทุนกับแชร์ลูกโซ่วงนี้ จากเดิมที่เคยมีเงินก้อนไว้ใช้หมุนเวียนช่วงบั้นปลาย ปัจจุบันกลายเป็นมีหนี้สิน ไม่มีทรัพย์สินเหลือติดตัว


วงแชร์บ้านน้ำหวานอาการหนักกว่ากรณีแรก เนื่องจากผู้เสียหายส่วนใหญ่แทบไม่เคยเจอตัวเท้าแชร์เลย ไม่ทราบด้วยว่าทำอาชีพอะไร และมีเพียงบางคนเท่านั้นที่ได้เจอเท้าแชร์ตัวจริงผ่านกิจกรรมมีตติ้งหนึ่งครั้ง


ผู้เสียหายท่านหนึ่งบอกกับเราว่า เท้าแชร์ที่ใช้ชื่อเฟซบุ๊กชื่อ Chutimon Numwan อ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนในเหมืองเพชรและธุรกิจของการไฟฟ้า แต่ไม่มีหลักฐานมาแสดง เนื่องจากอ้างว่าเป็นความลับ

 


ผู้เสียหายท่านนี้จ่ายเงินลงทุนเป็นเงินก้อนจำนวน 2 ล้านบาท โดยตกลงกันว่าจะได้รีเทิร์น หรือรับเงินคืนทั้งเงินต้นรวมดอกเบี้ยทุกๆ 3 วันเป็นขั้นบันได รวมแล้วจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยคิดเป็น 30% ต่อเดือน แรกๆ ก็ได้คืน แต่ไม่นานก็เงียบหายไป ทุกวันนี้ก็ยังติดต่อได้ แต่ได้รับคำตอบว่า “ไม่คืน ยอมติดคุก ไปแจ้งความเลย”

 

 

กลโกงแชร์ออนไลน์ จ้างหน้าม้ารับเงิน โชว์หลักฐานลงเฟซบุ๊ก

สามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย บอกกับ THE STANDARD ว่าวิธีการที่แชร์ออนไลน์ใช้คือการใช้มือผีหรือหน้าม้า โดยในแต่ละวันจะมีการโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่าได้โอนเงินและมีผู้รับเงินวันละหลักหลายแสนไปจนถึงหลักล้านบาท แต่หากสืบทราบลงไปจะพบว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นหน้าม้าทั้งสิ้น ไม่เคยมีใครได้รับเงินคืนจากแชร์ลูกโซ่ ถึงได้คืนบ้างก็เพียงเล็กน้อย ไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุนไป


“เพราะกฎหมายเราเบา วันนี้เราจับกุมผู้ต้องหาได้น้อย จับได้ก็ติดคุกแป๊บเดียว หลายคนผันตัวจากผู้เสียหายมาเป็นคนหลอกลวงเสียเอง เพราะมันสามารถเลียนแบบได้ง่าย” สามารถอธิบายถึงเหตุผลที่แชร์ลูกโซ่ยังอยู่คู่กับสังคมไทย


สามารถกล่าวด้วยว่า กรณีแชร์ลูกโซ่ออนไลน์ หากผู้เสียหายไปแจ้งความ โดยทั่วไปตำรวจจะไม่ค่อยรับ เพราะตำรวจในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งไม่สามารถรับคดีได้ เนื่องจากผู้เสียหายมีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ต้องส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินการ ซึ่งมีขึ้นตอนการพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่อีกชั้นหนึ่ง อีกทั้งผู้เสียหายส่วนมากมักยอมความเพราะอับอายหรือกลัวคนในครอบครัวรู้

 

 

ข้อสังเกต 3 ประการ แชร์ลูกโซ่ดูอย่างไร

จักรพงษ์ เมษพันธุ์ หรือ The Money Coach ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน บอกกับ THE STANDARD ถึงวิธีเช็กความเสี่ยงและวิธีตรวจสอบแชร์ลูกโซ่ ดังนี้

  1. เป็นการลงทุนที่ง่ายและได้ผลตอบแทนที่สูงเกินจริง เช่น ได้สูงระดับ 5-10% ต่อเดือนโดยที่ไม่ต้องทำอะไร
  2. เป็นการลงทุนประเภทที่ถ้าไปชักชวนเพื่อนเข้ามาลงทุนเพิ่ม เราจะได้ผลประโยชน์และผลตอบแทนเพิ่มด้วย
  3. มีการรับประกันผลตอบแทนว่าได้เงินเท่าไร เพราะการลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง ซึ่งผู้จัดการกองทุนโดยทั่วไปจะไม่ทำ


The Money Coach ยกตัวอย่างการบริหารจัดการแชร์ลูกโซ่ว่า “สมมติเมื่อได้เงินตรงกลางมา 30 ล้านบาท เขาก็จะเริ่มจ่ายให้พวกเราเพื่อหลอกล่อให้ลงทุนต่อ สมมติมีคนมาลงทุน 200,000 บาท ได้เงินเดือนละ 20,000 บาท ถ้าตั้งโจทย์ระดมทุนสัก 6 เดือน ก็จ่ายเดือนที่ 1 ให้น้องคนแรก 20,000 บาท เขาก็จะรู้สึกตื่นเต้นดีใจว่าการลงทุนแบบนี้มีจริง”


ดังนั้นเวลาที่มีคนสงสัยว่าการลงทุนนี้มีจริงหรือไม่ ก็จะเกิดเป็นวิวาทะเถียงกันว่าการลงทุนนี้เป็นแชร์ลูกโซ่หรือเปล่า แต่คนที่ลงเงินไปแล้วจะบอกว่าไม่ใช่ เถียงกันไปก็เสียเวลา ไร้ประโยชน์ เพราะคนที่ลงทุนไปแล้วได้เงินจริงๆ เขาจะไม่ฟัง นี่คือกลไก

 


สุดท้ายการลงทุนนั้นไม่ได้มีแต่ผลตอบแทนอย่างเดียว แต่มีอีกด้านคือความเสี่ยงอยู่ด้วย


ถ้าเรารู้จักมันมากขึ้น มีความรู้ และไม่โลภจนเกินไป เข้าใจว่าการลงทุนที่ดีต้องให้ผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสมและเพียงพอกับเครื่องมือ และสุดท้ายไม่มักง่าย โอกาสสูญเงินไปเปล่าๆ ก็อาจมีน้อยลง

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X