×

ย้อนคดี ‘โกงสอบตำรวจปี 2555’ กับ พล.ต.อ. จรัมพร บทเรียนประทุษกรรมระดับชาติ รอยด่างสีกากี

10.01.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • การทุจริตกระจายไปหลายภาคไม่ว่าภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ พฤติกรรมแบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันมีอุปกรณ์ซีเรียลนัมเบอร์เดียวกัน เท่าที่จับได้ก็เกือบ100 คน เพราะฉะนั้นที่จับไม่ได้ไม่รู้อีกเท่าไร
  • หากปล่อยให้คนที่ทุจริตเข้ามาเป็นตำรวจ ความเสียหายจะเกิดกับประชาชนและประเทศชาติ เราจึงตัดสินใจยกเลิกการสอบ แต่การยกเลิกนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหายเบ็ดเสร็จเป็นเงิน 100 ล้านบาท
  • รัฐต้องจ่ายค่าใช้จ่ายประมาณ 30 ล้านบาท ต่อตำรวจ 1 นายเพราะฉะนั้นค่าดำรงชีวิตตลอดระยะเวลา 30-40ปี ที่เป็นตำรวจคุ้มกับที่ลงทุนไป 4แสนบาทในการทุจริต

คดีการทุจริตสอบเข้าเพื่อรับการคัดเลือกเป็นข้าราชการตำรวจ เมื่อปี 2555 ถือเป็นการทุจริตสอบครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะกลุ่มผู้กระทำผิดมีการวางแผนเป็นเครือข่าย มีการตระเตรียมการล่วงหน้า และมีเงินหมุนเวียนในวงจรมากกว่า 10 ล้านบาท

 

เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องสูญเสียงบประมาณกว่า 100 ล้านบาทในการจัดสอบใหม่ และยังเป็นเครื่องตอกย้ำความไม่เท่าทันอาชญากรรมของตำรวจไทย ที่ปล่อยให้อาชญากรเดินนำหน้าไปก่อน 1 ก้าว

 

วันนี้ บทเรียนเมื่อ 11 ปีก่อนหวนกลับมาอีกครั้งในรูปแบบที่ต่างไปแต่จุดประสงค์คงเดิม THE STANDARD ชวนทุกคนมารื้อแฟ้มคดี พลิกหน้าสำนวนเรื่องนี้ไปพร้อมกันในบทสัมภาษณ์ของ พล.ต.อ. จรัมพร สุระมณี อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าชุดพิสูจน์หลักฐานคดีทุจริตสอบตำรวจปี 2555

 

 

‘นวัตกรรมการทุจริต’ อาชญากรที่นำเทคโนโลยีมาตอกย้ำความล้ำหน้าของอาชญากรรม

 

พล.ต.อ. จรัมพร สุระมณี อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าชุดพิสูจน์หลักฐานคดีทุจริตสอบตำรวจปี 2555 เล่าย้อนเหตุการณ์ในปีนั้นว่า มีการสอบตำรวจเปิดรับสมัครกำลังพลที่ 10,000 อัตรา แบ่งเป็นฝ่ายอำนวยการ 500 อัตรา และฝ่ายป้องกันปราบปรามแบบตำรวจทำงานโรงพักอีก 9,500 อัตรา ขณะนั้นมีผู้ยื่นความประสงค์เข้าสอบประมาณ 270,000 คนจากทั่วประเทศ

 

การบริหารจัดการสอบครั้งดังกล่าวเนื่องจากมีผู้เข้าสอบจำนวนมากและมีการกระจายกันทั่วประเทศ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะส่วนกลางจึงให้ทุกภาคของตำรวจ ซึ่งมีอยู่ 9 ภาคทำหน้าที่กำกับดูแลสนามสอบของแต่ละภาคที่มีการกระจายไป โดยบางภาคมี 5 สนามสอบ บางภาคมี 10 สนามสอบ จัดสอบตามโรงเรียน

 

วันแรกที่เกิดเรื่อง การสอบกำลังเริ่มขึ้นช่วงบ่ายเวลา 14.00 น. ทางส่วนกลางได้รับรายงานจากกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี ว่าตรวจพบสิ่งผิดปกติที่คาดว่าจะเป็นการทุจริต โดยพบอุปกรณ์ติดตัวกับผู้ที่เข้าสอบ ซึ่งตามปกติก่อนเข้าห้องสอบเจ้าหน้าที่ในสนามสอบจะตรวจค้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มือถือต่างๆ ไม่ให้เข้าห้องสอบได้ แต่อุปกรณ์ที่พบนี้มีลักษณะติดอยู่กับตัว อยู่บริเวณเป้ากางเกง

 

เครื่องรับสัญญาณที่พบกับตัวผู้เข้าสอบ

 

วงจรเครื่องรับสัญญาณ

 

พล.ต.อ. จรัมพร กล่าวต่อว่า หลังจากที่มีการตรวจพบอุปกรณ์ชิ้นแรก เจ้าหน้าที่ได้ยึดมาตรวจสอบและขยายผลต่อทันที ในเบื้องต้นเครื่องมือนี้ใช้ระบบสัญญาณวิทยุหรือเพจเจอร์ มีการสั่นเตือน ซึ่งต่อมาเวลาใกล้เคียงกันที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 จังหวัดนครราชสีมา มีการตรวจจับการทุจริตได้ในหลายๆ ห้องสอบ หลายๆ โรงเรียน ซึ่งปรากฏว่าของกลางที่พบคืออุปกรณ์ลักษณะคล้ายกัน มีขนาด 1 นิ้ว คูณ 2 นิ้ว หนา 1 เซนติเมตร

 

ทางตำรวจกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ทำการสอบปากคำผู้เข้าสอบรายดังกล่าวทันที ทราบว่ามีการเดินทางมาสอบเป็นกลุ่มโดยรถตู้จากจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อมาสอบที่จังหวัดนครราชสีมา มีศูนย์กลางการนัดแนะอยู่ที่โรงแรม ซึ่งตำรวจหลังได้ข้อมูล ได้ทำการบุกค้นทันที และพบว่าภายในห้องพักที่ถูกดัดแปลงเป็นส่วนกลางมีเงินสดรวมแล้วมากกว่า 10 ล้านบาท และพบเป็นบัตรประจำตัวประชาชน เอกสารบัญชีรายชื่อของผู้เข้าสอบจำนวนมาก

 

 

เมื่อขยายผลต่อไปที่บ้านพักของหนึ่งในผู้ต้องหาที่จับกุมได้ พบสมุดบัญชีรายชื่อที่มีข้อมูลจำนวนมาก แยกประเภทระบุว่า สอบนักเรียนนายสิบ, สอบนักเรียนช่าง,สอบนายร้อย, สอบเตรียมฯ และสอบฝ่ายปกครอง สิ่งนี้เป็นเครื่องยืนยันกับทางเจ้าหน้าที่ว่าคนร้ายกลุ่มดังกล่าวดำเนินงานแบบเครือข่าย

 

‘พลิกข้อสอบ 2 แสนชุด’ รวบรวมพยานหลักฐานหาผู้ร่วมโกง ถอดรหัสกระบวนการ

 

พล.ต.อ. จรัมพร กล่าวว่า หลังจากที่ พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ในปี 2555) รับทราบรายงาน ได้สั่งการให้หน่วยอื่นๆ ดูแลและตรวจสอบเหตุลักษณะเดียวกันนี้ในพื้นที่ของตัวเอง ว่ามีสิ่งใดส่อแววผิดปกติบ้าง โดยต่อมาได้รับรายงานจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ที่จังหวัดเชียงใหม่ และภาค 9 ที่มีการทุจริตลักษณะคล้ายๆ กัน แต่ที่ภาค 9 มีการปลอมตัวแทน (สับตัว) ร่วมด้วย 

 

เจ้าหน้าที่เริ่มมีการตรวจสอบการทุจริตลักษณะนี้ ณ ตอนนั้นเจ้าหน้าที่เองไม่เคยเห็นสิ่งเหล่านี้มาก่อน ในส่วนที่ พล.ต.อ. จรัมพรได้รับมอบหมายคือการตรวจพิสูจน์หลักฐานกระดาษคำตอบ การโน้ตข้อความ และอุปกรณ์จากตัวคนที่ติดเป็นเครื่องสั่น 

 

จากนั้นมีรายงานว่าที่จังหวัดนครสวรรค์ ตำรวจกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 พบเสื้อเชิ้ตถูกถอดทิ้งในห้องน้ำ 2 ตัว แต่ละตัวมีการปรับแต่งด้านหลังเสื้อเป็นที่ใส่อุปกรณ์ภาคส่งขนาดเล็กที่มีเสาอากาศประกอบ ซึ่งคาดว่าเป็นการส่งข้อมูลไปที่คนรับสัญญาณ แล้วส่งต่อให้ในห้องสอบที่ระยะไม่ไกลกัน

 

เสื้อเชิ้ต 2 ตัวที่ถูกพบในห้องน้ำใกล้ห้องจัดสอบ

 

เมื่อถามว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องในการปล่อยข้อสอบรั่วไหลหรือไม่ พล.ต.อ. จรัมพร กล่าวว่าในช่วงนั้นได้ตรวจสอบตามขั้นตอนแล้ว สำหรับการออกข้อสอบต้องกักตัวผู้ออกข้อสอบไว้อย่างน้อยสามวัน เก็บโทรศัพท์ทั้งหมด ตัวข้อสอบจะพิมพ์ในสถานที่เฉพาะ ถ้าข้อสอบต้องส่งต่างจังหวัด จะจัดส่งทางเครื่องบิน ในขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้เหตุทุจริตที่เกิดขึ้นไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง

 

จากการสอบสวนขยายผล เครือข่ายที่ทุจริตจะจัดคนประมาณ 10-20 คนเข้าไปสอบ โดยเข้าไปลักษณะกระจายกัน และแบ่งหน้าที่แยกกันจดคำถามและคำตอบคนละ 5-10 ข้อ จากนั้นจะออกมาจากห้องสอบ หาคำตอบและนัดหมายคนที่มีเพจเจอร์ (ผู้เข้าสอบ) เตรียมรับสัญญาณ (คำตอบ) หลังผ่านไปแล้วชั่วโมงครึ่งของการสอบ

 

พล.ต.อ. จรัมพรกล่าวว่า ขณะนั้นข้อสอบมีอยู่ด้วยกันหลายชุด ในแต่ละห้องมีการสลับชุดข้อสอบกัน ทั้ง 8 ชุดที่จัดทำเป็นคำถามและคำตอบเดียวกัน แต่จะสลับลำดับข้อและคำตอบ ช่องว่างที่พบตอนนั้นคือ แม้ลำดับข้อจะถูกสลับไปมา แต่คำถามและคำตอบไม่ได้ถูกสลับ ส่วนนี้ทางเครือข่ายจะนำคำถามคำตอบมากำหนดเป็นรหัส นำมาฝึกฝนให้ลูกข่ายที่เป็นลูกค้าไว้ใช้ในการตอบ

 

ส่วนความผิดสังเกตจากกระดาษคำตอบที่ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบ พบว่าในกระดาษคำตอบมีการทดเลข แต่เลขนั้นไม่ใช่การทดจากการบวกลบคูณหาร เป็นการทดเลขเแบบการเขียนเป็นกลุ่ม ภายหลังพิสูจน์ได้ว่าสอดรับกับการส่งรหัส

 

ตัวอย่างกระดาษทด และกระดาษข้อสอบที่พบพิรุธ

 

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ กับการสูญเสียเงิน-เวลา-เทคนิคที่เท่าทัน

 

พล.ต.อ. จรัมพรกล่าวว่า ในการสอบเมื่อปี 2555 พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ได้ประเมินสถานการณ์หลังพบการทุจริตที่เป็นเครือข่ายครั้งนี้ว่า ถ้าจะยกเลิกการสอบต้องมีเหตุผลเพียงพอ หรือถ้าไม่ยกเลิกการสอบก็ต้องมีเหตุผลเพียงพอ แต่จากการประเมินของคณะทำงานพบว่า การทุจริตมีการกระจายไปหลายภาค ไม่ว่าภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ พฤติกรรมแบบเดียวกันหรือคล้ายคลึงกัน มีอุปกรณ์ที่สามารถหาซีเรียลนัมเบอร์เดียวกัน เท่าที่จับได้เกือบ 100 ราย เพราะฉะนั้นที่จับไม่ได้ไม่รู้อีกเท่าไร

 

ถ้าหากปล่อยให้คนที่ทุจริตเล็ดลอดเข้าไปเป็นตำรวจ ความเสียหายย่อมเกิดกับประชาชนและประเทศชาติมากกว่า คณะกรรมการจึงตัดสินยกเลิกการสอบไป ทั้งนี้ เวลามีผู้มาสมัครสอบ จะต้องเสียค่าอุปกรณ์ รวมค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 300 บาท ถ้าจำนวน 2 แสนคนมีมูลค่าอยู่ที่ 60 ล้านบาท แต่ในการสอบต้องมีในส่วนค่าเบี้ยเลี้ยง, ค่ายานพาหนะ, ค่าที่พักของคนที่มาทำหน้าที่ รวมเบ็ดเสร็จเป็นเงิน 100 ล้านบาท จำนวนนี้คือความเสียหายที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียไป

 

พล.ต.อ. จรัมพรยอมรับว่า ในช่วงนั้นเรื่องการส่งสัญญาณอุปกรณ์ที่พบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติแทบจะไม่เคยเห็น จึงต้องมีการประสานกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ที่มีผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูด้านเทคโนโลยี ส่วนทางพิสูจน์หลักฐานจะมีการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์เอาอุปกรณ์ต่างๆ มาดูว่าทำงานอย่างไร มีการส่งสัญญาณ รับสัญญาณ ทวนสัญญาณอย่างไร 

 

ตำรวจทำงานร่วมกับเนคเทค

 

ต่อมาทางฝ่ายสืบสวนไปสืบค้นพบว่าอุปกรณ์เหล่านี้ซื้อที่ย่านบ้านหม้อ ตัวละไม่กี่บาท กลุ่มผู้ต้องหาตั้งแต่สามปีก่อนที่จะมีการทุจริตที่จับได้เมื่อปี 2555 เพราะฉะนั้นมีความเป็นไปได้สูงว่าก่อนหน้านั้นมีการโกงสอบ และในเครือข่ายต้องมีช่างเทคนิคที่มีความรู้เรื่องการส่งสัญญาณ มีพวกที่แบ่งไปหาสายลูกค้า มีเครือข่ายภายหลังพบว่าบางคนเป็นพวกติวเตอร์หรือแม้แต่เป็นอดีตครู 

 

ทางตำรวจมีการดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิทยุคมนาคมเท่านั้น

 

เครือข่ายผู้ต้องหาที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3

 

เครือข่ายผู้ต้องหาที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 6

 

พล.ต.อ. จรัมพรกล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ในช่วงนั้น เพราะก่อนหน้านี้การทุจริตเป็นวิธีโลว์เทค จดโพยเข้าไปแล้วนั่งดู เปลี่ยนตัวไปสอบแทนหรือไม่ก็ไปนั่งใกล้ๆ กัน ตำรวจล้วนเคยเห็นวิธีแบบนี้มาตลอด แต่พอมาเจอการทุจริตด้วยเครื่องมือเหล่านี้ ทำให้กฎเกณฑ์ต้องลงรายละเอียดมากขึ้น

 

เช่น ไม่มีการสวมเสื้อผ้าแบบซุกซ่อน แต่งแบบชุดกีฬา ผู้เข้าสอบต้องเดินผ่านวอล์กทรู มีเครื่องตรวจจับโลหะ มีเครื่องตัดสัญญาณ (แจมเมอร์) กระจายตามสนามสอบต่างๆ ช่วงนั้นเจ้าหน้าที่ออกแบบมาตรการป้องกันไว้รัดกุมจนเรื่องดังกล่าวหายไปเป็น 10 ปี

 

 

‘ผลตอบแทนที่แสนคุ้มค่า’ กับหนี้สินหลักแสนที่กู้ยืมเพื่อแลกกับเงินตอบแทนและสวัสดิการตลอดชีวิต

 

พล.ต.อ. จรัมพรเล่าว่า จากการสอบถามหนึ่งในผู้ทุจริตสอบยอมรับว่า ข้อตกลงกับทางเครือข่ายตั้งแต่ขั้นตอนแรก จนได้เป็นข้าราชการตำรวจมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่หลักแสนบาท ในตอนที่เขาฝึกรับสัญญาณจากเครื่องเพจเจอร์ต้องจ่ายมัดจำแล้วประมาณ 1-2 หมื่นบาท และถ้าสอบได้ต้องจ่ายอีก 2-4 แสนบาทแล้วแต่การตกลงกัน แต่ถ้าสุดท้ายสอบไม่ได้ก็ถือว่าเสียเงินฟรี

 

พล.ต.อ. จรัมพรกล่าวว่า การที่หนึ่งคนยอมจ่ายเงินสี่แสนบาท แม้จะต้องกู้หนี้ยืมสินมาก็ตาม การที่คนนั้นได้เข้ารับราชการจะมีเรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐาน, เงินเดือน, สวัสดิการรักษาพยาบาลคนในครอบครัว หรือค่าเล่าเรียนบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ 

 

จากที่เคยคิดคำนวณตำรวจคนหนึ่งแค่ระดับชั้นประทวนตั้งแต่รับราชการประมาณเกือบ 40 ปี (นับตั้งแต่อายุ 18 ปี) ภาครัฐต้องจ่ายค่าใช้จ่ายประมาณ 30 ล้านบาทต่อคน เพราะฉะนั้นค่าดำรงชีวิตตลอดระยะเวลา 30-40 ปี มูลค่าเงิน 30 ล้านบาทนี้ หลายคนมองว่าคุ้มกับที่ลงทุนไป 4 แสนบาท

 

“ความจริงเรื่องนี้สะท้อนปัญหาสังคมได้ส่วนหนึ่ง ในสังคมเรามันมีทั้งคนดีและไม่ดีอยู่รวมกัน มันเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม ฉะนั้นเราจะห้ามคนชั่วคิดโกงเป็นไปได้ยาก เพียงแต่เราที่เป็นตำรวจต้องหามาตรการทำอย่างไรก็ได้ให้เขาโกงไม่ได้ หรือถ้าโกงก็โกงไม่สำเร็จ อันนี้คือมาตรการเชิงรุกที่เราต้องทำ ”พล.ต.อ. จรัมพรกล่าวทิ้งท้าย

 

ภาพ: ภูริเดช พันธ์วิบูลย์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising