วานนี้ (1 พฤษภาคม) รศ.ดร.นพ.ชาตรี ชัยอดิศักดิ์โสภา อาจารย์หน่วยโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลกรณีบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ายอมรับว่า วัคซีนโควิด มีผลข้างเคียงทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดและเกล็ดเลือดต่ำว่า มีรายงานภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ (VITT) หลังฉีดวัคซีนโควิดอยู่ 2 ชนิด โดยกลไกที่ทำให้เกิดภาวะ VITT เพราะองค์ประกอบของวัคซีนบางส่วนที่ทำให้ร่างกายผู้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาแล้วไปกระตุ้นเกล็ดเลือด ทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ
อุบัติการณ์ทั่วไปพบได้ 1:100,000 ในกลุ่มประชาชนทั่วไป พบน้อยมากในกลุ่มผู้สูงอายุ (มากกว่า 65 ปี) มีเพียง 1:1,000,000 ของประชากรที่ฉีดวัคซีน และในกลุ่มที่อายุน้อยกว่า 55 ปี พบได้ 1:50,000 มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
สำหรับอาการมักเกิดใน 1-2 สัปดาห์หลังจากฉีดเข็มแรก แต่ยังสามารถพบได้ภายใน 30 วันหลังฉีด โดยอาการขึ้นอยู่กับว่าลิ่มเลือดอุดตันที่อวัยวะใด พบบ่อยที่สุดบริเวณหลอดเลือดดำของสมอง รองลงมาคือในหลอดเลือดดำในท้อง ส่วนบริเวณอื่นๆ พบได้น้อยกว่า
การวินิจฉัยประกอบด้วย 3 องค์ประกอบคือ ต้องมีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หากสงสัยจะส่ง CT Scan ต้องมีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ และมีการสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อต้านเกล็ดเลือดของตนเอง การรักษาจะให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด และระวังภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และยับยั้งการสร้างภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติด้วยการให้ยา Intravenous Immunoglobulin (IVIG)
ทั้งนี้ คาดว่าภายหลังจากการออกมายอมรับของบริษัทผู้พัฒนาวัคซีนแล้ว จะเริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลในเรื่องนี้เพื่อศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ยืนยัน ‘ลิ่มเลือดสีขาว’ เกิดจากโปรตีนเลือดตกตะกอน ไม่ใช่ความผิดปกติจากการฉีดวัคซีน mRNA
- รางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ประจำปี 2023 เป็นของผู้ร่วมคิดค้น วัคซีนโควิด