×

ชัชชาติ สำรวจปัญหารถติด ส่วนก่อสร้างอุโมงค์ข้ามแยกรัชดา-ราชพฤกษ์ เตรียมดูสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หารือโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม

โดย THE STANDARD TEAM
24.05.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (24 พฤษภาคม) บริเวณส่วนก่อสร้างอุโมงค์ข้ามแยกรัชดา-ราชพฤกษ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ลงพื้นที่ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 เพื่อสำรวจการก่อสร้างอุโมงค์จุดข้ามแยกและสำรวจสภาพการจราจรฝั่งธนบุรี พร้อมกับว่าที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทั้ง 2 เขต คือ วิรัช คงคาเขตร เขตบางกอกใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ และ จิรเสกข์ วัฒนมงคล เขตธนบุรี พรรคเพื่อไทย

 

ชัชชาติกล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่สำรวจปัญหาน้ำท่วมที่คลองลาดพร้าวเมื่อวานนี้ (23 พฤษภาคม) ปัญหาต่อไปที่เดินหน้าสำรวจคือปัญหาการจราจร ในวันนี้ลงพื้นที่บริเวณแยกรัชดา-ท่าพระ เพราะมองว่าเขตธนบุรีเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาหนักสุด สำหรับจุดนี้เป็นอุโมงค์ มีการซ่อมถนนและลอกท่อประปา รวมถึงนำสายไฟฟ้าลงดิน ที่ผ่านมามีการขยายสัญญาก่อสร้างมาโดยตลอด ซึ่งมีความล่าช้ามากว่า 600 วันแล้ว และงานตอนนี้พบว่ายังไม่คืบหน้า ส่งผลให้การจราจรติดขัดยาวนาน วันนี้จึงได้พาว่าที่ ส.ก. เขตธนบุรีและเขตบางกอกใหญ่ที่ทราบปัญหาในพื้นที่ปัจจุบันมาหารือ 

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า กทม. มีสัญญาโครงการก่อสร้างหลักๆ 14 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งพบว่ามีความล่าช้ามากกว่า 100 วัน บางโครงการก็สิ้นสุดสัญญาไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถคืนพื้นผิวจราจรได้ ซึ่งตนรู้สึกตกใจมาก แต่ก็ต้องไปดูรายละเอียดว่าเพราะเหตุใดถึงล่าช้า ส่วนปัญหาเรื่องจราจรที่มาจากการสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย กทม. จำเป็นต้องเร่งรัดในการจัดการ รวมถึงเรื่องการนำสายไฟฟ้าลงดินของการไฟฟ้านครหลวง 

 

ส่วนจะเร่งรัดการทำโครงการได้มากแค่ไหนในวาระ 4 ปี ต้องไปพิจารณาข้อมูลก่อน เพราะแต่ละเรื่องมีรายละเอียดสัญญา ส่วนหนึ่งมองว่าการล่าช้าขณะนี้ต้องมีอะไรผิดปกติ และต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ว่าจะบอกว่าใครทุจริต แต่อีกด้านก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับประชาชน 

 

ส่วนประเด็นการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังไม่มีการพิจารณา เนื่องจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รอความเห็นจากผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ก่อนนั้น ชัชชาติระบุว่า จะต้องไปดูในรายละเอียด 3 เรื่อง คือ เรื่องหนี้สิน สัญญาเดินรถ และเรื่องการต่อสัญญา 40 ปีโดยไม่ผ่านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมทุน

  

ชัชชาติกล่าวต่ออีกว่า คงต้องมีการถามกลับไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าทำไมถึงต้องต่อสัญญาสัมปทานถึง 40 ปีโดยไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน เพราะตนมองว่า พ.ร.บ.ร่วมทุน เป็นสิ่งที่ดีที่มีคนนอกหน่วยงานมาดูแล ไม่ใช่แค่คณะกรรมการชุดเล็กๆ ที่ตั้งขึ้นมา และมีการแข่งขันราคากัน ซึ่งหากมีการแข่งขันราคาก็จะได้เห็นราคาที่เป็นธรรมขึ้น ทั้งนี้ไม่ได้มีอคติว่าผิดหรือถูก แต่เชื่อมั่นในระบบที่มี พ.ร.บ.ร่วมทุน และยังมีส่วนกรณีหนี้สินค่าก่อสร้างที่รัฐบาลโอนมาให้ กทม. กว่า 6 หมื่นล้านบาทว่าผ่านขั้นตอนถูกต้องหรือไม่ และสภา กทม. รับรองมีมติหรือยัง ซึ่งหากมีมติรับถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ก็ต้องว่าไปตามหลักการ รวมถึงสัญญาจ้างการเดินรถ ถูกกฎหมาย มี พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่ เพราะเป็นสัญญาจ้างระยะยาว

 

ทั้งนี้ กทม. คงไม่ได้ไปพูดคุยกับรัฐบาลโดยตรง แต่จะส่งเป็นหนังสือชี้แจงถึงความเห็นเข้าไปเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งมองว่า กทม. เป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินใจของรัฐบาลเท่านั้น และมองว่าควรคิดให้รอบคอบก่อน เพราะถ้าผ่าน ครม. แล้วคงแก้ไขยาก และ ครม. เองยังมีการเห็นแย้งกัน ดังนั้นคงไม่ผิดที่จะขอดูให้ละเอียดก่อน โดยยืนยันว่าเป็นเรื่องเหตุผล ไม่ใช่เรื่องของอารมณ์ และส่วนตัวยืนยันในหลักการว่า หากไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน เท่ากับไม่ตรงตามหลักการของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะผ่าน ม.44 

 

ส่วนในอนาคตจะมีการใช้บัตรใบเดียวในการเชื่อมต่อการเดินทางหรือไม่ ชัชชาติระบุว่า บัตรใบเดียวสามารถเข้าทุกระบบได้ก็สามารถเป็นไปได้ แต่ที่กังวลคือโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมที่มีความซ้ำซ้อน เพราะบัตรใบเดียวอาจจะจ่ายแพงเนื่องจากมีค่าแรกเข้า มองว่า กทม. กับ BTS ควรจะต้องหารือกันเองก่อน หากมีส่วนต่อขยายเข้ามาพื้นที่สัมปทาน BTS เป็นไปได้หรือไม่ที่จะไม่มีค่าแรกเข้า และหากมีโอกาสหารือกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็ควรจะหารือถึงราคาค่าแรกเข้าด้วย

 

โดยชัชชาติยังกล่าวถึงกรณีที่ รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทวงถามสัญญาที่ให้ไว้เรื่องการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยืนยันว่าตนไม่ลืม มีการต่อสายพูดคุยกับรสนาแล้วและก็จะดำเนินการ เชื่อว่าจะไม่ขัดผลประโยชน์กับภาคธุรกิจในประเด็นนี้

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X