วันนี้ (23 มกราคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามอิสระ ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กว่า
“ผมขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ที่โดนบิ๊กไบค์ชนเสียชีวิตขณะเดินข้ามทางม้าลาย หน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ความสูญเสียดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่สำคัญของความปลอดภัยของการเดิน โดยเฉพาะการข้ามถนน ที่ทางม้าลายไม่ได้รับความสำคัญ หลายครั้งที่เราเห็นคนข้ามถนนบนทางม้าลายต้องขอบคุณรถที่หยุดรถให้ ทั้งๆ ที่มันเป็นสิทธิของคนข้ามถนนที่ทางข้าม”
ชัชชาติระบุว่า ได้ดูคลิปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นชัดเจนว่าคุณหมอข้ามทางม้าลาย รถตู้ที่มาเลนกลางชะลอให้แล้ว ส่วนบิ๊กไบค์ที่มาเลนขวาสุดมาด้วยความเร็ว ไม่มีการชะลอ แล่นแซงรถตู้และชนคุณหมอ ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือเรื่องวินัยจราจร
ตาม พ.ร.บ.จราจร พ.ศ. 2522 ให้สิทธิคนข้ามถนนที่ทางม้าลายอย่างชัดเจน เช่น มาตรา 70 เมื่อเห็นทางม้าลายให้ชะลอความเร็วก่อนทุกครั้ง (บิ๊กไบค์ไม่ชะลอความเร็ว) สำหรับป้ายสัญญาณทางข้ามที่ติดตั้งอยู่ด้านบนทางข้ามนั้น หมายความว่า ทางข้างหน้ามีทางสำหรับคนข้ามถนน ถ้ามีคนกำลังเดินข้ามถนนให้หยุดรถให้คนเดินข้ามถนนไปได้โดยปลอดภัย (บิ๊กไบค์ไม่หยุดรถให้คนเดินข้าม)
ต้องมีการกวดขันวินัยจราจรกันอย่างจริงจัง ลงโทษสถานหนัก จับ ปรับ จำ ยึดใบขับขี่ ในปัจจุบันเราจะเห็นวินัยจราจรที่หย่อนยานทั่วไปหมด พอไฟแดงแต่รถว่าง ก็ฝ่าไฟแดงกันจนเป็นเรื่องปกติ เราเห็นรถมอเตอร์ไซค์ขับย้อนศร ขับบนทางเท้า รถจอดซ้อนคัน พอมีคนไปตักเตือนยังโดนด่ากลับมาอีก
นอกจากนี้ ลักษณะทางกายภาพของทางข้ามที่ต้องเร่งดำเนินการปรับปรุง
- ทาสีแถบทางข้ามมีความชัดเจน ไม่กระดำกระด่าง มีความกว้างมากขึ้น เหมือนในประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้คนที่ขับขี่รถยนต์สามารถเห็นได้ในระยะไกล
- มีการติดตั้งไฟแสงสว่างให้เพียงพอ และสัญญาณไฟกระพริบเตือน
- มีการติดตั้งป้ายเตือนทางข้ามไว้ล่วงหน้าก่อนถึง
- มีการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดที่ไม่หยุดให้คนข้าม
- ในจุดที่มีคนข้ามจำนวนมาก ติดตั้งสัญญาณไฟเขียว-ไฟแดง เพื่อให้ข้ามได้อย่างปลอดภัย
“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ อย่าให้ทางม้าลายเป็นแค่สิ่งที่ช่วยให้เราบาดเจ็บหรือตายได้อย่างถูกกฎหมายเท่านั้นครับ” ชัชชาติระบุ
อ้างอิง: