‘อาร์เอส (RS)’ อาจเคยเป็นที่รู้จักในฐานะค่ายเพลง แต่ตอนนี้อาณาจักรธุรกิจของอาร์เอสขยายขอบเขตไปไกลกว่านั้นมาก และครอบคลุมไปถึงธุรกิจอย่าง ‘การบริหารหนี้สินครบวงจร’
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2564 RS ได้ส่งบริษัทย่อยคือบริษัท อาร์ อัลไลแอนซ์ จำกัด เข้าลงทุนในบริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 35% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ทำให้ เชฎฐ์ เอเชีย มีฐานะเป็นบริษัทร่วมของ RS
‘เฮียฮ้อ’ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ RS เคยกล่าวถึงเหตุผลในการเข้าลงทุนไว้ว่า เชฎฐ์ เอเชีย เป็นบริษัทบริหารหนี้ครบวงจรชั้นนำแห่งหนึ่งของไทย มีทีมบริหารและทีมงานที่มีความชำนาญในธุรกิจสูง และด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้จำนวนหนี้ด้อยคุณภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ในปี 2564 มูลค่าพอร์ตสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามสิทธิเรียกร้องของ เชฎฐ์ เอเชีย มีมูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท อีกทั้งยังมีหนี้ที่ให้บริการติดตามทวงถาม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มากกว่า 19,000 ล้านบาท
ลูกค้าหลักของบริษัทคือกลุ่มสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศ ด้วยกลยุทธ์และโมเดลธุรกิจที่แข็งแกร่ง ประกอบกับการทำงานอย่างทุ่มเทในการช่วยลูกหนี้บริหารจัดการและปลดภาระหนี้สินอย่างเหมาะสม จะช่วยให้ เชฎฐ์ เอเชีย เติบโตได้อีกมาก
ปัจจุบันหัวเรือใหญ่ในการบริหารงานของ เชฎฐ์ เอเชีย คือ ประชา ชัยสุวรรณ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ในสัดส่วน 64.8% ซึ่งมีประสบการณ์ในวงการบริหารหนี้กว่า 30 ปี นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้สถาบันการเงินอีกด้วย
ปัจจุบันธุรกิจหลักของ เชฎฐ์ เอเชีย แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- บริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงิน
- ให้บริการติดตามทวงถามเร่งรัดหนี้สินและยังให้บริการดำเนินคดีแบบครบวงจร
ทั้งนี้ บริษัทมีกลยุทธ์สำคัญที่จะใช้สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่
- ขยายพอร์ตเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยตั้งเป้าหมายที่จะเข้าซื้อพอร์ตเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ปีละ 1,000 ล้านบาท
- ขยายทีมติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สิน เพื่อรองรับอุปสงค์ของงานด้านการติดตามทวงถามหนี้ที่มีเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีพนักงานประมาณ 400 คน
- เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงพอร์ตลงทุนในระยะยาว
- เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและเพิ่มช่องทางการสื่อสารผ่านช่องทาง Online และพัฒนา Mobile Application เพื่อให้ลูกหนี้สามารถติดตามการจัดการหนี้สินได้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพของพนักงานติดตามทวงถามหนี้ เพื่อรับชำระหนี้จากลูกหนี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
มากไปกว่านั้น เชฎฐ์ เอเชีย ยังมีจุดเด่นและข้อได้เปรียบสำคัญ คือการให้บริการอย่างครบวงจร ไล่ตั้งแต่รับติดตามหนี้ที่ยังไม่ถูกจัดชั้นด้อยคุณภาพ ช่วยลดภาระการดำเนินงานให้แก่คู่ค้า
ในกรณีที่ลูกหนี้ดังกล่าวเปลี่ยนสถานะเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และธนาคารพาณิชย์ตัดสินใจขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) บริษัทก็สามารถซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) ดังกล่าวมาบริหารจัดการต่อ ซึ่งช่วยลดระยะเวลาและขั้นตอนกระบวนการตามหา และ/หรือทำความรู้จักลูกหนี้
ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเร่งรัดหนี้สินยาวนานกว่า 20 ปี ทำให้บริษัทมีพนักงานที่มีความชำนาญในขั้นตอนและวิธีการติดตามทวงถามหนี้ รวมไปถึงงานฟ้องและบังคับคดีเป็นอย่างดี ความสามารถดังกล่าวทำให้สามารถรับงานติดตามทวงถามและเร่งรัดหนี้สินได้หลากหลายขึ้น เนื่องจากสามารถตามเก็บหนี้ได้ทุกสถานะ
นอกจากนี้ความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันการเงินอย่างยาวนาน และเข้าใจลักษณะพอร์ตเงินให้สินเชื่อแก่สินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่สถาบันการเงินแต่ละรายนำออกมาจำหน่าย ช่วยให้บริษัทสามารถกำหนดราคาซื้อและเลือกซื้อพอร์ตมาบริหารได้อย่างเหมาะสม
ความสามารถในการบริหารจัดการสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพของ เชฎฐ์ เอเชีย สะท้อนให้เห็นผ่านผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรที่อยู่ในระดับแถวหน้าของอุตสาหกรรม
สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันเหมือนจะเอื้ออำนวยให้กับธุรกิจบริหารหนี้เนื่องจากวิกฤติโควิด ซึ่งทำให้เกิดหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินเป็นจำนวนมากจะทำให้บริษัทมีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ขณะเดียวกัน การท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศก็จะทำให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ดีขึ้น
ระหว่างปี 2562-2564 บริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าบริการและค่าวิชาชีพรวม 635.7 ล้านบาท, 730.2 ล้านบาท และ 781.1 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) อยู่ที่ 10.8% โดยมีอัตรากำไรสุทธิ 25.4%, 23.4% และ 34.5% ตามลำดับ
นอกจากนี้บริษัทยังมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ลดลงต่อเนื่องจาก 1 เท่า มาเหลือ 0.31 เท่า ในปี 2564 ทำให้บริษัทมีโอกาสในการกู้ยืมเงินเพิ่มเติมเพื่อนำมาขยายธุรกิจ
ล่าสุด เชฎฐ์ เอเชีย มีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ด้วยการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 562 ล้านหุ้น ภายในไตรมาส 1 ปี 2566 เพื่อระดมทุนรองรับการขยายธุรกิจ และสร้างโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ถึงเวลา เฮียฮ้อ ฟื้นคืนชีพธุรกิจเพลง RS อีกครั้งในรอบ 15 ปี นำศิลปินเก่ากลับมาทำเพลงใหม่ พร้อมปั้นศิลปินหน้าใหม่จับทุก Gen
- เปิดพอร์ต เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ และ ‘สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง’ หลังเข้าถือหุ้น GIFT
- เฮียฮ้อ ‘ไม่ตอบรับ’ หรือ ‘ปฏิเสธ’ กรณีมีข่าว RS จะใช้เงิน 900 ล้านบาท เข้าซื้อธุรกิจขายตรงของยูนิลีเวอร์