×

ชาติชาย เชี่ยวน้อย ผู้ชนะใจแฟนมวยเจ้าถิ่นในต่างแดน และแบบอย่างสำหรับนักมวยไทย

23.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ชาติชาย เชี่ยวน้อย เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยอาการโรคปอดติดเชื้อในวัย 76 ปี เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2561
  • ชาติชาย เป็นนักมวยสากลชาวไทยที่สามารถคว้าแชมป์โลกได้เป็นคนที่ 2 เมื่อปี 2509 ต่อจาก โผน กิ่งเพชร
  • ชาติชาย เชี่ยวน้อย เป็นอดีตแชมป์โลกรุ่นฟลายเวต 3 สมัยทั้ง WBA, WBC และ The Ring
  • นอกจากความสามารถ และสไตล์การชกที่ดุดันบนเวทีแล้ว ความเป็นสุภาพบุรุษบนสังเวียน ระเบียบวินัยทั้งการฝึกซ้อมและการเงิน ยังทำให้เขากลายเป็นนักมวยที่ประสบความสำเร็จทั้งในและนอกสังเวียนอีกด้วย

วงการมวยสากลไทยได้รับข่าวเศร้าเมื่อนักมวยระดับตำนาน ชาติชาย เชี่ยวน้อย หรือ นริศ เชี่ยวน้อย แชมป์โลกคนที่สองของประเทศไทย เสียชีวิตอย่างสงบด้วยอาการโรคปอดติดเชื้อ ด้วยวัย 76 ปี เมื่อเย็นวันอาทิตย์ที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา

 

จากข้อสงสัยต่างๆ ของนักชกระดับตำนานที่มีหลายคนพูดถึง แม้จะเป็นแชมป์โลกชาวไทยคนที่สอง แต่ทำไมชื่อเสียงเรียงนามของ ชาติชาย เชี่ยวน้อย ถึงเป็นที่รู้จักไม่แพ้กับ โผน กิ่งเพชร ฮีโร่แชมป์โลกคนแรกของไทย

 

วันนี้ THE STANDARD จึงต่อสายสัมภาษณ์ ‘สร้อย มั่งมี’ แฟนพันธุ์แท้ แชมเปี้ยนโลกชาวไทย ปี 2002 และผู้สื่อข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์ข่าวสด ผู้ที่มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ชาติชาย และได้เดินทางไปสัมผัสร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ยอดนักชกชาวไทยคนนี้ได้สร้างไว้ให้กับวงการมวยสากลของไทย

 

ชาติชาย เชี่ยวน้อย กับวงการมวยไทยในปี 2509

 

 

จากบันทึกภายในหนังสือ อนุสรณ์ประวัติศาสตร์ สนามมวยเวทีลุมพินี ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสเปิดสนามมวยเวทีลุมพินีแห่งใหม่ที่รามอินทรา ภายใต้หัวข้อ ‘แชมป์โลกคนที่ 2 ของประเทศไทย’

 

ได้มีการบันทึกถึงไฟลต์ประวัติศาสตร์ในครั้งนั้นไว้ว่า ศึกชิงแชมป์โลกรุ่นฟลายเวต ระหว่าง ชาติชาย เชี่ยวน้อย ผู้ท้าชิงชาวไทย กับ วอลเตอร์ แม็กโกแวน เจ้าของแชมป์ชาวอังกฤษ จัดขึ้นวันที่ 30 ธันวาคม 2509 ที่เวทีกิตติขจร หัวหมาก โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงทอดพระเนตร

 

ผลการชกในไฟลต์นั้น ชาติชาย ชนะ ทีเคโอ ในยก 9 กลายเป็นแชมป์โลกคนที่ 2 ของประเทศไทย และได้เข้าเฝ้าฯ​ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องกึกก้องไปทั้งสนาม

 

ซึ่งจากความทรงจำและไฮไลต์การแข่งขัน สร้อย มั่งมี ยอมรับว่า ชาติชาย เชี่ยวน้อย เริ่มต้นจากการเป็นนักมวยสากลอาชีพจริงๆ ที่เริ่มต้นชกในยุคที่เมืองไทยเรามีเพียง โผน กิ่งเพชร เป็นแชมป์โลกคนแรกที่คว้าแชมป์ได้เมื่อปี 2503

 

“ชาติชาย เป็นมวยสากลอาชีพโดยแท้ คือไม่ได้มีผู้ให้การสนับสนุนอะไรเป็นจริงเป็นจัง เป็นนักมวยอาชีพที่ต้องเดินทางไปต่อยในต่างประเทศ ไปสร้างชื่อเสียงที่ญี่ปุ่น จนกระทั่งเข้าตาผู้สนับสนุนในประเทศไทย ก็เลยผลักดันจนได้เป็นแชมป์โลกชาวไทยคนที่สอง”

 

“ไม่ใช่เพียงเท่านั้น แต่เขายังสร้างประวัติการณ์เป็นแชมป์โลกรุ่นฟลายเวตถึงสามสมัย ตามอย่าง โผน กิ่งเพชร แชมป์โลกคนแรกเลยทีเดียว”

 

นักมวยสไตล์โบราณ ขวัญใจมหาชนในต่างแดน

จากบันทึกเทปการชกต่างๆ บวกกับการพูดคุยกับนักข่าวสายมวยในเม็กซิโก ทำให้ สร้อย มั่งมี ได้ประกอบภาพความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องราวของแชมป์โลกชาวไทย และทำให้รู้ว่าเขาคือนักมวยที่เป็นทั้งนักสู้ มีวินัย และเป็นขวัญใจของมวลชนในต่างแดนอีกด้วย

 

 

“จากที่ดูเทปย้อนหลังการชก จะเห็นว่าเขาเป็นมวยสากลอาชีพแท้ๆ ที่ไม่เคยชกมวยไทยมาเลย เป็นมวยสไตล์โบราณที่เดินต่อยทื่อๆ ใส่กัน แต่ว่าการออกหมัดทั้งหมัด โอเวอร์เฮด หมัดครอส หมัดอัพเปอร์คัต ถือเป็นนักมวยอาชีพที่ออกหมัดตามตำราอย่างสมบูรณ์แบบ สมัยก่อนมวยสากลอาชีพจะไม่ค่อยมีหมัดแย็บ มาถึงก็ใส่กันเลย”

 

“ชาติชาย เชี่ยวน้อย เป็นนักมวยไทยที่สร้างชื่อเสียงในต่างแดน พอได้เป็นแชมป์โลก ก็ยังได้ไปชกในต่างแดน ไปถึงเม็กซิโก ไปป้องกันตำแหน่งกับ เอเฟรน ตอร์เรส (Efren Torres) นักมวยเม็กซิโก ขวัญใจเจ้าถิ่น เขาชกกันผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ และชาติชายเคยให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากชกปัสสาวะออกมาเป็นเลือด ถ้าไปดูไฟลต์ย้อนหลัง จะเห็นว่าทั้งคู่แลกหมัดกันอย่างดุเดือดมาก แล้วก็เป็นที่จดจำและเป็นที่รู้จักกันดีของแฟนมวยเม็กซิกันในยุคนั้น”

 

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตัวผมเองได้ประสบตอนที่ติดตามทีมนักมวยไทยไปป้องกันแชมป์โลกที่แอริโซนา อเมริกา ชายแดนเม็กซิโก ตอนนั้นก็มีนักข่าวของเม็กซิโกเข้ามาทำข่าวมวยขวัญใจของเขาหลายคน พอเขารู้ว่าเราเป็นนักข่าวไทย พวกนักข่าวเขาก็จะลองภูมิกัน นักข่าวเม็กซิโกก็ถามว่า คุณรู้จักเชี่ยวน้อยไหม เผอิญว่าผมอยู่ด้วย เขาเลยบอกว่า ชาติชาย เชี่ยวน้อย เป็นนักมวยที่คนเม็กซิกันรู้จักกันดีที่สุด เพราะว่าเคยมาชกกับ เอเฟรน ตอร์เรส ด้วยสปิริตการชกบนเวที แลกหมัดกันแบบเจียนอยู่เจียนไป และชาติชายก็เป็นนักชกที่เป็นสุภาพบุรุษด้วย ถ้ามีจังหวะลูกฟาวล์เขาก็จะขออภัยคู่ชก แล้วเอามือมาไขว้หลัง คำนับขอโทษ นี่เป็นภาพที่คนเม็กซิกันเขาจำได้ติดตา”

 

“คือมวยนี่บ้านใครบ้านมัน ความเป็นชาตินิยมดุเดือดมาก แต่ไม่น่าเชื่อว่าชัยชนะของชาติชาย ทั้งๆ ที่เราไปชนะในบ้านเขา แต่กลับได้รับเสียงปรบมือจากแฟนมวยเจ้าถิ่นในสนาม เป็นนักมวยที่ชนะใจแฟนมวยเจ้าถิ่นได้อย่างแท้จริง”

 

ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาตร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

 

 

“ตอนที่ชาติชายชิงแชมป์โลกครั้งแรก เมื่อปี 2509 กับ วอลเตอร์ แม็กโกแวน นักมวยชาวอังกฤษ ที่อินดอร์สเตเดี้ยมหัวหมาก ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านก็เสด็จทอดพระเนตรด้วย หลังจากได้ชัยชนะครั้งนั้น จากคำบอกเล่าของอาชาติชายตอนท่านยังมีชีวิตอยู่ อาชาติชายเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ได้แชมป์โลก ในหลวงรัชกาลที่ 9  ท่านก็ตรัสชื่นชมด้วย แล้วเปิดโอกาสให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ด้วย ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงเล่นดนตรี และชาติชายก็เล่นดนตรีด้วย”

 

 

“คือท่านเปิดโอกาสให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ สองหรือสามครั้ง อย่างที่ไม่เคยมีนักมวยไทยคนใดได้รับเกียรติแบบนี้มาก่อน จนถึงปัจจุบันก็ไม่มีนะครับ”

 

“มีอยู่วันหนึ่งอาชาติชายเล่าให้ฟังว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านโทรศัพท์มาถามอาชาติชายว่า นริศ วันนี้ว่างไหม คือต้องเรียนให้เข้าใจว่าเป็นโทรศัพท์บ้าน ไม่ใช่มือถือที่จะมีเบอร์ขึ้นบอกว่าใครเป็นคนโทรมา เป็นเพียงเสียงเข้ามาในสาย

 

อาชาติชายก็ตอบแบบทื่อๆ ว่าไม่ว่างครับ วันนี้ติดงานโชว์ตัว เสียงนั้นก็เลยบอกว่าไม่เป็นไร และวางสายไป อาชาติชายมานึกทบทวนขึ้นได้ว่า นี่เป็นน้ำเสียงของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และก็โมโหกับตัวเองมากว่าแล้วพูดไปได้ยังไง ที่ไปปฏิเสธว่าติดงาน หลังจากนั้นก็เลยไม่มีโอกาสได้เข้าเฝ้าอีกเลย อันนี้อาชาติชายเล่าให้ฟังด้วยปากของตัวเองสมัยที่พบกันเมื่อก่อน ตอนที่เปิดตัวหนังสือชาติชายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

 

ดังนั้นชาติชายจึงถือเป็นแชมป์โลกชาวไทย ที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาตรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างที่ไม่เคยมีใครได้รับเกียรติสูงสุดแบบนี้มาก่อน

 

ต้นแบบสำหรับนักมวยสากลไทย

 

 

สิ่งสำคัญที่เราสามารถเรียนรู้จากตำนานนักมวยไทย ที่มีชื่อว่า ชาติชาย เชี่ยวน้อย

คือความเป็นระเบียบวินัย ความทรหดอดทน ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับการยืนยันจากคำบอกเล่าจากคนในครอบครัว

 

เขาเป็นต้นแบบในหลายด้าน นอกจากการชกบนเวที ประเด็นแรกคือ ความมีระเบียบวินัย ความทรหดอดทน ทั้งหมดนี้ได้รับการยืนยันจาก นางสิรินทร เชี่ยวน้อย ภรรยาของคุณชาติชายที่ร่วมชีวิตด้วยกันมา ยืนยันว่า อาชาติชายเป็นนักมวยที่มีระเบียบวินัยมาก เพราะว่าตลอดการชกเป็นสิบปี ตั้งแต่เริ่มชกมวย ก็ยังชกอยู่ในพิกัด ฟลายเวต 112 ปอนด์ ซึ่งวงการมวยรู้กันดีว่าเมื่ออายุมากขึ้นการทำน้ำหนักตัวเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่อาชาติชายสามารถรักษาน้ำหนักเดิมเอาไว้ได้”

 

“นางสิรินทร เล่าให้ฟังว่าบางครั้งไม่กินข้าวเป็นเวลาหนึ่งเดือน เช่นเดียวกับ ครูสุดใจ สัพพะเลข เทรนเนอร์คู่บารมี ก็ยังยืนยันว่าการทำน้ำหนักตัวแต่ละครั้ง ชาติชายเป็นคนอดทนมาก เช่นครั้งหนึ่งนำสเต๊กมาย่าง ให้เลือดจากสเต๊กหยดลงมาและกินเลือดจากสเต๊กเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ควบคุมน้ำหนักตัวได้”

 

“อาชาติชายเป็นแบบอย่างของการมีระเบียบวินัย เป็นแบบอย่างของการเคารพครูบาอาจารย์ เป็นแบบอย่างของนักสู้ เขาก็ได้บรรจุเข้าสู่ Hall of Fame มาแล้ว เป็นตัวอย่างไม่เพียงแต่นักมวยไทย แต่เป็นที่กล่าวขานในวงการมวยโลก”

 

นอกจากระเบียบวินัยในสังเวียนแล้ว สร้อย มั่งมี ยังชื่นชมการบริหารชีวิตนอกสังเวียน ชาติชาย เชี่ยวน้อย ที่สามารถนำรายได้ที่ได้จากการชกมวยทั้งหมดมาสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว

 

“ต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ที่มีหลักฐานความเป็นอยู่ จริงๆ แล้วก็มาจากการชกมวยทั้งนั้นเลย ครอบครัวของเขาก็เป็นมืออาชีพจริงๆ นางสิรินทรเคยเล่าว่า ทุกคนในครอบครัวจะรู้เรื่องระเบียบวินัยของการชกมวยของอาชาติชาย คือถ้าอยู่ในช่วงเก็บตัวจะไม่กินข้าวเลยเป็นเดือน ถึงเวลากินข้าว คนในครอบครัวจะแอบลงไปทานข้าวกันเงียบๆ ในครัว โดยอาชาติชายจะเก็บตัวอยู่ในห้อง โดยทุกคนจะไม่ให้ได้ยินเสียงกินข้าว ไม่ให้ได้ยินเสียงแม้กระทั่งช้อนกระทบกัน เพราะรู้ว่าการเก็บตัวลดน้ำหนักนั้นเป็นสิ่งสำคัญ นั่นหมายความว่าทั้งครอบครัวเขา ช่วยกันแบบเป็นมืออาชีพในการควบคุมดูแลทั้งในและนอกสังเวียน”

 

“เงินจากการชกมวยอาชาติชายนำไปซื้อที่ดินที่ปทุมธานี และยังมีทุนไปซื้อที่ดินที่เชียงใหม่ บั้นปลายชีวิตนั้น ทั้งคู่ไปใช้ชีวิตที่เชียงใหม่ จนกระทั่งป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน ซึ่งเป็นผลจากการชกมวย และถูกนำตัวกลับมากรุงเทพฯ มาอยู่กับลูกสาวและลูกเขยที่ลำลูกกา จนกระทั่งท่านสิ้นลม”

 

“เขาไม่เคยทรยศต่อวิชาชีพ ไม่คิดจะล้มมวย นี่เป็นแบบอย่างของนักมวยไทยรุ่นหลัง คำพูดที่หลายคนชอบเปรียบเปรยให้กับนักมวยว่า เหมือนกับสุนัขล่าเนื้อ พอหมดอายุการชกมวยแล้ว มักจะไม่มีทรัพย์สินส่วนตัวเหลือเลย สำหรับอาชาติชายเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การเก็บหอมรอมริบ โดยเฉพาะจากการชกมวยทั้งสิ้น ก็สามารถที่จะปักหลักสร้างครอบครัวให้มีหลักมีฐานได้

 

“นี่คือตัวอย่างของนักมวยที่แท้จริงเลยครับ สำหรับผู้ชายที่ชื่อ ชาติชาย เชี่ยวน้อย”

 

นอกจากการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และเป็นตัวอย่างนักมวยสากลที่ประสบความสำเร็จทั้งในและนอกสังเวียนแล้ว หลังสิ้นลมหายใจ นายสุนทร ฉายโอภาส บุตรเขยของอดีตแชมป์โลกคนที่สองของไทย ยังได้เผยว่าทางครอบครัวจะส่งมอบร่างของ ชาติชาย เชี่ยวน้อย ให้ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อทำการตรวจร่างกายต่อไป เพราะก่อนหน้านี้ ชาติชาย ได้เคยอุทิศร่างไว้

 

“คุณพ่อเคยพูดไว้เมื่อสมัยท่านยังแข็งแรงมีชีวิตอยู่ว่า เมื่อท่านเสียชีวิตไปแล้ว อยากจะบริจาคร่างเป็นวิทยาทานให้กับทางโรงพยาบาลจุฬาฯ”

 

ก่อนจะนำไปทำพิธีทางศาสนาที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ศาลา 6 กำหนดสวดพระอภิธรรมคืนแรกวันอังคารที่ 23 มกราคม เวลา 18.00 น. ถึงวันเสาร์ที่ 27 มกราคม รวม 5 คืน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising