ปีนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มีอายุอานามย่างเข้าวัย 76 ปีแล้ว แปลความได้ว่า ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการสั่งสมประสบการณ์ชีวิตมาแล้วถึง 6 รอบ
ในฐานะนักวิชาการที่เริ่มต้นสอนหนังสือ สนใจด้านประวัติศาสตร์ ก้าวสู่งานบริหารมหาวิทยาลัยในฐานะ ‘อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ได้รับการยอมรับในระดับสากลถึงความเชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ มีผลงานทางวิชาการหลายร้อยเล่ม มีลูกศิษย์ลูกหาตั้งแต่รุ่นพ่อมาเรียนจนถึงรุ่นลูกที่ตามทันกันมา
แต่ในวัย 76 ปีของ ดร.ชาญวิทย์ ที่ผ่านมาแล้วหลายสมรภูมิการเมืองไทย ไม่มีครั้งไหนเหมือนครั้งนี้ เพราะนี่คือครั้งแรกที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลังใช้เฟซบุ๊กแชร์เนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งคำถามต่อการใช้กระเป๋าของ นางนราพร จันทร์โอชา ภริยา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
ชาญวิทย์ เข้าพบเจ้าหน้าที่ยืนยันความบริสุทธิ์
12.30 น. คือเวลาที่ ดร.ชาญวิทย์ นัดหมายต่อสื่อมวลชน เพื่อให้ข้อมูลก่อนการเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตามที่ได้มีการติดต่อประสานงานจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ให้เข้าพบเพื่อรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับมูลเหตุจากเฟซบุ๊กดังกล่าว
ดร.ชาญวิทย์ มาในชุดสูทสีเทา สีหน้ายิ้มแย้ม ห้อมล้อมด้วยบรรดาลูกศิษย์ที่ทยอยเดินทางมาให้กำลังใจ อาทิ ดร.พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ลูกศิษย์ จากวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก และประชาชนที่ทราบข่าว โดยมี ‘อังคณา นีละไพจิตร’ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ด้วย
‘กฤษฎางค์ นุตจรัส’ ทนายความของ ดร.ชาญวิทย์ แจ้งต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ตำรวจเรียกมาพบ ซึ่งยังไม่ทราบว่าเขาแจ้งข้อกล่าวหาอะไร ข้อกฎหมายใด และยังไม่มีการออกหมายเรียก มีการติดต่อประสานงานจาก ผกก. มา วันนี้จึงเข้ามาพบ เพื่อต้องการยืนยันการใช้สิทธิตามกฎหมาย ยังไม่มีการบันทึกข้อกล่าวหา ยังไม่ทราบว่าใครแจ้ง แม้จะทราบคร่าวๆ ว่ามีนายตำรวจที่เดือดร้อนแล้วไปแจ้งความ ส่วนการต่อสู้คดีต้องรอให้เขาระบุข้อกล่าวหาก่อน มีการแจ้งความกล่าวโทษตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ แต่จะต้องตรวจสอบอย่างเป็นทางการ แต่ขอยืนยันว่าไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมาย และผิดศีลธรรมอย่างแน่นอน
ขณะที่ ดร.ชาญวิทย์ เอง ก็ยังไม่ทราบถึงข้อกล่าวหา และต้นเรื่องของการถูกกล่าวหา ยืนยันว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นในฐานะประชาชน เป็นการแสดงความคิดเห็นต่อบุคคลสาธารณะ และบุคคลระดับนั้นก็ต้องรับฟังข้อคิดเห็นและข้อวิจารณ์ โดยวันนี้ ต้องการยืนยันความบริสุทธิ์ และมีความบริสุทธิ์ใจที่จะเดินทางมา พร้อมระบุว่า ตนเองไม่ได้มีความกลัวต่อเรื่องที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
เมื่อถามว่า เป็นเรื่องที่พลาดหรือไม่ ดร.ชาญวิทย์ ตอบว่า อย่างที่บอกคือ นี่เป็นการใช้เทคโนโลยีใหม่ แบบเคาะแล้วมันก็ไป การจะไปเช็กตรวจสอบข้อมูลไม่ใช่เรื่องที่ทำง่ายๆ ในกรณีของตนเองเพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่า บุคคลที่อยู่ในตำแหน่งสูง ส่วนใหญ่มักใช้ของที่มีราคาสูง คนระดับสูงที่ใช้ของถูกหายากมากๆ แต่จะเป็นราคาเท่าไร ยี่ห้อใด ไม่ใช่ประเด็นตรงนั้น
คดีแรกในชีวิต ที่ถูกรัฐกล่าวหาและเรียก
หากใครติดตามจะเห็นว่า ดร.ชาญวิทย์ แสดงความคิดเห็นทางการเมืองมาโดยตลอด และไม่ใช่แค่ยุคสมัยนี้เท่านั้น หากแต่ได้ทำหน้าที่ในการแสดงความเห็นในฐานะนักวิชาการ และประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล ยุคที่การสื่อสารไร้พรมแดนมีเครื่องมืออย่างเฟซบุ๊ก ก็ยังคงไม่หยุดแสดงความคิดเห็น
ดร.ชาญวิทย์ เปิดใจต่อกรณีที่ตนเองต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ว่า “นี่ถือเป็นคดีแรกในชีวิตของผม” ที่ถูกทางราชการแจ้งข้อกล่าวหา เป็นอาจารย์ เป็นผู้บริหารมาก็ไม่เคยมี ที่ผ่านมาแม้จะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หรือ 6 ตุลาฯ ก็ไม่เคยมีแบบนี้มาก่อน เป็นเพียงการใส่ร้ายป้ายสี หรือโจมตีกล่าวหาเท่านั้น
ในชีวิตการทำงานนั้นตนเองได้ผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นที่ร้ายแรงมาหมด ยังไม่มีการเรียกตัวแบบนี้ ‘เป็นบั้นปลายของชีวิตการทำงาน’ ที่ขึ้นมาเป็นหลักฐานอีกอันหนึ่งในประวัติการทำงาน ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสังคม ประวัติศาสตร์ การเมือง มาตลอด 50 ปีของตนเอง
เฟซบุ๊ก ดาบสองคม หนึ่งในพื้นที่กระจายความรู้สู่สังคม
เมื่อถามว่า เรื่องนี้มองว่าเป็นการเมืองหรือไม่ ดร.ชาญวิทย์ อธิบายว่า ในความตั้งใจของตนเองนั้น เริ่มใช้เฟซบุ๊กเพราะลูกศิษย์สอน คนรุ่นเดียวกันบางทีก็ก้าวไม่ทันเทคโนโลยี เมื่อตนเองต้องอยู่กับนักศึกษาก็เล่น เมื่อเล่นก็ยอมรับว่าติด รู้สึกว่าการสอนหนังสือมา 40-50 ปี สอนให้ตายความรู้ของเด็กที่ได้ก็จำกัดอยู่แค่ในรั้วธรรมศาสตร์ แต่เมื่อเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามา ก็ทำให้การใส่ข้อมูลทางวิชาการหรือไอเดียเป็นเรื่องวงกว้าง กระจายออกไปยังคนหมู่มากได้ง่าย
“ไม่ใช่เฉพาะเกี่ยวกับคนไทย มันไปทั่วโลก เวลาเล่นผมเล่นแบบสองภาษา ก็ต้องบอกว่าในการใช้เฟซบุ๊ก ผมว่าผลร้ายของเฟซบุ๊กก็มี ผลดีมันก็มี เทคโนโลยีก็เป็นดาบสองคม ผลดีของมันคือ มันเผยแพร่วิชาความรู้ได้มากมายมหาศาล คนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันโชคดีที่มีโซเชียลมีเดีย สมัยผมกว่าจะหาความรู้ได้เป็นเรื่องยาก แต่เทคโนโลยีสมัยนี้ทำให้เข้าถึงง่าย”
เป็นการฟ้องปิดปาก ยืนยันใช้ชีวิตปกติต่อไป
ส่วนประเด็นการถูกตั้งข้อกล่าวหา หรือแจ้งความดำเนินคดีนั้น ดร.ชาญวิทย์ มองว่า การที่ตนเองถูกเล็งเป้าและฟ้องร้อง อาจจะเป็นการเมืองก็ได้
“เป็นเรื่องการเมือง เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น ‘กรณีปิดปาก’ แบบที่ฝรั่งเรียกว่า slap case เป็นคดีปิดปาก มันเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อหาขึ้นมาเพื่อที่จะทำให้คนบางคนไม่กล้าพูด ต้องปิดปาก เป็นเรื่องการเมืองมากกว่า ผมไม่ต้องการให้มีในสังคมไทย ในประเทศชาติของเรา สิ่งที่ผมทำมาโดยตลอดในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการร่วมลงชื่อต่างๆ ที่เป็นไปเพื่อแนวทางประชาธิปไตย” ดร.ชาญวิทย์ เปิดเผย
“ผมยืนยันว่าผมก็จะใช้ชีวิตปกติต่อไปแม้จะโดนข้อหา เพราะว่ามันไม่สามารถเปลี่ยนไปจากแนวทางนี้ได้ ผมใช้ชีวิตมาจนเกือบจะ 80 ปีแล้ว”
“ผมจะขอให้การปฏิเสธและยืนยันว่าการแสดงความคิดเห็นของผมในฐานะประชาชนคนไทยนั้นเป็นสิทธิ และมิได้เป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมาย หรือผิดศีลธรรมตามที่ผมถูกกล่าวหา แม้ผู้ปกครองในระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะไม่อยากฟังเสียงจิ้งจกทักก็ตาม”
ปฏิเสธทุกข้อหา และขอคัดค้านพนักงานสอบสวน
ดร.ชาญวิทย์ ได้เสร็จสิ้นขั้นตอนในการเดินทางมาพบพนักงานสอบสวนเมื่อเวลา 15.40 น. ทนายความเปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา และพิมพ์ลายนิ้วมือตามขั้นตอน สำหรับข้อหาที่พนักงานสอบสวนได้แจ้งต่อ ดร.ชาญวิทย์ คือ ความผิดตามมาตรา 14 (2) และ (5) ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560
สำหรับ (2) คือ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน โดยมีโทษคือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พนักงานสอบสวนยืนยันว่า เป็นความผิดเพียงกรรมเดียว
“ขณะที่ในวันนี้ นอกจาก ดร.ชาญวิทย์จะให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาแล้ว ในระยะเวลา 20 วันจะได้ยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร และจะยื่นหนังสือต่อ ผบ.ตร. เพื่อทำการคัดค้านพนักงานสอบสวน เนื่องจากคดีผู้ที่ร้องทุกข์กล่าวโทษคือ พ.ต.อ. โอฬาร สุขเกษม ผกก.3 บก.ปอท. ขณะที่พนักงานสอบสวนคือผู้ใต้บังคับบัญชา ซึ่ง ผกก. มีสิทธิให้คุณให้โทษจึงไม่ยุติธรรมและไม่เป็นกลาง และยืนยันอีกว่าสิ่งที่ ดร.ชาญวิทย์ แสดงความคิดเห็นนั้นไม่ถือเป็นความผิด และตลอดที่ผ่านมาอาจารย์ก็ไม่เคยทำผิดกฎมายและศีลธรรม ข้อกล่าวหาที่บอกว่า การแชร์กระเป๋าภริยานายกฯ จะทำให้ประชาชนตื่นตระหนก เป็นภัยต่อความมั่นคง ก็เป็นเรื่องที่ประชาชนสามารถไตร่ตรองได้อยู่แล้ว” ทนายความกล่าว
ปอท. ยืนยันไม่ได้กลั่นแกล้งทางการเมือง พร้อมให้คัดค้านพนักงานสอบสวน
พ.ต.อ. โอฬาร สุขเกษม ผกก.3 บก.ปอท. เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า กรณีที่ ดร.ชาญวิทย์ เข้ามาพบพนักงานสอบสวนในวันนี้ เป็นการประสานงานเพื่อต้องการให้เกียรติ ไม่ได้ออกหมายเรียกแต่อย่างใด เพราะ ดร.ชาญวิทย์ ยืนยันว่าจะมาพบเอง และยืนยันที่จะต่อสู้คดี
“สำหรับการคัดค้านพนักงานสอบสวนที่คิดว่าอาจไม่เป็นธรรม ก็ให้เป็นขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งสามารถที่จะทำได้ ถ้าเห็นว่ามีประเด็นไม่พอใจ คิดว่าพนักงานสอบสวนไม่โอเค ก็สามารร้องไปตามขั้นตอนไ้ด้”
ส่วนกรณีที่บอกว่า ปอท. กล่าวโทษเอง สอบสวนเอง พ.ต.อ. โอฬาร ยืนยันว่า “สามารถทำได้ตามขั้นตอนของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทำได้ตามปกติ ไม่ได้จะกลั่นแกล้งอะไร”
“ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การกลั่นแกล้งทางการเมือง เป็นการทำหน้าที่ตามกฎหมาย”
“กรณี ดร.ชาญวิทย์ เหมือนท่านเองก็แถลงรับข้อเท็จจริงว่า ได้แชร์จริง ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับผู้มีชื่อเสียง เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่เป็นประเด็นขึ้นมา พอเป็นประเด็น ปอท. มีอำนาจหน้าที่ทำตามขั้นตอน ทำได้อยู่แล้ว”
พ.ต.อ. โอฬาร ชี้แจงว่า ส่วนข้อหานั้นจะผิดหรือไม่ ไม่ใช่ดุลยพินิจของตำรวจ เป็นดุลพินิจของศาล ตำรวจทำหน้าที่เพียงรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และตาม ป.วิอาญา ส่วนการต่อสู้คดี ว่ากันตามขั้นตอน
มิตร ศิษย์ ถึง ชาญวิทย์ เมื่อเผชิญชะตากรรมไม่คาดคิด
“ผมขอขอบคุณญาติ มิตร ศิษย์ และสาธารณชนทั่วไปที่ตามมาให้กำลังใจในยามยากเช่นนี้ ผมตระหนักดีว่า ‘กำลังใจ’ มีความหมาย และมีคุณค่าต่อชีวิตอย่างไร” ดร.ชาญวิทย์ กล่าวกับผู้ที่มาให้กำลังใจตนเองในวันนี้
ดร.พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะเพื่อนที่สนิทสนมกันมาตั้งแต่เรียนที่สวนกุหลาบ บอกกับ THE STANDARD ว่า วันนี้ที่ต้องมาให้กำลังใจเพราะเห็นว่านี่คือการเมือง เป็นการใช้กฎหมายที่ผิดเจตนารมณ์โดยสิ้นเชิง ซึ่งตนเองรู้สึกเศร้าใจ อยากให้ตระหนักถึงเสรีภาพของประชาชน ขณะที่ยอมรับเช่นกันว่า โลกเทคโนโลยีก็ต้องระมัดระวังที่จะใช้งาน
ขณะที่ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ในฐานะลูกศิษย์ก้นกุฏิ แสดงความคิดเห็นว่า หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์ที่ผู้ปกครองใช้ กฎหมายหรืออำนาจเป็นเครื่องมือในการยับยั้ง หรือปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนก็จะเห็นว่ามีมาโดยตลอด การสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ก็ใช้มาแล้วกว่า 70 ปี รูปแบบของการใช้หรือทำอะไรแบบนี้มีมานาน พยายามหาข้อหา กล่าวหา หรือใช้เครื่องมือทางกฎหมายในการขีดเส้นให้มีชนักติดหลังไว้ และมีหลายครั้งในประวัติศาสตร์ที่ใช้วิธีการที่รุนแรง ขณะที่ ดร.ชาญวิทย์ กลายเป็นเป้าหมาย อาจเพราะว่าที่ผ่านมาตลอดชีวิตได้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด
ด้าน อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย ลูกศิษย์อีกคนบอกว่า เรื่องที่อาจารย์ถูกดำเนินคดีนั้น ตนเองเชื่อว่าไม่ใช่ความผิด อาจารย์ได้ทำหน้าที่ในฐานะนักวิชาการ ชี้แนะ ตั้งคำถาม ให้ความรู้สังคมมาโดยตลอด และเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นสาธารณะ ในทางพระพุทธศาสนามีหลักคำสอนที่เรียกว่า ‘อปริหานิยธรรม 7’ หนึ่งใน 7 ข้อนั้นว่าด้วยการให้เคารพนับถือคำกล่าวของผู้อาวุโส หากไม่ตระหนักข้อนี้แล้วบ้านเมืองจะเดินไปสู่ความเสื่อมได้
มูลเหตุเริ่มต้นคดี 2 แชร์ที่เกี่ยวกับกระเป๋าภริยานายกฯ
คดีนี้ พ.ต.อ. โอฬาร สุขเกษม ผกก.3 บก.ปอท. เปิดเผยเมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมาว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้รับคำสั่งเพื่อให้ตรวจสอบและดำเนินคดีกับบุคคลที่โพสต์เฟซบุ๊กสาธารณะวิจารณ์ กรณีกระเป๋าถือของนางนราพร จันทร์โอชา ภริยาของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะเดินทางไปต่างประเทศ
ซึ่งจากการตรวจสอบเบื้องต้น บก.ปอท. พบบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ Charnvit Kasetsiri ได้มีการแชร์โพสต์ของ Ploy Siripong เมื่อ 11 ม.ค. 2561 เวลา 22.08 น. จากเพจชื่อ ‘ตีแตกการเมือง’ และอีก 1 โพสต์ที่แชร์บทความจากแพรว ฉบับออนไลน์ เมื่อ 15 ม.ค. 2561 เวลา 23.14 น.
โดยกรณีดังกล่าว มีลักษณะเข้าข่ายบิดเบือนข้อมูลให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดว่าเป็นกระเป๋าหรูราคา 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560
สำหรับเจ้าของเฟซบุ๊ก Charnvit Kasetsiri คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์