เมื่อกลางปีที่แล้ว THE STANDARD ชวน ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทยและประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนทนาเกี่ยวกับความหมายของคำว่า ‘ประวัติศาสตร์’ และความพยายามของคนบางกลุ่มที่มีความต้องการจะควบคุมอดีตเพื่อให้ปัจจุบันเป็นไปตามเส้นที่พวกเขาได้ขีดเอาไว้
ช่วงส่งท้ายปี 2017 เราชวน ดร.ชาญวิทย์ มาสนทนาอีกครั้งเพื่อทบทวนร่องรอยประวัติศาสตร์ของปีที่ผ่านมา และพิจารณาข้อเท็จจริงของสังคมเพื่อตอบคำถาม พร้อมคาดการณ์ถึง ‘อนาคต’ ในห้วงรอยต่อของ ‘เวลา’ ที่มักเรียกกันว่า ‘ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่’
แน่นอนว่าย่อมหมายรวมถึงเรื่องราวของบ้านเมืองในวันข้างหน้าด้วย
ระบอบรัฐประหารเป็นสิ่งชั่วคราว แต่เขาต้องการที่จะทำให้มันยืดยาวที่สุด
ปีที่แล้วมีเหตุการณ์อะไรที่อาจารย์มองว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญบ้าง
ปี 2017 ผ่านมาแล้ว ถ้าเรามองว่าปีที่ผ่านมาทั้งปีมีอะไรที่เป็นปรากฏการณ์สำคัญที่น่าจะอยู่ในความทรงจำของคนทั่วๆ ไป
ผมคิดว่าหนึ่งคืองานพระราชพี่ถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9 กับการวิ่งจากใต้สุดถึงเหนือสุดของตูน บอดี้สแลม
ผมคิดว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่ใหญ่มากๆ และมีผลกระทบต่อความรู้สึกคนทั่วๆ ไปอย่างชัดเจน
ช่วยขยายความถึงความสำคัญของสองเหตุการณ์หน่อย
วันเสด็จสวรรคตคือวันที่ 13 ตุลาคม 2559 จากนั้นมีการประกาศการไว้ทุกข์ยาวนานเป็นเวลาถึง 1 ปีกว่าๆ และมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 หากเรามองย้อนกลับไปในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่สำคัญคือรัชกาลที่ 5 ใช้เวลาไว้ทุกข์ 100 วัน หลังจากนั้นก็มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่กรณีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ใช้เวลาทั้งหมดเกือบ 400 วัน เพราะฉะนั้นก็เรียกว่ายาวนานมากในประวัติศาสตร์
อีกเหตุการณ์หนึ่งคือการวิ่งจากใต้จรดเหนือของตูน บอดี้สแลม ผมคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับการเผยแพร่ทางสื่อวิทยุและสื่อโทรทัศน์อย่างมากมายมหาศาล
อยู่ยาวไม่ได้หรอกครับ และไม่ใช้รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้หรอกครับ โลกสมัยใหม่มันต้องมีอันนี้ ผมบอกว่ามันเหมือนกับคำฝรั่งที่ว่า Democracy is the way of the modern world. คุณต้องอ้างให้ได้ว่าคุณเป็นประชาธิปไตย แต่เมื่ออ้างแล้วคนเชื่อไหมก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
ถ้าให้อาจารย์มองปราฏการณ์ของตลอดทั้งปี เห็นภาพอะไร
ผมคิดว่าในแง่ของผม ถ้ามองทั้งโลกที่ปรากฏอยู่กับตาเรานะ กับโลกที่ไม่ปรากฏกับตาเรา แต่เราสัมผัสมันได้ ผมคิดว่าปี 2560 หรือ 2017 เป็นยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญมากๆ ของสังคมไทย มันเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านในตอนนี้ และมันอาจจะใหญ่โตมโหฬารในระดับที่สังคมไทยเคยประสบมาแล้ว แต่อาจจะลืมไปแล้วก็ได้
ผมว่าสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา ปี 2310 การสิ้นสุดของราชวงศ์บ้านพลูหลวง การสิ้นสุดของชนชั้นปกครองแบบเก่า การขึ้นมาของคนใหม่ๆ อย่างกรณีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ราชวงศ์กรุงธนบุรี หรือการขึ้นมาของยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ราชวงศ์จักรี เป็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ยิ่งใหญ่ ผู้นำของสังคมไทยนับแต่การเสียกรุงศรีอยุธยามาสู่การสถาปนากรุงธนบุรี กระทั่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นการขึ้นมาของ ‘ผู้นำใหม่’
ผมคิดว่าที่เรากำลังประสบอยู่ในตอนนี้สืบเนื่องมาจากวิกฤตทางการเมืองอันยาวนานในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ผมว่าเราอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญมากๆ ผมมองอย่างนั้นนะ เรามองเผินๆ ก็คือการเปลี่ยนรัชสมัยจากรัชกาลที่ 9 มารัชกาลที่ 10
แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเราอาจจะมองเห็นไม่ชัดเจน เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นจาก 2560 ไปสู่ 2561 น่าจับตาว่าจะเป็นอย่างไร ผมว่าง่ายๆ เอาที่เรื่อง ‘เลือกตั้ง’ ว่าจะมีหรือไม่มี ผมว่าเลื่อนเท่าไรมันก็ต้องมี ปัญหาของเราก็คือในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เรามีวิกฤตที่ผมไม่อยากเรียกว่า ‘วิกฤตประชาธิปไตย’ เพราะคำว่าประชาธิปไตยใครๆ ก็พูดได้ จีนก็ว่าตนเป็นประชาธิปไตย เกาหลีเหนือก็บอกว่าเป็นประชาธิปไตย รัสเซียก็ประชาธิปไตย ทั้งอเมริกา ทั้งญี่ปุ่นก็บอกว่าเป็นประชาธิปไตยทั้งนั้น แต่ผมคิดว่าหัวใจหรือความสำคัญอยู่ที่ว่าคุณจะทำอย่างไรกับเรื่องของ ‘รัฐธรรมนูญ’ กับ ‘การเลือกตั้ง’
คุณพูดว่าเป็นประชาธิปไตยได้ทั้งนั้นแหละ แต่คุณสามารถจะดำเนินต่อไปโดยไม่มี รัฐธรรมนูญ หรือมีรัฐธรรมนูญแล้วแต่ไม่ยอมใช้ หรือไม่มีการเลือกตั้ง ผมว่าทำไม่ได้นะ ในแง่ของผมนะ เพราะอย่างนั้นปี 2561 จะเอาอย่างไร เรื่องรัฐธรรมนูญซึ่งมีแล้ว ประกาศแล้วเมื่อ 6 เมษายนปีที่แล้ว แต่ยังไม่ใช้ มีแล้วแต่ทำไมยังใช้มาตรา 44 อยู่ ซึ่งมันก็เป็นเรื่องของระบอบชั่วคราว เป็นการปกครองโดยระบอบชั่วคราว ไม่สามารถสร้างเรื่องอะไรๆ ที่จะมองไปในอนาคตอันไกลได้ เป็นเรื่องของระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้นเอง
ส่วนมากเราก็ผ่านกันมาแล้ว คนที่พยายามจะยืดอย่างมากมายมหาศาลเลย คือจากสมัยของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาถนอม กิตติขจร จากปี 2500 มา 2501 แล้วก็มีรัฐธรรมนูญ 2511 มีเลือกตั้ง 2512 แล้วยึดอำนาจรัฐประหารตัวเอง 2514 ก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 อันนั้น นี่อาจเป็นกรณียืดได้ยาวสุด เพราะว่ามีองค์ประกอบที่อำนวย เป็นตัวช่วยมากๆ
ประวัติศาสตร์ที่เรารู้กับประวัติศาสตร์ที่เป็นวิชาการเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง เผลอๆ มันเป็นคนละเรื่องนะ เรารู้จักประวัติศาสตร์ฉบับมโนกับประวัติศาสตร์ฉบับเพิ่งสร้างเยอะ
‘ทหาร’ มีความพยายามเปลี่ยนแปลงอำนาจตัวเองไปอยู่ในรูปแบบอื่นไหม เช่น ผ่านตัวบทกฎหมาย ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือผ่านโครงการต่างๆ
คือระบอบทหารที่มาด้วยการรัฐประหารเนี่ย มันเป็นระบอบซึ่งเรียกไม่ได้ว่าเป็นระบอบการปกครองที่ถาวร ยกเว้นคนที่เป็นกุญแจสำคัญต้องเป็นคนที่เข้มแข็ง เก่งมากๆ ที่จะอยู่ในอำนาจได้ยาวมาก ยกตัวอย่าง ฟรังโก ของสเปน อยู่ได้ยาว แต่ก็เกิดสงครามการเมือง เขาสามารถปราบปรามฝ่ายตรงข้ามได้ แต่ระบอบฟรังโกก็ไม่สามารถสถาปนาให้เป็นสิ่งที่ถาวรได้
ระบอบรัฐประหารเป็นสิ่งชั่วคราว แต่เขาต้องการที่จะทำให้มันยืดยาวที่สุด เท่าที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์ชาติไทยนับตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมามีความพยายาม แต่มันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมันไม่มีสิ่งที่ภาษารัฐศาสตร์เรียกว่าเป็น Legitimacy คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ความชอบธรรม’ มันไม่มี ที่สฤษดิ์-ถนอมอยู่ยาวมากเพราะว่าบรรยากาศตอนนั้นอำนวย มีตัวช่วยเครื่องทุ่นแรง
กรณีของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ผมมองเป็นกรณีพิเศษ ไม่ใช่ระบอบทหารปกติ สมัยของคุณเปรมเป็นระบอบคล้ายประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง แต่ผมคิดว่าคุณเปรมนั้นสามารถที่จะใช้รัฐธรรมนูญ ใช้พรรคการเมือง รวมถึงใช้การเลือกตั้ง ซึ่งในเวลานั้นไม่สามารถที่จะสถาปนาตนเองได้ ไม่สามารถตกลงกันได้ เป็นประเด็นสำคัญที่ช่วยให้อยู่ในอำนาจ โอกาสตอนนั้นที่ทำให้อยู่ในอำนาจได้ยาว และคุณเปรมก็ไม่ใช่ระบอบทหาร ไม่ใช่แบบฟรังโก คุณเปรมไม่ใช่สฤษดิ์ ไม่ใช่ถนอม ไม่ใช่สุจินดา ไม่ใช่ระบอบทหารทั่วๆ ไป อันนั้นเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘ประชาธิปไตยครึ่งใบ’
ผมกำลังจะกลับไปบอกว่า ถ้าเราดูกรณีของสฤษดิ์และถนอม โอกาสของสฤษดิ์และถนอมอยู่ได้ยาวมาก เพราะว่าปราบปรามความคิดที่มันต่างกันได้หมดเลย กลุ่มที่มีแนวคิดสังคมนิยม เสรีนิยม ไม่ว่าเป็นกลุ่มของปรีดี พนมยงค์ กลุ่มของทางฝ่ายทหารเรือ กลุ่มของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ กลุ่มของบรรดา ส.ส. ที่มาจากภาคอีสานซึ่งเข้มแข็งต่างถูกปราบปรามไปหมด ดังนั้นในแง่หนึ่ง การเมืองภายในมันไม่มีพลังอื่นใดเลยที่จะต่อสู้ได้ ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยซึ่งมาท้าทายอำนาจก็ต้องมุดอยู่ใต้ดิน อยู่ในชนบท เพราะว่าพระราชบัญญัติพรรคคอมมิวนิสต์ทำให้พรรคฯ โดนกระทำให้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่เคยถูกกฎหมายอยู่ระยะหนึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง
สิ่งซึ่งอำนวยให้ระบอบทหารอยู่ได้อย่างดีเนี่ย หนึ่งคือความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ทั้งเงินและอาวุธมหาศาล การลงทุนอย่างมากมายของญี่ปุ่นที่ถูกอเมริกายึดครองแล้วก็เข้ามาในเมืองไทย โดยมีอเมริกาเป็นเสมือนร่มคุ้มครอง เงินและความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นสำคัญมากๆ และผมคิดว่าที่สำคัญมากพอกันคือการที่ระบอบสฤษดิ์-ถนอมอ้างและอิงสถาบันพระมหากษัตริย์ในตอนนั้นได้เป็นอย่างดี
ผมมองเพิ่มเติมจากการศึกษาแนวความคิดว่าด้วย ‘บารมี’ ด้วย กล่าวคือบารมีในพุทธศาสนาของเรา พุทธศาสนาเถรวาทนั้น บารมีคือสิ่งซึ่งแม้จะไปอ้างบารมีของผู้อื่นได้บ้าง แต่แท้จริงแล้วบารมีคือสิ่งซึ่งต้องสร้างด้วยตนเอง บางคนมีอำนาจ แต่ไม่มีบารมีก็อยู่ยาก อันว่าอำนาจนั้นเห็นได้ชัดเจน เช่น คุณมีปืน คุณก็มีอำนาจ คุณตัวใหญ่กว่า คุณก็ทุบคนอื่นได้ แต่บารมีเป็นสิ่งซึ่งมองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่มันสัมผัสได้ด้วยอะไรบางอย่าง ในแง่ของประสาทสัมผัส มันเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของมันสมอง เรื่องความคิด ความเชื่อถือ และศรัทธา
ดังนั้นผมถึงว่าอยู่ยาวไม่ได้หรอกครับ และไม่ใช้รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้หรอกครับ โลกสมัยใหม่มันต้องมีอันนี้ ผมบอกว่ามันเหมือนกับคำฝรั่งที่ว่า Democracy is the way of the modern world. คุณต้องอ้างให้ได้ว่าคุณเป็นประชาธิปไตย แต่เมื่ออ้างแล้ว คนเชื่อไหมก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
สังคมมันอยู่ได้ก็ด้วยคนรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้อยู่กับคนซึ่งหมดสภาพแล้ว
ถ้าประวัติศาสตร์มีบทเรียน ทำไมเขาต้องฝืนประวัติศาสตร์
ผมไม่เชื่อว่าผู้มีการศึกษา ชนชั้นนำ ผู้มีปริญญาตรีหลายๆ ใบของสยามประเทศไทยของผมเนี่ยเข้าใจประวัติศาสตร์นะ ผมเชื่อว่าประวัติศาสตร์ที่เขาเรียนมาและเขาเชื่อเนี่ย มันไม่ใช่ประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำมั้ง เผลอๆ เป็นเรื่องอุดมการณ์ เป็นเรื่อง ‘มโน’ เยอะเลย ประวัติศาสตร์ของเขาเป็นประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้างก็เยอะ
ผมเรียนธรรมศาสตร์ เรียนรัฐศาสตร์รุ่น 12 สิงห์แดงรุ่น 12 ผมมีเพื่อนเรียนรัฐศาสตร์แผนกปกครอง 60 คน ผมมีเพื่อนเรียนแผนกการทูต 60 คน ผมมีเพื่อนจบแล้วเป็นเอกอัครราชทูต 10 กว่าคนใน 60 คน และผมก็มีเพื่อนซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ใหญ่ๆ โตๆ ทั้งนั้น
ถ้าจะถามผมว่าเพื่อนๆ ของผมรุ่นนั้นได้เรียนประวัติศาสตร์อะไร เรียนจากใคร เรามองกลับไปตอนนั้น เราเรียนประวัติศาสตร์อะไรบ้าง ตอนนั้นผมเรียนกับอาจารย์เสน่ห์ จามริก, อาจารย์พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย เราเรียนกับอาจารย์สมศักด์ ชูโต เราเรียนกับหม่อมเจ้าลักษณเลิศ ชยางกูร เราเรียนประวัติศาสตร์อะไรกัน เกือบไม่มีเลย นั่นคือหลักสูตรของรัฐศาสตร์ที่ผมเรียน เมื่อเรียนปริญญาตรี ธรรมศาสตร์ แสดงว่าวิชาประวัติศาสตร์ ไม่มีความสำคัญเลยในการให้การศึกษาอบรมผู้ที่จะไปปกครองบ้านเมือง หรือผู้ที่จะเป็นตัวแทนประเทศชาติในองค์การระหว่างประเทศ
ผมเปลี่ยนสาขามาเรียนประวัติศาสตร์ตอนเรียนปริญญาเอก เพิ่งจะรู้ว่า ‘นครวัด นครธม’ ล่มสลายไปด้วยเจ้าสามพระยาของกรุงศรีอยุธยาไปตีน่ะ ผมไปเรียนเมืองนอก ถึงรู้ว่าขอมเขมรเสียกรุงยโสธรปุระเมื่อผมไปอยู่แคลิฟอร์เนีย ไม่ใช่ว่าเมื่อผมอยู่กรุงเทพฯ หรืออยู่ธรรมศาสตร์
อันนี้ผมเลยคิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ เราได้คุยกันในการตามรอยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจากกรุงธนบุรีขึ้นมา ณ ล้านนา มีเพื่อนผมคนหนึ่งเป็นใหญ่เป็นโต ตามรอยมาด้วยกัน ยังไม่รู้เลยมันมีเมืองฝางของเจ้าพระฝางอยู่จังหวัดอุตรดิตถ์ เพราะคิดว่าอยู่จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอฝางครับ
ผมกำลังบอกว่าประวัติศาสตร์ที่เรารู้กับประวัติศาสตร์ที่เป็นวิชาการเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง เผลอๆ มันเป็นคนละเรื่องนะ เรารู้จักประวัติศาสตร์ฉบับ ‘มโน’ กับประวัติศาสตร์ฉบับเพิ่งสร้างเยอะเลย
เมื่อตอนกลางปี เราคุยกันว่าทำไมมีความพยายามที่จะคุมประวัติศาสตร์ ล่วงเลยมาถึงปีนี้ โอกาสของสังคมไทยจะเป็นอย่างไร
ผมเชื่อว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่ต้องเกิดขึ้นแน่ไม่ช้าก็เร็ว ผมอยากจะเชื่อว่าเร็วมากกว่าช้า ผมคิดว่าอย่างนั้นนะ เพราะว่าองค์ประกอบอะไรหลายอย่างมันชี้ไปในทิศทางซึ่งมันไม่เปลี่ยนไม่ได้น่ะ มันเกิดความขัดแย้งกันในตัวของมันเอง
ผมคิดว่าในสังคมไทยของเรามันมีความขัดแย้งสูงนะ ถ้าใช้ภาษาฝรั่ง มันมี tension สูงมากๆ คนไทยสามารถจะฆ่ากันตายด้วยอะไรที่ดูแล้วมันไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตเลย มันน่ากลัวมากๆ แสดงว่ามันต้องมี tension อะไรบางอย่างในสังคมเราอยู่เยอะมากๆ
เราอาจดูเผินๆ ว่าสยามเมืองยิ้ม คนไทยใจดี คนไทยเป็นคนดี ใจบุญ แต่ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาใหญ่มาก ปรากฏการณ์ที่เราพูดค้างไว้คือปรากฏการณ์การวิ่งของตูน มันเป็นปรากฏการณ์ที่เราโหยหา เราอยากได้คนดีมากๆ เลยใช่ไหมฮะ เมื่อตูนออกมาในลักษณะที่ต้องการช่วยเหลือ ผ่อนปรนความทุกข์ยากของผู้คน อย่างในกรณีช่วยโรงพยาบาล ผู้คนถึงได้ออกมาให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ อันนี้เป็นปรากฏการณ์อย่างที่เราพูดกันตั้งแต่เริ่มต้น มันไม่มีเลยหรือคนดีๆ น่ะที่จะทำอะไรให้กับสังคมนี้ ซึ่งมันเต็มไปด้วยปัญหา 10-20 ปีที่ผ่านมามันยังไม่ลงตัวสักที อยู่แต่ในวังวนอย่างนี้ เราก็อยากหาทางออก
คือตูนเข้ามาในจังหวะที่ผมคิดว่ามันเหมาะมากๆ เลย ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านอันนี้ ตูนเข้ามาในตอนปลายปีพอดีเลย เหมือนคนที่เราต้องการ เราต้องการตัวอย่าง เราต้องการวีรบุรุษ วีรสตรี สิ่งที่ดีงาม ผมว่าอันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญมากๆ
ผมไม่คิดว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงอย่างราบรื่น ผมเชื่อว่าต้องมีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่มันไม่น่าจะยาวหรือรุนแรงอย่างการปฏิวัติจีน
จะอยู่กับประวัติศาสตร์แบบนี้หรือต้องปรับตัวอย่างไร
สังคมมันอยู่ได้ก็ด้วยคนรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้อยู่กับคนซึ่งหมดสภาพแล้ว ผมว่าบ้านเมืองของเราที่ผ่านมา ในช่วงระยะเวลาที่ผมมองกลับไปประมาณ เอาเป็นว่า 20 ปี หรือ 2 ทศวรรษ ผมว่าเราไปฝากความหวัง ไปตั้งความหวังไว้กับคนซึ่งสูงอายุมากๆ คนซึ่งไม่รู้ว่าโซเชียลมีเดียคืออะไร (หัวเราะ) คนซึ่งอาจเรียก Uber ไม่ได้ Grab คืออะไรก็ไม่รู้
เรากำลังเอาคนซึ่งกำลังจะจากไปแล้วมาเขียนกฎเกณฑ์สำหรับคนรุ่นใหม่ๆ เอาคนอายุ 80-90 มาวางกฎเกณฑ์ให้คนรุ่นอายุ 20-30 อะไรอย่างนี้ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากๆ นะที่เราจะถูกมัดด้วยกฎเกณฑ์ของคน ซึ่งภาษาไทยก็ต้องบอกว่ามัน ‘หมดไฟ’ แล้วครับ
คือที่จริงมันเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ และผมก็เชื่อว่าโลกมันเปลี่ยนไปด้วยคนรุ่นใหม่ที่มันจะเข้ามาอยู่ตลอดเวลา และผมก็ไม่รู้นะ โอเค มันยังมองไม่เห็นอนาคตอันชัดเจนนัก แต่ถามว่าเราไม่มีอนาคตหรือ ผมว่ามันไม่ใช่ ในอดีตที่ผ่านมา ผมว่าเรามองย้อนกลับไปสัก 20 ปี 30 ปี 40 ปี เราเคยเห็นคนรุ่นเดือนตุลา คนเดือนพฤษภาอะไรอย่างนี้ เราก็เคยเห็นมาแล้ว เขา/เธอก็เป็นคำตอบของคนยุคสมัยหนึ่ง แต่ผมเห็นว่าเขา/เธอได้ทำบทบาททางประวัติศาสตร์ของเขาไปแล้ว ตอนนี้มันก็คนรุ่นประมาณไผ่ ดาวดิน, โรม, เนติวิทย์, เพนกวิน อันนี้ผมมองจากระดับสูงใกล้ๆ ตัวหน่อยนะ คือชนชั้นกลางระดับกลางๆ สูงๆ ที่อยู่ในแวดวงของมหาวิทยาลัย แต่ผมอยากเชื่อว่ามันมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ล่างลงไปกว่านั้นรอดูอยู่ คอยที่จะเข้าร่วม
การที่เราจะเข้าใจสังคมไทยได้ เราต้องดูที่ 5M เราต้องดูที่ M Monarchy แรก สถาบันกษัตริย์และเครือข่าย เราต้องดูที่ M Millitary สอง สถาบันทหารและเครือข่าย คือไม่ใช่ดูแค่เฉพาะทหารๆ อย่างเดียว ต้องดูเครือข่ายที่แวดล้อมอยู่ด้วย M ที่สาม ผมว่าต้องดูที่ Money คนที่มีเงินมีทอง นักธุรกิจระดับใหญ่ๆ เขาทำอะไรกัน ไปในทิศทางไหน อีกอันหนึ่งคือ M Middle Class ซึ่ง Middle Class ของผมมันอาจจะมองได้แบบ Upper Middle Class, Middle Middle Class, Lower Middle Class ผมคิดว่าคนที่อยู่ใน upper หรือ middle แสดงตัวออกมาให้เห็นชัดแล้ว และ M แรก M Monarchy และเครือข่ายก็แสดงบทบาทชัดเจนแล้ว เราเห็นมาแล้ว M Millitary ก็เห็นมาแล้วที่เป็นบรรดาข้าราชการพลเรือน, ข้าราชการตำรวจ รวมทั้งข้าราชการสายตุลาการก็แสดงตัวให้เห็นชัดเจนแล้ว ส่วน M Money ก็แสดงตัวให้เห็นแล้วเช่นกัน นะ M Middle Class, Upper Middle Class, Middle Middle Class ก็แสดงตัวแล้วนะ เผลอๆ อาจจะรวมว่า Lower Middle Class ก็แสดงตัวบ้างแล้วใน 20 ปีที่ผ่านมา
M สุดท้าย ผมว่า M Mass คือมวลชน ผมว่าตรงนี้ล่ะที่ผมอยากเชื่อว่ามวลชนของสังคมไทยมันไม่ใช่มวลชนเก่าๆ ที่เราเคยศึกษาในอดีต มันไม่ใช่ชาวนาแฮปปี้ เต้นกำรำเคียว ‘อย่าดูถูกชาวนาเหมือนอย่างตาสี ชีวิตคนนั้นมีราคา’ กรอบที่เรามองชาวไร่ชาวนาแบบสังคมเก่ามันไม่มีแล้ว
ผมพูดบ่อยๆ ว่ามันมีคนซึ่งไม่ใช่ชาวไร่ชาวนาตามปกติ คนเหล่านี้เป็นคนที่อยู่ชนบทและอยู่ในเมือง คนที่ไปๆ มาๆ ระหว่างชนบทกับเมือง และผมคิดว่าเขามีข้อมูลข่าวสารมากพอสมควร ผมว่ามีคนรอจังหวะอยู่ รอดูอยู่ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น มีอะไรพลิกขึ้นมา ผมว่า Lower Middle Class กับ Mass จะโดดเข้าร่วม
เพราะฉะนั้นแปลว่าผมไม่คิดว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างราบรื่น ผมเชื่อว่าต้องมีความรุนแรงเกิดขึ้น แต่มันไม่น่าจะยาวหรือรุนแรง อย่างการปฏิวัติจีน มันไม่น่าจะยาวหรือโหดขนาดที่เกิดขึ้นในกัมพูชา ผมคิดว่าไม่น่าจะไปในระดับนั้น ผมคิดว่าในแง่ของโลก สิ่งที่เรียกว่า ‘โลกาภิวัตน์’ จะมีอิทธิพลสูงต่อความเปลี่ยนแปลงในเมืองไทย ผมไม่อยากเชื่อว่าอเมริกาก็ดี อียู จีน หรือญี่ปุ่นอะไรพวกนั้นต้องการจะยืดเกมของความขัดแย้งและความรุนแรงในเมืองไทย เผลอๆ ผมว่าเขาจะบีบให้จบเร็วด้วยซ้ำไป
ผมคิดว่าอาจเป็นความโชคดีของเมืองไทยก็ได้ เช่น ถ้ามันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราพูดกันเกิดขึ้น มีการเปลี่ยนผ่าน ถึงแม้มันจะรุนแรง มันอาจไม่โหดร้ายทารุณเท่ากับที่เราเคยเห็นมาในประวัติศาสตร์ของจีน หรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์รัสเซีย หรือแม้กระทั่งข้างบ้านเราอย่างกัมพูชา คิดว่าไม่เป็นอย่างนั้นนะครับ
ทำนายอนาคตของปี 2018 หน่อย
นักวิชาการถูกบีบให้ทำนายอนาคต ผมเลยขอตอบว่าผมคิดว่าไม่ช้าก็เร็ว แต่ผมคิดว่ามันเร็วมากกว่าช้านะ อย่างที่บอกไปตอนแรก เร็วมากกว่าช้าเพราะอะไร เพราะองค์ประกอบทั้งหลายมันเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
ผมคิดว่าคนไทยจำนวนมากได้ลิ้มรสและรับรู้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากมายมหาศาลในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
แต่นับจากหลังการผ่านสงครามอย่างโชกโชน การเสียกรุงครั้งที่ 2 เมื่อปี 2310 เราก็ไม่มีสงครามใหญ่ๆ นะ สงครามใหญ่ๆ จริงๆ จะต้องรบกันอย่างวินาศสันตะโร ไม่มี สงครามโลกครั้งที่ 1 เราเข้าสงครามเมื่อสงครามจะเลิกแล้ว สงครามโลกครั้งที่ 2 เราก็เข้าสงครามเพราะว่าทัดทานญี่ปุ่นไม่ได้ เราก็ไปด้วยกันกับญี่ปุ่น แต่ว่าเมื่อสงครามเลิก เราก็สลับข้างมาอยู่ฝ่ายชนะอะไรทำนองนี้
ผมก็เลยไม่คิดว่ากองทัพไทยจะเล่นบทได้ยืดเยื้อยาวนาน มหาอำนาจจะไม่รับ เพราะว่าเศรษฐกิจไทยมันใหญ่มากๆ เงินทอง ผลประโยชน์มันเยอะมาก M Money บรรดานักธุรกิจคือคนที่ผมคิดว่าจะปรับตัวเร็วมาก เขาจะคิดว่าบวกลบคูณหาร สุดท้ายแล้วใครจะชนะ ในเมื่อตอนนี้มันกำลังเปลี่ยนผ่าน บรรดา M Money ที่มาจากทั้งในและนอกประเทศเขาคิดกำลังคิดอะไรอยู่…