24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลดอำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์นี้มีความพยายามทำให้ถูกลืมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ด้วยเหตุผลใดก็ตาม 24 มิถุนายน 2475 เป็นวาระที่ถูกพูดถึงเสมอในทุกปี และยิ่งถูกพูดถึงมากขึ้นอย่างเข้มข้นในช่วงสำคัญของเหตุบ้านการเมือง
คณะราษฎรมีมรดกหลายอย่างที่ทิ้งไว้ ในขณะเดียวกันก็มีข้อบกพร่องจนไม่อาจลงหลักปักฐานระบอบประชาธิปไตย และความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดให้คงอยู่อย่างมั่นคงได้
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงส่วนหนึ่งในมรดกและข้อบกพร่องของคณะราษฎร และตั้งสมมติฐานให้คิดถึงข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า ‘คณะราษฎร’ ชิงสุกก่อนห่ามหรือไม่
คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม?
“อันนี้เป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงหลังรัฐประหาร 2490 แล้วมันถูกใช้ในการเปลี่ยนวิธีคิดของคนมากๆ เลยหลังการทำรัฐประหาร 2500 ในยุค จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้ววาทกรรมนี้มันอยู่มาเป็นเวลา 40-50 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นคนเชื่ออย่างนี้เยอะ มันอยู่ในตำราเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ อยู่ในชั้นเรียนของระดับมัธยม คนที่จะหลุดจากวาทกรรมอันนี้ได้น้อยมากๆ อาจจะต้องเข้าระดับมหาวิทยาลัยแล้ว หรือว่าศึกษาด้วยตัวเอง
ถ้ามองในแง่ของประวัติศาสตร์ คือถ้าเกิดไม่มี 24 มิถุนายน 2475 เมืองไทยก็อาจจะเป็นไปอย่างที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมคาดการณ์ไว้ก็ได้ ก็คือว่าจะเป็นผลงานของรัชกาลที่ 7
หรือมองกลับกัน ถ้าไม่มี 24 มิถุนายน 2475 มันมามี 24 มิถุนายน 2485 หรือ 2495 มันอาจจะรุนแรงกว่ารุ่นที่พยายามประนีประนอมอย่าง พระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ได้ มันอาจจะตกมารุ่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งบอกไม่ประนีประนอมก็ได้ อาจจะรุนแรงพอๆ กับฝรั่งเศสหรือรัสเซียก็ได้ แล้วแต่คุณมอง มันเป็นอย่างนั้นก็ได้ แต่มันเป็นอีกอย่างหนึ่งซึ่งเลวร้ายกว่าก็ได้”
“และถ้าดูจากกระแส ถ้าเราดูจากรูปภาพ ดูจากข่าวในแง่หนึ่ง ในกรุงเทพฯ มันสุกงอมแล้ว คนต้องการความเปลี่ยนแปลง และถ้าเราดูกระแสในต่างจังหวัด ภาคอีสานเป็นภาคที่ตื่นเต้นและต้อนรับ 24 มิถุนายน 2475 มากๆ เลย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญเกิดในอีสานก่อนในกรุงเทพฯ เกิดที่มหาสารคาม ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ก่อนที่จะเกิดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถนนราชดำเนินอีกเป็นเวลาเกือบ 10 ปี
และเอาเข้าจริงถ้าเราเทียบประวัติศาสตร์โลก พ.ศ. 2475 มันแปลว่า ค.ศ. 1932 มันหลังปฏิวัติรัสเซีย เยอรมนี จีน ฝรั่งเศส อเมริกา อังกฤษ แปลว่าเป็นชาติสุดท้าย ถามว่ามันเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป ถ้าคุณยืนอยู่ในกลุ่มฝ่ายความคิดพวกหนึ่ง คุณก็บอกว่ามันเร็วเกินไป ถ้ายืนดูอีกกลุ่มหนึ่ง มันช้า”
24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ลดอำนาจของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์นี้มีความพยายามทำให้ถูกลืมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ด้วยเหตุผลใดก็ตาม 24 มิถุนายน 2475 เป็นวาระที่ถูกพูดถึงเสมอในทุกปี และยิ่งถูกพูดถึงมากขึ้นอย่างเข้มข้นในช่วงสำคัญของเหตุบ้านการเมือง
ชาญวิทย์บอกว่า จากปี 2475 ถึง 2563 ในช่วงปีนี้ประเด็นที่ไม่เคยถูกมองว่าเป็นงานของคณะราษฎรมันโผล่มาในงานปีนี้เยอะมาก
ว่าด้วยมรดก (บางส่วน) ของคณะราษฎร
“กลับไปดูที่นโยบายของคณะราษฎรคืออะไร สำคัญที่สุดเลยคือหลัก 6 ประการ เอกราชสมบูรณ์ ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค ผู้หญิง-ผู้ชายเท่ากัน กฎหมายผัวเดียวเมียเดียวออก แต่ก่อนมันผัวเดียวหลายเมีย มันเปลี่ยนหมดเลย
“เรื่องการศึกษา ข้อ 6 ของคณะราษฎร คือเรื่องการศึกษา เรามักจะบอกว่าตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ความจริงมันตั้งโรงเรียนเทศบาลจมเลย
“คือคณะราษฎรมันนำมาซึ่งการที่ พ.ร.บ. การศึกษาภาคบังคับ กระจายทั่วประเทศ มันเป็นผลงานคณะราษฎร มันมีโรงเรียนเทศบาล มันมีโรงเรียนโบราณๆ ที่ถูกยกฐานะแล้วมันจะต่อท้ายด้วยคำว่า โรงเรียนบางพลีราษฎร์บำรุง โรงเรียนรัตนราษฎร์บำรุง ที่บ้านโป่ง มันต้องเอาขึ้นมาให้การศึกษามันขยาย แล้วประเด็นสำคัญที่กำลังเถียงก็คือว่า การเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น มันก็เป็นการผลักดันของคณะราษฎร ให้มี พ.ร.บ. เกี่ยวกับเรื่องการตั้งเทศบาล เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล”
“แต่ก่อนการแพทย์สมัยใหม่อยู่แต่ในกรุงเทพฯ แต่คณะราษฎรผลักให้ออกไปข้างนอก โรงพยาบาลอานันทมหิดลไปอยู่ลพบุรี โรงพยาบาลมันอยู่แต่ในกรุงเทพฯ แต่คณะราษฎรมันผลักเรื่องการสาธารณสุขให้มีสุขศาลา
“การสร้างถนนนอกกรุงเทพฯ ถนนพหลโยธินถึงสร้างขึ้นมา กรุงเทพฯ ไปถึงแม่สาย ถนนเพชรเกษมถึงถูกสร้างจากกรุงเทพฯ ให้ไปถึงสุไหงโก-ลก เพื่อให้ส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคติดต่อกันให้ได้ ถนนพหลโยธินถ้าคุณนั่งรถออกจากกรุงเทพฯ ไป คุณก็จะไปอยุธยา สระบุรี ลพบุรี ก่อนขึ้นไปนครสวรรค์และไปภาคเหนือ มันเป็นถนนที่วิ่งยอกย้อนมากเลย จนกระทั่งมาตัดเส้นทางถนนสายเอเชีย จะตัดตรงไปเลยไม่ผ่านเมืองสำคัญ ต้องการให้เมืองหลวงส่วนกลางกับส่วนภูมิภาคติดต่อกัน มันยังไม่ถึงส่วนท้องถิ่น นั่นอีกระดับหนึ่ง แต่จังหวัดสำคัญๆ และให้ไปประชิดชายแดนเป็นตัวกำหนดว่าเขตแดนของประเทศไทยคืออะไร
“พวกนี้เป็นงานของคณะราษฎรหมดเลย แต่มันถูกลืม” ชาญวิทย์กล่าว
ทำไมมันถึงถูกลืม เราถาม
“มันถูกกลบในยุคสายลมแสงแดด ในยุคที่เรียกว่า ถ้าเป็นยุคฝรั่งก็ยุค 60 มันถูกกลบ มันไปฟื้นฟูสิ่งที่เรียกว่าพระราชอำนาจนำ” ชาญวิทย์ตอบ
อะไรคือข้อบกพร่องของคณะราษฎร
“ปีแรกก็แตกกันแล้ว ระหว่างฝ่ายนายทหารรุ่นซีเนียร์ คนที่แตกออกไปคนแรกเลยคือ พระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นคนวางแผน พระยาทรงสุรเดชก็ไปร่วมมือกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ก็เป็นความผิดพลาดของฝ่ายคณะราษฎรที่ไปเลือกพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เพราะหวังว่าท่านเป็นคนประนีประนอม แต่ก็จบลงเพราะท่านเป็นคนอนุรักษ์นิยมมากๆ มันก็จบลงด้วยการมีรัฐประหารในปีถัดมาคือ 2476 พระยามโนปกรณ์ก็ถูกส่งไปลี้ภัย สิ้นชีวิตในเมืองปีนัง พระยาทรงสุรเดชก็ถูกส่งไปลี้ภัยในอินโดจีนจนสิ้นชีวิต ถ้ามองความผิดพลาดของคณะราษฎรคือแตกกันเอง นี่แตกยกหนึ่ง
“แตกยกสองคือระหว่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ ปรีดี พนมยงค์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อันนี้คือความผิดพลาด คือหมายความว่าอุดมการณ์ไม่แน่นพอ อุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่แน่นพอ แต่เวลาเราพูดเรามักโทษประชาชน เพราะเวลาโทษประชาชนมันง่ายมาก ใครก็ไม่รู้”
ทำไมต้องรำลึก-รื้อฟื้น 24 มิถุนายน 2475
“มันมีคนรุ่นใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นมาแล้วดันทะลึ่งสนใจ แล้วไปบอกให้มันไม่สนใจมันยิ่งสนใจใหญ่เลย การที่หมุด 2475 หาย การที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏหาย ทำให้คนกลายเป็นตั้งคำถามว่ามันคืออะไร เมื่อตั้งคำถามก็ต้องหาคำตอบ
“ผมอยากเชื่อว่าคนแต่ละรุ่นหาประสบการณ์ของเขาเอง แปลว่าเขาอยากรู้อะไรบางอย่าง ซึ่งพ่อแม่ของเขาอาจจะไม่รู้ก็ได้ เขาหาของเขา มันเป็นตัวของเขา ผมว่าคนอย่างนี้มีเยอะอย่างไม่น่าเชื่อ”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า